โจทก์ขอให้ลงโทษตามกฎหมายเดิมซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว โจทก์ขอให้ลงโทษตามกฎหมายเดิมซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินความผิดจำเลยอย่างไร เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยโดยอ้างบทมาตราซึ่งถูกยกเลิกและแก้ไขใหม่แล้ว แต่มิได้อ้างมาตราที่แก้ไขใหม่ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10765/2551 โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยโดยอ้างบทมาตราซึ่งถูกยกเลิกและแก้ไขใหม่แล้ว แต่มิได้อ้างมาตราที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ยังคงถือเป็นความผิด ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วตามคำขอท้ายฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบขึ้นมาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 มาตรา 192 ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดั่งกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ มาตรา 195 ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 6, 8, 15, 19, 61, 73, 74 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 6, 8, 15, 19, 61, 73, 74 ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท คำรับสารภาพของจำเลย ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่ลดโทษให้ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โจทก์อุทธรณ์ โดยรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 รักษาการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกสถานเดียว ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังมีกำหนด 1 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...ตามคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61, 73 แต่ขณะจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2550 มีพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ออก ออกใช้บังคับโดยมาตรา 25 และมาตรา 29 ให้ยกเลิกความในมาตรา 61 และมาตรา 73 เดิม และให้ใช้ความใหม่แทน โดยมาตรา 61 ทั้งพระราชบัญญัติทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ยังบัญญัติเป็นบทความผิดห้ามการใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าผู้อำนวยการทางหลวงได้ประกาศกำหนดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 (เดิม) ได้แก้ไขและมีบทบัญญัติเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่มาตรา 73/2 กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 ของกฎหมายเดิม ที่ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่โจทก์ยังคงขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่อ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วตามคำขอท้ายฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นมาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และ มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 73/2 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน แต่ให้วางโทษปรับจำเลย 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษปรับจำเลย 3,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8
|