ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




กฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงต้องนำสืบ

กฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงต้องนำสืบ

กฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง คู่ความมีหน้าที่นำสืบให้ปรากฏ

 ในกรณีที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติประเทศอื่นหรือต่างเป็นบุคคลที่มีสัญชาติประเทศอื่นมาฟ้องหย่าในศาลไทย ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นเสียแต่ว่ากฎหมายของประเทศสามีหรือภริยาหรือของทั้งสองฝ่ายยินยอมให้สามีภริยาที่สมรสกันตามกฎหมายแล้วสามารถหย่ากันได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2557 

เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิใช่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลสัญชาติแอลจีเรีย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" ดังนั้นในเบื้องต้นต้องได้ความว่า กฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดีที่ศาลจะต้องนำมาพิจารณาคดีเสียก่อนและเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบกฎหมายเรื่องการหย่าของประเทศแอลจีเรีย ศาลชั้นต้นยกฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

 โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นคนมีสัญชาติไทย จำเลยเป็นคนสัญชาติแอลจีเรีย ประมาณปี 2545 จำเลยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยและรู้จักโจทก์ ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2547 โจทก์จำเลยเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตามกฎหมายไทย หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยาที่อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยขอหย่า อ้างเหตุว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 โจทก์จำเลยทะเลาะกันอย่างรุนแรง หลังจากนั้นจำเลยเก็บเสื้อผ้าออกจากบ้านพักที่อาศัยกับโจทก์ไปอยู่ที่อื่น แล้วไม่กลับมาหาโจทก์อีกเลย

 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกามีว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจหยิบยกพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง มาเป็นเหตุพิพากษายกฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิใช่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่เป็นบุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรีย พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 27 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" อันหมายความว่า ในกรณีที่สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติประเทศอื่นหรือต่างเป็นบุคคลที่มีสัญชาติประเทศอื่นมาฟ้องหย่าในศาลไทย ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นเสียแต่ว่ากฎหมายของประเทศสามีหรือภริยาหรือของทั้งสองฝ่ายยินยอมให้สามีภริยาที่สมรสกันตามกฎหมายแล้วสามารถหย่ากันได้ ดังนั้น คดีนี้ในเบื้องต้นจึงต้องได้ความเสียก่อนว่า กฎหมายของประเทศแอลจีเรียซึ่งเป็นสัญชาติของจำเลยมีบทบัญญัติให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียสามารถหย่าหรือฟ้องร้องบังคับหย่ากันได้ หากกฎหมายของประเทศแอลจีเรียไม่อนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียที่จดทะเบียนสมรสแล้วหย่ากัน ศาลประเทศไทยก็ไม่อาจพิพากษาให้หย่ากันได้ ต้องพิพากษายกฟ้อง แต่หากปรากฏว่ากฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้ ศาลจึงจะพิจารณาเหตุหย่าตามกฎหมายประเทศไทยอันเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่ฟ้องหย่าต่อไปว่า มีเหตุที่จะพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันได้หรือไม่ ดังนั้นกฎหมายแห่งประเทศแอลจีเรียอนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติแอลจีเรียหย่ากันได้หรือไม่ จึงเป็นข้อสำคัญแห่งคดีที่ศาลจะต้องนำมาพิจารณาคดีของโจทก์เสียก่อน และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องนำสืบให้ปรากฏ เพราะกฎหมายของต่างประเทศถือเป็นข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลไทยรับรู้ได้เอง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบกฎหมายเรื่องการหย่าของประเทศแอลจีเรียดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำการดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่อาจบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ อันเป็นการให้เหตุผลตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติบังคับไว้ จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า แม้โจทก์มิได้นำสืบถึงเหตุหย่าตามกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลย แต่โจทก์อ้างเหตุหย่าตามกฎหมายไทยแล้ว จำเลยมิได้ต่อสู้คดี มิได้ยกข้อกฎหมายต่างประเทศมากล่าวอ้าง ศาลจึงไม่มีอำนาจหยิบยกกฎหมายแห่งสัญชาติของจำเลยมาวินิจฉัย จำเลยได้รับประโยชน์จากกฎหมายต่างประเทศจึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ศาลไทยต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 เป็นกฎหมายรอง เมื่อขัดแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับแก่คดีนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุเงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้

