

พนักงานสอบสวนมิได้ขอฝากขังต่อศาลภายในกำหนด พนักงานสอบสวนมิได้ขอฝากขังต่อศาลภายในกำหนด เมื่อพ้นอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป หาใช่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในอายุความ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4294/2550 พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 517/2546 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปตามแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลาง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 8 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน ริบของกลาง ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โจทก์ และจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และตรวจยึด 3, 4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน 190 เม็ด น้ำหนัก 68.104 กรัม ของกลางบรรจุในถุงพลาสติกแบบกดปิดอยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านหน้าข้างขวาจำเลยที่ 1 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและต้องริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางหรือไม่...ฯลฯ...ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 มี 3, 4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางใช้ในการติดต่อเพื่อจำหน่าย 3, 4-เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน จึงเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ซึ่งต้องริบตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 1 ถูกจับวันที่ 20 สิงหาคม 2544 มิใช่วันที่ 21 โจทก์ต้องฝากขังและฟ้องจำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องเกินกำหนดระยะฝากขังโดยมิได้ขออนุญาตจากอัยการสูงสุด จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า กรณีที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นเรื่องการควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องขออำนาจศาลฝากขังจำเลยที่ 1 หากพนักงานสอบสวนมิได้ขอฝากขังต่อศาลภายในกำหนด เมื่อพ้นอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป หาใช่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในอายุความ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มาตรา 87 ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใคร และที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น -ในกรณีที่ผู้ถูกจับ ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดีให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตาม มาตรา 83 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้ ในกรณีความผิดอาญาที่ ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน ในกรณีความผิด อาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน ในกรณีความผิด อาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน ในกรณีตามวรรคหกเมื่อศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว หากพนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะสั่งขังต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ศาล ในการไต่สวนตามวรรคสามและวรรคเจ็ด ผู้ต้องหามีสิทธิแต่งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยาน ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความเนื่องจากยังไม่ได้มีการปฏิบัติตาม มาตรา 134/1 และผู้ต้องหาร้องขอ ให้ศาลตั้งทนายความให้ โดยทนายความนั้นมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 134/1วรรคสาม โดยอนุโลม ถ้าพนักงานสอบสวน ต้องไปทำการสอบสวนในท้องที่อื่นนอกเขตของศาลซึ่งได้สั่งขังผู้ต้องหาไว้ พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอให้โอนการขังไปยังศาล ในท้องที่ที่จะต้องไปทำการสอบสวนนั้นก็ได้ เมื่อศาลที่สั่งขังไว้เห็นเป็นการสมควรก็ให้สั่งโอนไป
|