

การบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด การบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาทำร้ายร่างกายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งกระทำการตามหน้าที่และข้อหาตาม พ.ร.บ. เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 296 แล้ว หาจำต้องบรรยายฟ้องว่า ผู้กระทำความผิดได้รู้หรือไม่ว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เนื่องจากไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐาน หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคสาม เท่านั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2936/2564 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้ากับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 296 แล้ว หาจำต้องบรรยายฟ้องว่า ผู้กระทำความผิดได้รู้หรือไม่ว่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำตามหน้าที่ เนื่องจากไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐานดังกล่าวหากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคสาม เท่านั้นปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 209, 296 พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 และริบของกลาง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 7 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันให้ นางคำเพิ่ม และนางสาวอารีลักษณ์ กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 9 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันให้นางสาวสบา กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 7 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 7 กระทงละ 4 เดือน และปรับกระทงละ 10,000 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 8 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 9 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยที่ 7 และที่ 9 ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ กับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 8 เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ 7 และที่ 9 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 7 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท คงจำคุกจำเลยที่ 9 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 9 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเอกสารเก็บเงินกู้และนามบัตรของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.24 แผ่นที่ 3 คำขอและข้อหาอื่นในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ถึงที่ 9 นอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ให้คืนรถยนต์ของกลาง 4 คัน และของกลางอื่น ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.24 แผ่นที่ 1, 2, 4 และ 5 แก่เจ้าของ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันทำร้ายร่างกายร้อยตำรวจเอกณัฐดนัย ผู้เสียหายที่ 1 และสิบตำรวจโทนิรุตต์ ผู้เสียหายที่ 2 ขณะผู้เสียหายทั้งสองกำลังซุ่มดู ติดตามและสืบสวนหาพยานหลักฐานการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ปล่อยเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ภายในร้านอาหาร บ. โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ ส่วนความผิดฐานอื่นตามฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 9 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการแรกว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 โดยไม่ได้บรรยายถ้อยคำว่าผู้กระทำความผิดได้รู้หรือไม่ว่าผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ ซึ่งเป็นเจตนาพิเศษอันเป็นองค์ประกอบความผิดลงในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมยกขึ้นอ้างได้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 เป็นลักษณะฉกรรจ์ของมาตรา 295 องค์ประกอบความผิดคือ การกระทำจะต้องเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และต้องเข้าลักษณะฉกรรจ์ตามมาตรา 289 (2) เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีบัญญัติเกี่ยวกับเจตนาพิเศษไว้แต่อย่างใด ส่วนถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างในฎีกานั้น ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐานดังกล่าว หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่อาจทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคสาม เท่านั้น โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเก้ากับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ขณะผู้เสียหายทั้งสองกำลังซุ่มดู ติดตามและสืบสวนหาพยานหลักฐานการกระทำความผิดของจำเลยทั้งเก้ากับพวกซึ่งร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นเพื่อจับกุม อันเป็นการกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ โดยร่วมกันชกต่อย เตะ และใช้ขวดเครื่องดื่มหลายขวดเป็นอาวุธตีขว้างปาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองหลายครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประการสุดท้ายว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับของกลางรวมกันมา โดยไม่แยกของกลางไปแต่ละกระทงตามฟ้องข้อ 1 ก. ถึง ข้อ 1 จ. นั้น ถือว่าโจทก์ไม่บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 2. ระบุเกี่ยวกับของกลางในคดีนี้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดและเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1 ก. ถึง 1 ง. เท่านั้น โดยศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดตามฟ้องข้อดังกล่าวแล้ว คงพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ ตามฟ้องข้อ 1 จ. เพียงกระทงเดียวเท่านั้น การวินิจฉัยปัญหาในเรื่องฟ้องเคลือบคลุมดังกล่าวจึงไม่ทำให้ผลของคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจมีผลถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกาด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 3 ย่อมยกขึ้นอ้างได้ แม้จะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งเก้าได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งเก้าเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ส่วนของกลางรายการใดจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามฟ้องข้อใดหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่ต้องนำสืบต่อไปในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน พิพากษายืน |