สำหรับเหตุหย่า ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้อง ดังนั้น ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทยไทยบังคับ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบายไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดและไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์ซึ่งโจทก์เองก็ด่าจำเลยกลับไปด้วย แต่ไม่เคยทะเลาะกันเสียงดัง เพียงแต่ไม่พูดกันขณะโมโห แม้ในช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ แต่ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินสมควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) โจทก์จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับโจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดกับจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ปี 2530 โจทก์พบจำเลยที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2531 โจทก์จำเลยตกลงจดทะเบียนสมรสตามสำเนาทะเบียนสมรสเอกสารหมาย จ.1 และมีการย้ายไปอยู่อีกหลายรัฐหลังอยู่กินฉันสามีภริยาเนื่องจากโจทก์รับราชการกองทัพอากาศ ปี 2542 โจทก์ย้ายมาอยู่ประเทศไทย ช่วง 6 เดือนแรกหลังจากการสมรส โจทก์จำเลยมีความขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และจำเลยไม่สนใจเรียนรู้และปรับตัวทางด้านภาษาและการแต่งตัวประกอบกับจำเลยมีนิสัยเกียจคร้านชอบแต่ความสบาย ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใดทำให้เกิดการโต้เถียงกันเป็นประจำ โจทก์ได้รับการกระทบทางด้านจิตใจโดยจำเลยจะด่าโจทก์เป็นภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทยว่า "ลูกหมาตัวเมีย" และ "เหี้ย" ในด้านความสัมพันธ์ทางเพศโจทก์ต้องการแต่จำเลยไม่ต้องการทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สมัครใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กันเป็นเวลากว่า 2 ปี แล้ว ซึ่งเป็นสภาพที่ทรมานจิตใจโจทก์อย่างมาก หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยขอเดินทางกลับไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเยี่ยมมารดา แต่จำเลยไม่ติดต่อโจทก์และไม่กลับมาหาโจทก์จนถึงปัจจุบัน โจทก์ถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจียเกี่ยวกับเงื่อนไขการหย่าข้อ 10 ที่ระบุว่าการปฏิบัติที่โหดร้ายประกอบไปด้วยการทำร้ายที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดต่อภายและจิตใจ และข้อ 13 ที่ระบุว่าการสมรสที่แตกร้าวจนเยียวยาไม่ได้ ตามสำเนากฎหมายของรัฐจอร์เจียพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ประสงค์หย่าขาดกับจำเลย

จำเลยไม่สืบพยาน

พิเคราะห์แล้ว เห็นควรวินิจฉัยปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหย่าจำเลยหรือไม่ก่อน พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบทบัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่ากันได้มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ดังที่จำเลยอ้างตามคำแก้ฎีกา เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกันตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นการยอมให้หย่าได้เมื่อต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวและบทบัญญัติกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุเงื่อนไขการฟ้องหย่าไว้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีเหตุให้ฟ้องหย่าได้หรือไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 27 วรรคสอง บัญญัติว่า เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า ในการวินิจฉัยเรื่องเหตุหย่าตามฟ้องจึงต้องใช้กฎหมายของประเทศไทยบังคับ ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) หรือไม่ โจทก์เบิกความว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2531 ตามทะเบียนสมรสเอกสารหมาย จ.1 หลังสมรสได้ประมาณ 6 เดือน เกิดการขัดแย้งกันเนื่องจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรมไม่เข้าใจกัน จำเลยไม่สนใจที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากันได้ เกียจคร้าน ชอบแต่ความสบาย ไม่คบหาสมาคมกับผู้ใด ทำให้เกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ ด่าว่าโจทก์แต่โจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเมื่อจำเลยด่าโจทก์ขณะทะเลาะกันโจทก์ก็ด่าจำเลยตอบกลับไปด้วย ทั้งโจทก์เบิกความเองว่าช่วงแรกจำเลยไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับโจทก์ ต่อมาภายหลังโจทก์จำเลยต่างไม่สมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีก เรืออากาศเอกทอดด์บาว์โลว พยานซึ่งเป็นเพื่อนร่วมที่ทำงานเดียวกับโจทก์ก็เบิกความว่า พยานรู้จักจำเลยดี ไม่เคยเห็นโจทก์จำเลยทะเลาะกันเสียงดังแต่เห็นไม่พูดกันขณะโมโห จำเลยไม่ยอมทำงานบ้านไม่ชอบออกงานสังคมยกเว้นงานที่จำเป็น แต่ชอบงานเลี้ยงไม่เป็นทางการที่มีความสนุกสนาน นอกจากนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการร้ายแรงอย่างอื่นอีก โจทก์จำเลยคงมีฐานะเป็นสามีภริยาอยู่กินกันมานานถึง 13 ปีเศษ โจทก์จึงเพิ่งมาฟ้องคดีนี้ พฤติการณ์ของจำเลยดังที่โจทก์นำสืบดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินสมควร ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีเหตุให้ฟ้องหย่าจำเลยได้ ส่วนข้ออ้างเรื่องจำเลยทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีและจำเลยป่วยเนื่องจากการติดเชื้อในมดลูกไม่อาจมีบุตรได้นั้น โจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องโดยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

