

สมคบเพื่อการค้ายาเสพติด มีโทษอย่างไร ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ • คำพิพากษาศาลฎีกา ยาเสพติด • ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 • ฎีกาคดียาเสพติด 2567 • สมคบเพื่อการค้ายาเสพติด มีโทษอย่างไร • จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โทษสูงสุด สรุป คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446-1447/2567 ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยจำเลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์แสดงว่าพอใจกับคำตัดสิน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษายืนยันว่าได้กระทำความจริง จึงเป็นเรื่องที่คดียุติแล้วที่จำเลยจะฎีกาขอให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาในประเด็นนี้ ในประเด็นการตีความมาตรา 145 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติด ศาลพิจารณาว่าโทษหนักขึ้นตามมาตรา 145 จะใช้กับการกระทำที่มีพฤติการณ์รุนแรงเท่านั้น ในคดีนี้ การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด (40.045 กรัม) โดยการล่อซื้อไม่ถือเป็นอันตรายต่อสังคมอย่างกว้างขวางตามมาตรา 145 วรรคสาม (2) แต่เป็นการจำหน่ายเพื่อการค้า ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 145 วรรคสอง (1) ศาลฎีกาจึงแก้คำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดนี้ ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขโทษจำเลยที่ 2 เป็นจำคุก 16 ปี ปรับ 600,000 บาท ตามมาตรา 90 และ 145 วรรคสอง (1) *เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจบริบทของคำพิพากษาศาลฎีกานี้ได้ดียิ่งขึ้น คำอธิบายของหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามบทบัญญัติที่กล่าวถึงในคำพิพากษามีดังนี้: 1. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง มาตรานี้ระบุว่าศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาของศาลล่างได้ หากเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์สาธารณะ แม้จะไม่มีการยกขึ้นมาว่ากล่าวกันในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์ก็ตาม โดยการแก้ไขนี้มักจะทำในกรณีที่มีข้อกฎหมายที่สำคัญและอาจกระทบต่อการตีความกฎหมายหรือผลประโยชน์สาธารณะ 2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 มาตรานี้กำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจในการพิจารณาแก้ไขข้อเท็จจริงที่รับฟังแล้ว แต่ต้องอยู่ในกรอบของข้อกฎหมายที่ถูกต้อง โดยมุ่งเน้นการรักษาความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับคดี ทั้งนี้หากมีการตีความที่ไม่ชัดเจน ศาลฎีกาอาจเข้ามาแก้ไขคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้เช่นกัน 3. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง กำหนดให้ศาลพิจารณาเฉพาะในประเด็นที่ยังไม่มีการยุติเท่านั้น หากเป็นประเด็นที่ยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจะไม่พิจารณาอีก เพื่อป้องกันการยื่นฎีกาในประเด็นที่เคยถูกวินิจฉัยไปแล้ว 4. ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90 มาตรานี้กล่าวถึงโทษและการลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมีบทลงโทษที่ครอบคลุมถึงการครอบครอง จำหน่าย และผลิตยาเสพติด และการสมคบเพื่อกระทำความผิด ในที่นี้หากมีการตกลงสมคบกันแล้วมีการกระทำความผิดจริงจะถูกพิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดร้ายแรง 5. ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 มาตรา 145 กำหนดโทษตามลำดับความร้ายแรงของพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยในวรรคหนึ่งให้ลงโทษเบื้องต้น หากไม่มีพฤติการณ์ร้ายแรง ส่วนในวรรคสองและสามจะเพิ่มโทษในกรณีที่ผู้กระทำมีบทบาทสำคัญหรือพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง เช่น การจำหน่ายที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนในวงกว้าง หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งจะมีโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิต 6. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 กำหนดให้มีการพิจารณาคดีอย่างเร่งด่วนและกระชับสำหรับคดียาเสพติด ซึ่งถือเป็นคดีสำคัญ เนื่องจากการพิจารณาคดีล่าช้าอาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่ทันการณ์ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวมได้ 7. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 16 กำหนดให้ส่งคดีไปยังศาลอุทธรณ์ในกรณีที่จำเลยไม่อุทธรณ์ในคดียาเสพติด โดยศาลอุทธรณ์สามารถพิจารณาในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพิ่มเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากคดีทั่วไปที่อาจจะไม่ต้องพิจารณาในกรณีที่ไม่มีการยื่นอุทธรณ์ หลักกฎหมายเหล่านี้มีความสำคัญในคดีนี้เพราะช่วยให้เข้าใจว่า ศาลฎีกามีขอบเขตการวินิจฉัยในประเด็นที่เป็นข้อกฎหมายใหม่และเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะอย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446 - 1447/2567 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ แสดงว่าจำเลยที่ 2 พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 16 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประเด็นว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่จึงยุติแล้ว การที่จำเลยที่ 2 กลับมาฎีกาอีกว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ขอให้ยกฟ้องนั้น จึงเป็นฎีกาในประเด็นที่ยุติไปแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 กับพวกจะเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคใด นั้น ป.ยาเสพติด มาตรา 145 ได้บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญตามลำดับความร้ายแรง หากผู้กระทำความผิดไม่มีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมไม่อาจปรับบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ได้ คงปรับบทกำหนดโทษได้เพียงมาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อ ป.ยาเสพติดกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญตามลำดับความร้ายแรง ดังนั้น การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) จึงจะต้องเป็นการกระทำที่ก่ออันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้าง อันเป็นการเพิ่มกระจายความรุนแรงของยาเสพติดและทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง กฎหมายจึงต้องกำหนดโทษไว้สูงถึงประหารชีวิตทำนองเดียวกับทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความเพียงว่า เจ้าพนักงานตำรวจให้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 จำนวน 400 เม็ด ในราคา 14,000 บาท เมื่อจับกุม ข. ที่นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแล้ว ข. พาไปยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีก 3,600 เม็ด รวม 4,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 40.045 กรัม ซึ่งไม่ถึงขนาดที่ก่ออันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้างได้ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) แต่ปรากฏพฤติการณ์ว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 เคยร่วมกับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในลักษณะเช่นเดียวกันนี้มาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเป็นการขายเมทแอมเฟตามีนเพื่อแสวงหากำไรเป็นปกติถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 4, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสองและวรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7, 8 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และ 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนกับฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 7 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,400,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 16 ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสาม (2), 127 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป เพียงบทเดียว จำคุก 30 ปี และปรับ 600,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดียาเสพติดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา จับกุมนายขวัญชัย พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด และของกลางอื่นอีกหลายรายการตามบัญชีของกลางคดีอาญา ต่อมาจับกุมนายอดิศรหรือวาย ได้ นายขวัญชัยและนายอดิศรถูกฟ้องคดีต่อศาลและให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย 39/2563 และ ย 534/2563 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ จำเลยทั้งสองทำงานอยู่ที่สาธารณรัฐเกาหลี และเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจึงถูกจับกุมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 และวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ตามลำดับ ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ เมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 40.045 กรัม ของกลางทั้งหมดศาลมีคำพิพากษาให้ริบแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย 39/2563 ของศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดกับนายขวัญชัยและนายอดิศรหรือไม่ เห็นว่า แม้นายขวัญชัยจะให้การรับสารภาพต่อร้อยตำรวจเอกเบ็ญจางค์ว่า เมื่อลูกค้าโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีของนายขวัญชัยแล้ว จำเลยที่ 1 จะใช้เว็บเพจ ภ. โทรศัพท์ให้นายขวัญชัยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ธ. หมายเลขบัญชี 233605xxxx ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของบัญชี แต่ก็เป็นพยานบอกเล่าโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงยืนยัน จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง ทั้งการติดต่อซื้อขายและรับสั่งเมทแอมเฟตามีนโดยใช้เว็บเพจ ภ. โทรศัพท์ผ่านโปรแกรมเมสเซนเจอร์เป็นเสียงผู้ชาย ซึ่งพยานโจทก์ยืนยันว่าเป็นจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้หญิง ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธตลอดมา โดยนำสืบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แยกทางกัน เว็บเพจ ภ. ดังกล่าวจำเลยที่ 2 เป็นคนใช้คนเดียว แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้เปิดเว็บเพจ ภ. และเป็นเจ้าของบัญชีธนาคาร ธ. หมายเลขบัญชีดังกล่าวก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาเพียงเท่านี้ยังไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ แสดงว่าจำเลยที่ 2 พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 16 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประเด็นว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ จึงยุติแล้ว การที่จำเลยที่ 2 กลับมาฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดขอให้ยกฟ้องนั้น จึงเป็นฎีกาในประเด็นที่ยุติไปแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทความผิดจำเลยที่ 2 ว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสาม (2) มานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 ได้บัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญตามลำดับความร้ายแรง หากผู้กระทำความผิดไม่มีพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ศาลย่อมไม่อาจปรับบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม ได้ คงปรับบทกำหนดโทษได้เพียงมาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดโดยถือเอาพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญตามลำดับความร้ายแรง ดังนั้น การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) จึงจะต้องเป็นการกระทำที่ก่ออันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้าง อันเป็นการเพิ่มกระจายความรุนแรงของยาเสพติดและทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง กฎหมายจึงต้องกำหนดโทษไว้สูงถึงประหารชีวิตทำนองเดียวกับทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความเพียงว่า เจ้าพนักงานตำรวจให้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 จำนวน 400 เม็ด ในราคา 14,000 บาท เมื่อจับกุมนายขวัญชัยที่นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งแล้วนายขวัญชัยพาไปยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีก 3,600 เม็ด รวม 4,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 40.045 กรัม ซึ่งไม่ถึงขนาดที่ก่ออันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้างได้ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสาม (2) แต่ปรากฏพฤติการณ์ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 เคยร่วมกับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในลักษณะเช่นเดียวกันนี้มาหลายครั้งแล้ว ซึ่งเป็นการขายเมทแอมเฟตามีนเพื่อแสวงหากำไรเป็นปกติถือได้ว่าเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และสมควรแก้ไขโทษเพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีและกฎหมายที่แก้ไข พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1), 127 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน กับฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้า เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้า จำคุก 16 ปี และปรับ 600,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ |