

ผู้เช่าซื้อมีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีฐานยักยอกได้ ผู้เช่าซื้อมีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีฐานยักยอกได้ การกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นการกระทำความผิดต่อทรัพย์สินของผู้เสียหาย การที่ผู้เช่าซื้อได้ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ แม้ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วนและกรรมสิทธิในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองและมีอำนาจใช้สอยรถยนต์ สิทธิครอบครองดังกล่าวนับว่าเป็นทรัพย์สินที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์ในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อในกรณีต้องคืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 386/2551 แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา 96 มาตรา 96 ภายใต้บังคับ มาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความ ได้ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความ ผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83 จำคุกคนละ 1 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนอุปกรณ์และอะไหล่ 10 รายการ ตามฟ้องหรือใช้ราคาเป็นเงิน 309,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2538 นางบุญธรรม เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 - 3109 สิงห์บุรี จากนางสาววิจันทร์พร ในราคา 1,980,000 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 36 งวด ตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ. 2 ระหว่างชำระค่าเช่าซื้อเมื่อเดือนตุลาคม 2541 จำเลยทั้งสองได้รับมอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากนางบุญธรรม หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน นางบุญธรรมติดตามรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคืนมา ปรากฏว่าชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวหายไปรวม 10 รายการ โดยนางบุญธรรมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่นางสาววิจันทร์พรมอบอำนาจให้นางบุญธรรมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 เห็นว่า แม้นางบุญธรรมผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของนางสาววิจันทร์พรผู้ให้เช่าซื้อ แต่นางบุญธรรมก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่นางสาววิจันทร์พรผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากนางบุญธรรม นางบุญธรรมย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับนางสาววิจันทร์พรเจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อนางบุญธรรมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน. รถยนต์กระบะเป็นของผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าซื้อจากผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะจึงยังเป็นของผู้เสียหายที่ 2 จนกว่าจะมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ในการตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะให้แก่จำเลยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ร่วมจะโอนทะเบียนให้จำเลยต่อเมื่อจำเลยชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งรวมถึงข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่โจทก์ร่วมยังคงค้างชำระแก่ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ข้อตกลงในการซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่ตกเป็นของจำเลย ที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว ถือเป็นเพียงการครอบครองรถยนต์กระบะไว้แทนโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะที่แท้จริง ภายหลังจากทำข้อตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะดังกล่าวจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ชำระราคารถยนต์กระบะให้ครบถ้วน โจทก์ร่วมแจ้งให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะให้โจทก์ร่วม แต่จำเลยเพิกเฉยและอ้างว่ารถยนต์กระบะสูญหาย การที่จำเลยยังคงครอบครองรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมต่อมาโดยไม่ส่งมอบคืน น่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังปกปิดและซุกซ่อนรถยนต์กระบะโดยมีเจตนาที่จะไม่ส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอก
|