พิพากษายืน

ข้อสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย

สัญญานี้จะผูกพันบิดามารดาและบุตรผู้เยาว์ให้เป็นไปตามมาตรา 516 ของกฎหมายศาลครอบครัว เจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีว่าประสงค์จะให้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใด บังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี..." เมื่อข้อสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลไทยจึงรับพิจารณาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15066/2555

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก เขตปกครองเรนเซลาเออร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นบิดาของเด็กชาย อ. บุตรผู้เยาว์ และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย อ. เป็นรายเดือนแก่โจทก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้เป็นไปตามสัญญา การที่จำเลยกลับมาประเทศไทยโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์มายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้จำเลยชำระเงินตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อข้อ 6 แห่งสัญญาระบุว่า สัญญานี้จะผูกพัน โจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์ให้เป็นไปตามมาตรา 516 ของกฎหมายศาลครอบครัว ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีว่าประสงค์จะให้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใด บังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี..." เมื่อข้อสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลไทยจึงรับพิจารณาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และคำสั่งศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กได้

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 22,746,649.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูรายเดือน เดือนละ 3,472.88 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 128,045.09 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2549 เป็นต้นไป และให้ชำระเงินเบี้ยประกันชีวิตรายปี ปีละ 5,400 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 199,098 บาท แก่โจทก์นับแต่ปี 2550 เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 477,972.85 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูบุตรรายเดือน เดือนละ 3,450 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ โดยการชำระหนี้ให้คิดเป็นเงินไทย ตามอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นอัตราขายโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรายเดือนให้จำเลยชำระเดือนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้เยาว์ นับแต่เดือนธันวาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า กรณีจึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่าผลแห่งสัญญาดังกล่าวจะต้องบังคับตามกฎหมายของประเทศใด เห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลดังกล่าว โดยในสัญญาข้อที่ 6 ระบุว่า สัญญานี้จะผูกพันโจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์ให้เป็นไปตามมาตรา 516 ของกฎหมายศาลครอบครัว ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีได้ว่าประสงค์จะใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ ในกรณีนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี..." ประกอบกับเมื่อพิจารณาข้อสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำแปลท้าย ซึ่งจำเลยไม่ได้แย้งความถูกต้องของการแปลแล้ว เห็นว่า ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลไทยจึงรับพิจารณาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ แม้โจทก์และจำเลยจะมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อเมื่อผลการทดสอบตามวิธีการที่กำหนดไว้ยืนยันว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์ แต่ข้อตกลงหรือเงื่อนไขดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ซึ่งในข้อที่ 1 กล่าวถึงผลการทดสอบว่าหากแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์โดยถือค่าความเป็นไปได้ร้อยละ 95 ขึ้นไป ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามสัญญา กล่าวคือ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญา และในข้อที่ 7 กล่าวถึงอำนาจการตัดสินคดีของศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กว่าสัญญานี้และคำสั่งอื่นใดอันรวมเข้ากับสัญญาจะต้องได้รับการเห็นคุณค่า ผูกมัด เป็นที่สุด เด็ดขาด และสามารถบังคับได้ในศาลที่เหมาะสมของต่างประเทศอื่นใด เมื่อศาลดังกล่าวมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์ (พร้อมคำแปล) ภายหลังจากที่ผลตรวจหาความเป็นบิดา ยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นบิดาของผู้เยาว์แล้ว จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาและคำสั่งศาลดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาและคำสั่งศาลดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาในข้อที่ว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เยาว์ โจทก์จะฟ้องเองไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1565 บัญญัติไว้ว่า การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ จึงเป็นมาตราที่ให้อำนาจบิดาหรือมารดาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยมิได้ฟ้องในนามของบุตร หรือในฐานะเป็นผู้แทนบุตรแต่เป็นการฟ้องในฐานะที่ตนเองเป็นบิดาหรือมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร แม้โจทก์ไม่ระบุในคำฟ้องว่าโจทก์ในฐานะมารดาผู้กระทำการแทนบุตร โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง อีกทั้งคดีนี้โจทก์และจำเลยได้ตกลงระงับข้อพิพาทเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยตรงอีกด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ฎีกาของจำเลยข้อที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (4) ซึ่งที่ถูก คือมาตรา 193/33 (4) นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ในกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดอายุความฟ้องคดีไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดย........หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด" เมื่อศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กมีคำสั่งตาม ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว จึงเกิดมีขึ้นตั้งแต่นั้น นับถึงวันฟ้องเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาของจำเลยข้อที่ว่าพยานเอกสารของโจทก์ เป็นเพียงสำเนาเอกสารที่รับรองโดยเจ้าหน้าที่ของศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก จำเลยไม่ได้รับรองว่าถูกต้อง และเอกสารดังกล่าวไม่ได้รับรองโดยรัฐมนตรี หัวหน้ากรม กอง หัวหน้าแผนกหรือผู้รักษาการแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1) และ (3) จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า ต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ในสำนวนความของศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก ซึ่งศาลดังกล่าวต้องเก็บรักษาไว้ โจทก์จึงไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมาอ้างเป็นพยานได้ อันเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2) ที่ให้ศาลรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ ตามคำร้องคัดค้านของจำเลยลงวันที่ 3 กันยายน 2550 ก็รับว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวได้รับรองโดยเจ้าหน้าที่ของศาลดังกล่าวแล้ว สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ส่วนฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายข้อที่ว่า จำเลยย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในกรณีนี้จำเลยจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ เป็นกรณีไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งของคู่สัญญาจึงต้องใช้กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันของคู่สัญญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 ซึ่งกฎหมายที่ใช้บังคับคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำในต่างประเทศอันเป็นการคิดตามอัตราค่าครองชีพในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ในข้อนี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบตั้งแต่ศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาข้อที่ว่า รายได้จากการประกอบอาชีพแพทย์ของจำเลยในประเทศไทยลดลงจึงสมควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามรายได้ของจำเลยที่เปลี่ยนแปลงไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือน เดือนละ 3,150 ดอลลาร์สหรัฐ ว่าเป็นการกำหนดตามค่าครองชีพในศาลต่างประเทศคือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีค่าครองชีพสูงกว่าในประเทศไทย ในทำนองว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือนนั้นสูงเกินไป สำหรับเงินในส่วนอื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดจำเลยไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งเฉพาะค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือนตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ลดลงเหลือเดือนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่เดือนธันวาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะอายุครบ 21 ปี บริบูรณ์ ในข้อนี้โจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้อที่ 16 กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และให้ปรับเพิ่มทุก 3 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่า ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นนั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างไร จึงกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรซึ่งตามสัญญาในข้อดังกล่าวได้กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรขั้นต่ำต่อเดือนไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อเดือนต่ำกว่านั้นนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว โดยที่สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทำขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่บุตรผู้เยาว์กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในประเทศดังกล่าว ซึ่งมีค่าครองชีพสูงกว่าประเทศไทยมาก จำเลยย่อมทราบดี ประกอบกับจำเลยประกอบอาชีพแพทย์ในประเทศดังกล่าวย่อมมีรายได้เพียงพอที่จะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และค่าใช้จ่ายอื่นตามสัญญาได้จึงตกลงทำสัญญากับโจทก์เช่นนั้น แต่เมื่อผลการตรวจหาความเป็นบิดายืนยันได้ว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์ จำเลยกลับไม่ยอมรับผิดชอบและย้ายมาอยู่ประเทศไทย อันเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาและคำสั่งศาล เช่นนี้จำเลยจะอ้างว่ารายได้จากการประกอบอาชีพแพทย์ของจำเลยลดลง และถือเป็นเหตุให้ศาลลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ลงอีก ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะรับฟัง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท




ฟ้องหย่า

ปราศจากความรักต่อกันที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปได้
สามีเป็นโจทก์อ้างเหตุฟ้องหย่ามีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติ