

อำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์-ฎีกา อำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์-ฎีกา เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท มีอายุความ 1 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้อง นับแต่วันกระทำความผิดถึงวันฟ้องเกินกว่าหนึ่งปี จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป แม้ความผิดฐานดังกล่าว จะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาได้เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตาม ป.อ. มาตรา 393 ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 แม้ความผิดฐานดังกล่าวจะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มรตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง และจำเลยที่ 2 ที่ 3 อีกฝ่ายหนึ่ง ต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน โดยจำเลยที่ 1 ฉุดกระชากมือและแขนของจำเลยที่ 3 จนเสียหลัก แล้วใช้มือตบและข่วนที่บริเวณใบหน้าของจำเลยที่ 3 หลายครั้ง และใช้ปากกัดที่นิ้วกลางของมือข้างซ้ายของจำเลยที่ 3 ทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดมีอาการบาดเจ็บที่ใบหน้ามือและตามร่างกายหลายแห่ง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บอาการทุกขเวทนา และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้มือชกและข่วนที่บริเวณใบหน้าของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง ฉุดกระชากร่างกายของจำเลยที่ 1 บีบและบิดข้อมือของจำเลยที่ 1 และใช้ปากกัดที่นิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายของจำเลยที่ 1 ทำให้ฟันหน้าของจำเลยที่ 1 หัก ทะลุโพรงประสาทและมีอาการบาดเจ็บที่ใบหน้า ข้อมือนิ้วมือ และตามร่างกายหลายแห่ง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน จำเลยที่ 1 ดูหมิ่นจำเลยที่ 3 ซึ่งหน้าโดยด่าจำเลยที่ 3 ว่า "อีเหี้ย อีสัตว์" และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันดูหมิ่นจำเลยที่ 1 ซึ่งหน้าโดยร่วมกันด่าจำเลยที่ 1 ว่า "อีดอก กะหรี่พัฒพงษ์ ไอ้สัตว์" ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 295, 297, 393 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 393 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 30,000 บาท ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ปรับคนละ 1,000 บาท รวมจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นสามีภริยากัน และมีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลยที่ 1 ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้พบกับจำเลยที่ 1 บนถนนในซอยบริเวณหน้าบ้าน แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 ได้ด่าทอดูหมิ่นจำเลยที่ 1 ด้วยถ้อยคำหยาบคายแล้วทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 จนจำเลยที่ 1 ได้รับบาดเจ็บตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลกับใบความเห็นแพทย์เอกสารหมาย จ.3, จ.9 และ จ.11 ถึง จ.16 คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าและฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายอนุชิต เป็นพยานเบิกความว่าขณะที่พยานยืนรอจำเลยที่ 3 อยู่ที่หน้าบ้าน จำเลยที่ 3 เดินออกจากบ้านพบกองขยะวางอยู่หน้าบ้านจึงถามพยานว่าเป็นของใคร พยานบอกว่าเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 บอกว่าหากมีเวลาว่างก็นำกองวัสดุดังกล่าวใส่ถังขยะ ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถไปจอดท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 3 แล้วลงจากรถเดินอ้อมไปทางท้ายรถยนต์ขณะเดียวกับจำเลยที่ 3 เดินสวนกับจำเลยที่ 1 เพื่อจะขึ้นรถ จำเลยที่ 3 พูดกับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับกองวัสดุ มีการด่าว่าและโต้เถียงกัน จากนั้นจำเลยที่ 3 หันหลังเพื่อจะขึ้นรถ จำเลยที่ 1 ใช้มือซ้ายกระชากตัวจำเลยที่ 3 หันกลับมาแล้วใช้มือขวาตบที่แก้มซ้ายของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ใช้มือปัดป้อง จำเลยที่ 2 วิ่งออกจากบ้านกระโดดเข้าไปแทรกระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 แล้วใช้มือโอบเอวจำเลยที่ 3 หันหลังให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ใช้มือทุบหลังจำเลยที่ 2 แล้ววิ่งไปขึ้นรถหลบหนีไป พยานเห็นจำเลยที่ 3 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลที่แก้มซ้ายและนิ้งกลางซ้ายมีรอยลักษณะถูกกัด เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันได้ความจากคำเบิกความของนายอนุชิตว่า รถยนต์ของจำเลยที่ 3 จอดตรงข้ามบ้านจำเลยที่ 3 ห่างประมาณ 5 เมตร ขณะที่นายอนุชิตยืนอยู่ที่ประตูบ้านได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 และที่ 3 โต้เถียงกัน จึงหันไปดู ดังนั้น ขณะเกิดเหตุนายอนุชิตจึงอยู่ห่างจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประมาณ 5 เมตร นายอนุชิตย่อมเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนแม้นายอนุชิตเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 แต่นายอนุชิตก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ทั้งตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารหมาย จ.4 ระบุว่าแพทย์รับตัวจำเลยที่ 3 ไว้เมื่อเวลา 12.37 นาฬิกา หลังเกิดเหตุประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจำเลยที่ 3 มีบาดแผลถลอกเป็นรอยขีดยาวที่แก้มซ้าย และบาดแผลฉีกที่นิ้วกลางมือซ้าย สนับสนุนให้คำเบิกความของนายอนุชิตมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เชื่อได้ว่า นายอนุชิตไม่ได้เบิกความช่วยเหลือจำเลยที่ 3 หรือเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 คำเบิกความของนายอนุชิตจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำเบิกความของนายวิชาญ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ก่อเหตุและทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า นายวิชาญเบิกความว่า ขณะพยานทาสีประตูบ้านของจำเลยที่ 1 อยู่นั้นเห็นจำเลยที่ 3 กับชายอีกคนหนึ่งเดินเข้าไปหาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ด่าว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พูดว่ารอก่อนไปทำธุระเดี๋ยวมา แล้วเดินไปที่รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจอดอยู่หน้าบ้านจำเลยที่ 3 กับชายอีกคนหนึ่งได้เดินตามไป พยานหันกลับไปทาสีประตูต่อจนกระทั่งได้ยินเสียงจำเลยที่ 1 ร้อง จึงหันไปดู เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 กำลังฉุดกระชากกันอยู่ จากนั้นไม่ถึงหนึ่งนาทีจำเลยที่ 1 ก็สะบัดตัวออกและขึ้นรถขับออกไป ดังนี้ การที่ขณะเกิดเหตุนายวิชาญอยู่ห่างจากจำเลยที่ 3 และชายคนหนึ่งประมาณ 5 ถึง 6 เมตร แต่นายวิชาญกลับเห็นเพียงการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยไม่เห็นการกระทำของชายที่อยู่กับจำเลยที่ 3 ย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยที่นายวิชาญซึ่งพบเห็นการทะเลาะโต้เถียงกันแต่กลับไม่สนใจดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป อีกทั้งตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.17 นายวิชาญก็ให้การว่า ขณะเกิดเหตุพยานสังเกตเห็นไม่ถนัดเนื่องจากมีรถยนต์ของจำเลยที่ 3 บังอยู่ แม้นายวิชาญจะเบิกความว่าขณะเกิดเหตุมีชายคนหนึ่งอยู่กับจำเลยที่ 3 ด้วย แต่นายวิชาญก็มิได้เบิกความยืนยันว่าเป็นจำเลยที่ 2 อีกทั้งไม่ปรากฏจากคำเบิกความของนายวิชาญว่าชายคนดังกล่าวทำร้ายจำเลยที่ 1 อย่างไร กรณีจึงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด่าว่าโต้เถียงกันแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฉุดกระชากกันเท่านั้น เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายวิชาญดังกล่าวประกอบคำเบิกความของนายอนุชิตฟังได้ว่า เหตุวิวาทเกิดเนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด่าว่าโต้เถียงกันเรื่องต้นไม้และขยะ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน มิใช่ว่าเหตุเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 แต่ฝ่ายเดียวไม่ ลำพังที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้หญิงและอายุมากกว่า ก็ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ร่วมก่อเหตุไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า บาดแผลที่แก้มซ้ายและที่นิ้วกลางของจำเลยที่ 3 มิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 ข่วนและกัด บาดแผลตามภาพถ่ายมีลักษณะเป็นการตกแต่งบาดแผลขึ้นเองนั้น เห็นว่า โจทก์มีแพทย์หญิงพิไลวรรณ แพทย์ผู้ตรวจชันสูตรบาดแผลของจำเลยที่ 3 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 มารับการตรวจรักษาโดยมีบาดแผลที่นิ้วกลางมือซ้ายและมีบาดแผลเป็นรอยขีดที่แก้มซ้ายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 และเบิกความตอบคำถามค้านยืนยันว่า บาดแผนที่แก้มและนิ้วกลางของจำเลยที่ 3 ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.2 ซึ่งเหมือนกับภาพถ่ายหมาย จ.18 อีกทั้งโจทก์ยังมีร้อยตำรวจโทชัยยา พนักงานสอบสวน เบิกความตอบคำถามค้านว่าจำเลยที่ 3 ได้แสดงบาดแผลที่นิ้วมือให้พยานดูด้วย กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 จะตกแต่งบาดแผลตามภาพถ่ายขึ้นเอง ส่วนปัญหาว่าบาดแผลดังกล่าวเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า นายอนุชิตซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 ใช้มือขวาตบที่แก้มซ้ายของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นเหตุการณ์ได้เข้ามาแทรกกลางระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 และใช้มือโอบเอวของจำเลยที่ 3 หันหลังให้จำเลยที่ 1 แล้วเบิกความตอบคำถามค้านว่า ขณะนั้นมือของจำเลยที่ 3 พาดอยู่บนไหล่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ใช้ปากกัดนิ้วของจำเลยที่ 3 และพยานได้ยินเสียงจำเลยที่ 3 ร้อง แม้แพทย์หญิงพิไลวรรณเบิกความตอบคำถามค้านว่า ลักษณะบาดแผลที่นิ้วกลางของจำเลยที่ 3 คล้ายถูกของมีคมบาดก็ตาม แต่พยานดังกล่าว เบิกความว่า จากการสอบถามจำเลยที่ 3 ทราบว่าบาดแผลเกิดจากการทำร้ายกัน และมิได้เบิกความอธิบายว่าบาดแผลดังกล่าวมีลักษณะต่างจากบาดแผลที่เกิดจากการถูกกัดอย่างไร แม้ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4 จะระบุลักษณะบาดแผลแตกต่างจากใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 บ้าง ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด ประกอบกับพยานเอกสารดังกล่าวก็ล้วนระบุเป็นอย่างเดียวกันว่าจำเลยที่ 3 มีบาดแผลที่นิ้วกลางมือซ้าย จึงมิได้เป็นพิรุธถึงกับทำให้ฟังว่าไม่ใช่บาดแผลที่เกิดจากการถูกกัดดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ดังนี้พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 นับแต่วันกระทำความผิดถึงวันฟ้องเกินกว่าหนึ่งปี คดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 แม้ความผิดฐานดังกล่าว จะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาได้เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225" พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มาตรา 185 ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำ ของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุ ตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่าง คดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้ เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด แต่เมื่อเห็นสมควร ศาลจะปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้ มาตรา 195 ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้ แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่า กันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม มาตรา 213 ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลงโทษหรือ ลดโทษให้จำเลย แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มี อำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์ เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่มิได้ฎีกาได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13143/2555 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา โจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 394 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาได้ความว่าเมทแอมเฟตามีนของกลาง 1 เม็ด พบอยู่ในกล่องสีน้ำตาลพร้อมอุปกรณ์การเสพวางอยู่ใต้เบาะที่นั่งคนขับรถกระบะ และเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1 เม็ด พบอยู่ในซองบุหรี่ในกระเป๋าเสื้อของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีลักษณะการเก็บและครอบครองแยกต่างหากจากเมทแอมเฟตามีนของกลาง 392 เม็ด ซึ่งพบอยู่ในถุงพลาสติกสีน้ำเงินใส่อยู่ในกระเป๋าผ้าที่วางอยู่ท้ายกระบะรถ ซึ่งเฉลี่ยคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3.4205 กรัม จึงเป็นคนละจำนวนกัน อันเป็นความผิดฐานมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองจึงไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งสองเม็ดดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 มาตรา 192 ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดั่งกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ มาตรา 225 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง
|