

อำนาจฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 157 อำนาจฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ให้อำนาจคณะกรรมการ ที่จะวินิจฉัยชี้ขาด ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้กล่าวหาโดยตรงแต่ การที่คณะกรรมการ สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล ให้ยกข้อกล่าวหา จึงไม่เป็นการกระทำต่อผู้กล่าวหาโดยตรงและไม่ทำให้ผู้กล่าวหาได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7030/2551 พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เป็นกฎหมายมุ่งคุ้มครองและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองเป็นผู้กล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมโดยนำเรื่องยื่นต่อจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 32 แต่ตามมาตรา 39 ก็ให้อำนาจคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่า ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองโดยตรงแต่ประการใด การที่จำเลยที่ 28 ถึงที่ 33 สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 27 พิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติว่า คดีไม่มีมูลให้ยกข้อกล่าวหา จึงไม่เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรงและไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามสิบสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 157 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 32, 33, 34, 35 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ได้มีคำอธิบายความหมายของผู้เสียหายไว้ว่า หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6 ซึ่งข้อกล่าวหาตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการเอาโทษแก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน โดยปกติเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย เอกชนคนหนึ่งคนใดย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าวข้อความในตอนแรก คำว่าเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น หมายความรวมถึง เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือเอกชนผู้หนึ่งผู้ใดด้วย ดังนั้น หากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยมิชอบ เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรง และเป็นการทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นผู้เสียหายได้ โดยที่พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เป็นกฎหมายมุ่งคุ้มครองและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ให้สิทธิโจทก์ทั้งสองเป็นผู้กล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมโดยนำเรื่องยื่นต่อจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 32 แต่ตามมาตรา 39 ก็ให้อำนาจคณะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่จะวินิจฉัยชี้ขาดเพียงว่า ยกข้อกล่าวหา ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองโดยตรงแต่ประการใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 28 ถึงที่ 33 สรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า คดีไม่มีมูล และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 27 พิจารณารายงานและความเห็นดังกล่าวแล้วมีมติว่า คดีไม่มีมูลให้ยกข้อกล่าวหา จึงไม่เป็นการกระทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยตรงและไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามสิบสามในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2561 การพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคำฟ้องโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องและคำเบิกความของโจทก์มาพิจารณาประกอบกับคำฟ้องด้วย การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 นั้น ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจ้าพนักงานผู้กระทำมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งยี่สิบสี่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสี่ย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำการตามคำฟ้องโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ อย่างไร คำฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 172, 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) และ (5) ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ และเอกสารท้ายฟ้อง พร้อมด้วยคำเบิกความของโจทก์ ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยแต่ละคนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายใด มีอำนาจหน้าที่อย่างใด และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องและคำเบิกความของโจทก์มาพิจารณาประกอบกับคำฟ้องด้วยดังที่โจทก์อ้างในฎีกา เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แม้พอจับใจความได้ว่า เป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในฐานะคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีโจทก์ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการดังกล่าว เพราะกระบวนการสอบข้อเท็จจริงขัดต่อระเบียบของหน่วยงาน และข้อสรุปของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีเหตุการณ์ที่โจทก์ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเกิดขึ้น ขัดแย้งกับรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และจำเลยที่ 3 ในฐานะรองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ดูแลควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานในพื้นที่ภาค 2 และเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบเรื่องการสอบข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบจากโจทก์แล้ว แต่ไม่สั่งการให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนจำเลยที่ 8 ถึงที่ 24 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการส่วนที่เกี่ยวกับการสอบข้อเท็จจริงกรณีพนักงานและลูกจ้างซึ่งอยู่เวรแก้กระแสไฟฟ้าขัดข้องดื่มสุราภายในสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอุดรธานี โดยจำเลยที่ 8 ถึงที่ 12 ลงลายมือชื่อร่วมกันเสนอรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 13 ในฐานะผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอุดรธานี จำเลยที่ 13 สั่งการให้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองผลการสอบสวนที่มีจำเลยที่ 14 ถึงที่ 24 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 14 ถึงที่ 24 มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทั้งที่รายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มีข้อสรุปว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ขัดแย้งกับที่ปรากฏในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 8 มีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี โดยกล่าวด้วยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดอุดรธานีได้ตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว ในขณะตรวจค้นไม่ได้มีการดื่มสุราส่งเสียงดัง จึงขอทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชา และจำเลยที่ 7 มีหนังสือตอบไปยังจำเลยที่ 8 ในทำนองว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ขัดแย้งกับรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกด้วย ก็ตาม แต่การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 นั้น ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเจ้าพนักงานผู้กระทำมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย โดยเฉพาะคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยทั้งยี่สิบสี่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะเหตุจากการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยพยานหลักฐานที่ได้มาจากการสอบข้อเท็จจริง หรือการใช้ดุลพินิจดำเนินการหรือไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน ซึ่งโจทก์เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง หากไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งยี่สิบสี่ตามคำฟ้องเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสี่ตามคำฟ้องของโจทก์ย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ในข้อนี้ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำการตามคำฟ้องโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ อย่างไร คำฟ้องของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์ในข้อนี้ไม่ครบองค์ประกอบความผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
|