การรับช่วงสิทธิคืออะไร? สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิม การรับช่วงสิทธิคืออะไร? สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิม การรับช่วงสิทธิ คือ การที่สิทธิเรียกร้องเปลี่ยนมือจากเจ้าหนี้คนเดิมไปยังเจ้าหนี้คนใหม่ โดยผลของกฎหมาย จากการชำระหนี้ของผู้มีส่วนได้เสีย และต้องหมายความถึงส่วนได้เสียตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่บัญญัติให้รับช่วงสิทธิเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนได้เสียทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการที่ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรือเป็นการที่บุคคลภายนอกได้ชำระหนี้ด้วยทรัพย์ของตนแทนลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ทำให้เจ้าหนี้คนใหม่เข้ามามีสิทธิเรียกร้องแทนเจ้าหนี้คนเดิม ผลของการรับช่วงสิทธิ ผู้รับช่วงสิทธิสามารถใช้สิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้ในนามของตนเอง
เมื่อจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ การที่พนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็ดที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชีโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็คและจำเลยได้เบิกถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลย ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้ คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์เก็บบรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯ แล้ว และประสงค์จะเรียกคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้บังคับแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อกรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว เมื่อจำเลยได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย ซึ่งมีจำนวนเงินตามเช็ค 4 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งหมด 219,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 227 วรรคหนึ่งด้วย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 473,136.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 303,866.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2533 และวันที่ 31 สิงหาคม 2533 จำเลยนำเช็คของโจทก์ 4 ฉบับ ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ จำกัด เป็นผู้สั่งจ่าย จำนวนเงินรวมทั้งหมด 219,600 บาท ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่มีกับโจทก์ โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯ นำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ต่อมาสหกรณ์ฯยื่นฟ้องโจทก์ให้ชดใช้เงินจำนวนตามเช็ค คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวนตามเช็คคืนให้แก่สหกรณ์ฯ โจทก์ชดใช้เงินจำนวนตามเช็คคืนให้แก่สหกรณ์ฯแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯเรียกเงินคืนจากจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาฝากเงินและเบิกถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ฯเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 บัญญัติว่า “ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น......” ดังนั้นเงินฝากของสหกรณ์ฯที่ฝากไว้กับโจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่ที่มีการฝากเงิน สหกรณ์ฯมีสิทธิที่จะเบิกถอนเงินได้ โจทก์เพียงแต่มีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น การที่พนักงานของโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดและนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็คที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชี จึงเป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เองเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ไม่ใช่เป็นการเอาเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสหกรณ์ฯเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย แม้บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯจะมียอดแสดงการหักเงินจากบัญชี แต่บัญชีเงินฝากของสหกรณ์ฯเป็นเพียงหลักฐานและการตรวจสอบการรับฝากและถอนเงินระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ฯ เท่านั้น เมื่อสหกรณ์ฯไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินที่จำเลยเบิกถอนไปจากโจทก์สหกรณ์ฯจึงย่อมไม่มีสิทธิติดตามและเอาเงินคืนจากจำเลยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 การที่โจทก์ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯเป็นความรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับสหกรณ์ฯ ไม่มีสิทธิใดที่โจทก์จะรับช่วงจากสหกรณ์ฯ ในการฟ้องร้องเรียกให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามบทบัญญัติว่าด้วยรับช่วงสิทธิตามมาตรา 226, 227 และ 229 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงได้ความจากทางพิจารณาของศาลชั้นต้นและคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยก็เป็นลูกค้าของโจทก์ สาขาบุรีรัมย์ โดยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ การที่พนักงานโจทก์ปฏิบัติงานผิดพลาดโดยนำเงินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเช็คที่จำเลยนำเข้าฝากในบัญชีโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิรับเงินตามเช็คและจำเลยได้เบิกถอนเงินจำนวนตามเช็คไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลย จึงเป็นการที่จำเลยได้เงินนั้นไปโดยไม่ชอบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยได้ คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯ ในการเรียกร้องเงินคืนจากจำเลย แต่คำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายข้อเท็จจริงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้เงินคืนให้แก่สหกรณ์ฯแล้ว และประสงค์จะเรียกเงินคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะได้เงินจำนวนนั้น ซึ่งในการฟ้องคดีแพ่งโจทก์เพียงแต่บรรยายข้อเท็จจริงและมีคำขอบังคับก็เป็นการเพียงพอแล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องยกบทกฎหมายขึ้นกล่าวอ้าง การยกบทกฎหมายขึ้นปรับใช้บังคับแก่คดีเป็นหน้าที่ของศาล เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่า กรณีเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินใช้สิทธิติดตามและเอาคืนจากจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยได้ว่ากรณีเป็นเรื่องดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลย ซึ่งมีจำนวนเงินตามเช็ค 4 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งหมด 219,600 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และเนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ตามสำเนาหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.12 จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2546 ตามใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.13 ครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือทวงถามในวันที่ 6 เมษายน 2546 เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าโจทก์ไม่ได้รับช่วงสิทธิจากสหกรณ์ฯแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 219,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
|
การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย ผู้ค้ำประกันไม่อาจอ้างรับช่วงสิทธิ |