ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นปีที่ 54 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 37 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542”

มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้

“ความผิดมูลฐาน” หมายความว่า

(1) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

(2)  ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในความผิดเกี่ยวกับเพศ เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป พาไป หรือรับไว้เพื่อการอนาจารซึ่งชายหรือหญิง เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น หรือความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ เฉพาะที่เกี่ยวกับการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่ออนาจาร หรือโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กหรือผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากนั้น หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี หรือที่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี

(3) ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

(4)  ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งกระทำโดยกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น

(5) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

(6) ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา

(7) ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

(8) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(9)  ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นการจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

(10)  ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด

(11)  ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า

(12)  ความผิดเกี่ยวกับการปลอมหรือการแปลงเงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋วตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นการค้า 

(13)  ความผิดเกี่ยวกับการค้าตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลอม หรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอันมีลักษณะเป็นการค้า

(14)  ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเดินทางตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระหรือเพื่อการค้า

(15)  ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า

(16)  ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน

(17)  ความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะกรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์หรือเพื่อต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

(18)  ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

(19)  ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด

(20)  ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่มีผลกระทบต่อราคาการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลภายในตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

(21)  ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะที่เป็นการค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เฉพาะที่เป็นการค้ายุทธภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ในการก่อการร้าย การรบ หรือการสงคราม

ความผิดมูลฐานตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการกระทำความผิดอาญานอกราชอาณาจักร ซึ่งหากการกระทำความผิดนั้นได้กระทำลงในราชอาณาจักรจะเป็นความผิดมูลฐานด้วย 

“ธุรกรรม” หมายความว่า กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรม สัญญาหรือการดำเนินการใด ๆ กับผู้อื่น ทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน

“ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย”  หมายความว่า ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง และให้หมายความรวมถึงการพยายามกระทำธุรกรรมดังกล่าวด้วย

“ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” หมายความว่า

(1)  เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน

(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ

(3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2)

ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า

[1] ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ

[2]  บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(3)  (ยกเลิก)

(4) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย

(5) สหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ เฉพาะสหกรณ์ที่มีทุนดำเนินการซึ่งมีมูลค่าหุ้นรวมตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไปและมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ให้กู้ ให้สินเชื่อรับจำนองหรือรับจำนำทรัพย์สิน หรือจัดให้ได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ โดยวิธีใด ๆ

(6) นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

“กองทุน”  หมายความว่า กองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

“กรรมการ” หมายความว่า กรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้หมายความรวมถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

“รองเลขาธิการ” หมายความว่า รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 4  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด 1

บททั่วไป

มาตรา 5  ผู้ใด

(1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ

(2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

(3)ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน

มาตรา 6  ผู้ใดกระทำความผิดฐานฟอกเงิน แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักรผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าปรากฏว่า

(1) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

(2) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว และได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ

(3) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าว และการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทำเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักรและมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 7  ในความผิดฐานฟอกเงิน ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

(1) สนับสนุนการกระทำความผิดหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด

(2) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดหลบหนีหรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ หรือเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในการกระทำความผิด

ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้น เพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา 8  ผู้ใดพยายามกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ

มาตรา 9  ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ถ้าได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ในกรณีที่ความผิดได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้สมคบทำให้การกระทำนั้นกระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้สมคบที่กระทำการขัดขวางนั้น คงรับโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งเท่านั้น

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกลับใจให้ความจริงแห่งการสมคบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะมีการกระทำความผิดตามที่ได้สมคบกัน ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้

มาตรา 10  เจ้าพนักงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรรมการหรือผู้บริหารหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน หรือกรรมการขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ผู้ใดกระทำความผิดตามหมวดนี้ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น 

กรรมการ อนุกรรมการ กรรมการธุรกรรม เลขาธิการ รองเลขาธิการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดกระทำความผิดตามหมวดนี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 11  กรรมการ อนุกรรมการ กรรมการธุรกรรม เลขาธิการ รองเลขาธิการ พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน หรือข้าราชการผู้ใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา อันเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามหมวดนี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดร่วมในการกระทำความผิดกับบุคคลตามวรรคหนึ่งไม่ว่าในฐานะตัวการผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง 

มาตรา 12  ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ อนุกรรมการ กรรมการธุรกรรม เลขาธิการ รองเลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด 2

การรายงานและการแสดงตน

มาตรา 13  เมื่อมีการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน ให้สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมนั้นต่อสำนักงาน เมื่อปรากฏว่าธุรกรรมดังกล่าวเป็น

(1) ธุรกรรมที่ใช้เงินสดมีจำนวนเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

(2) ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือ

(3) ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมตาม (1) หรือ (2)หรือไม่ก็ตาม

ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่เกี่ยวข้องหรืออาจจะเป็นประโยชน์ในการยืนยันหรือยกเลิกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกรรมที่สถาบันการเงินได้รายงานไปแล้ว ให้สถาบันการเงินรายงานข้อเท็จจริงนั้นให้สำนักงานทราบโดยไม่ชักช้า

มาตรา 14 ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าธุรกรรมใดที่ได้กระทำไปแล้วโดยมิได้มีการรายงานตามมาตรา 13 (3) เป็นธุรกรรมที่สถาบันการเงินต้องรายงานตามมาตรา 13 ให้สถาบันการเงินรายงานให้สำนักงานทราบโดยไม่ชักช้า

มาตรา 15  ให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินสาขา และสำนักงานที่ดินอำเภอ มีหน้าที่ต้องรายงานต่อสำนักงาน เมื่อปรากฏว่ามีการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันการเงินมิได้เป็นคู่กรณีและที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีการชำระด้วยเงินสดเป็นจำนวนเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง

(2) เมื่ออสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าตามราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่เป็นการโอนในทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม หรือ

(3) เมื่อเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย

มาตรา 15/1 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้ใดได้รับแจ้งรายการเกี่ยวกับการนำเงินตราไม่ว่าจะเป็นเงินตราหรือเงินตราต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเข้ามาในหรือออกไปนอกประเทศ อันมีมูลค่ารวมกันถึงจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรดังกล่าวรวบรวมและจัดส่งข้อมูลที่ได้รับแจ้งนั้นไปยังสำนักงาน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบการแจ้งรายการ ที่คณะกรรมการกำหนด

จำนวนเงินตราหรือเงินตราต่างประเทศที่คณะกรรมการกำหนดตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่น้อยกว่าจำนวนที่ผู้นำเงินตราที่นำเข้ามาในหรือออกไปนอกประเทศต้องแจ้งรายการตามที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนด

มาตรา 16 ให้ผู้ประกอบอาชีพดังต่อไปนี้มีหน้าที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานในกรณีเป็นธุรกรรมที่ใช้เงินสดมีจำนวนเกินกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย  ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาชีพตาม (2) (3) (4) และ (5) ต้องเป็นนิติบุคคล เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยที่มีพยานหลักฐานอันสมควรว่ามีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินกับผู้ประกอบอาชีพตาม (2) (3) (4) และ (5) ที่มิได้เป็นนิติบุคคล ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงาน

(1) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการ การให้คำแนะนำ หรือการเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินตามมาตรา 13

(2) ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี เพชรพลอย หรือทองคำ

(3) ผู้ประกอบอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์

(4) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

(5) ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่

(6) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับหรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(7) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(8) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(9) ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

(10) ผู้ประกอบอาชีพที่ดำเนินธุรกิจทางการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินที่มิใช่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งปรากฏผลจากการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายว่ามีความเสี่ยงที่อาจถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย  ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่เกี่ยวข้องหรืออาจจะเป็นประโยชน์ในการยืนยันหรือยกเลิกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกรรมที่ได้รายงานไปตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บุคคลดังกล่าวรายงานข้อเท็จจริงนั้นให้สำนักงานทราบโดยไม่ชักช้า

ให้นำความในมาตรา 14 มาใช้บังคับกับผู้มีหน้าที่รายงานตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่กรณีผู้มีหน้าที่รายงานดังกล่าว เป็นผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินเสียเอง 

มาตรา 16/1 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีพยานหลักฐานตามสมควรว่ามูลนิธิ สมาคมหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรใด มีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรม มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้มูลนิธิ สมาคมหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรนั้นชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมหรือสั่งระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวเป็นเวลาตามที่สำนักงานกำหนด และในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการอาจเข้าไปในสถานที่ดำเนินงานของมูลนิธิ สมาคมหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรนั้นในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อตรวจสอบตามที่จำเป็นได้

มาตรา 17  การรายงานตามมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 และมาตรา 16 ให้เป็นไปตามแบบ ระยะเวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 18  ธุรกรรมใดที่รัฐมนตรีเห็นสมควรให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรายงานตามมาตรา 13 มาตรา 15 และมาตรา 16 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 19  การรายงานตามมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 และมาตรา 16 ซึ่งผู้รายงานกระทำโดยสุจริต หากก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดผู้รายงานไม่ต้องรับผิด

มาตรา 20  ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 จัดให้ลูกค้าแสดงตนทุกครั้งก่อนการทำธุรกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดอุปสรรคในการแสดงตนของคนพิการหรือทุพพลภาพด้วย เว้นแต่ลูกค้าได้แสดงตนไว้ก่อนแล้ว

การแสดงตนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 20/1 สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 (1) และ (9) ต้องกำหนดนโยบายการรับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวกับการฟอกเงินของลูกค้าและต้องดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าเมื่อเริ่มทำธุรกรรมครั้งแรกโดยต้องตรวจสอบเป็นระยะจนสิ้นสุดดำเนินการเมื่อมีการปิดบัญชีหรือยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า

การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามวรรคหนึ่งจะมีขอบเขตเพียงใด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเกี่ยวกับการแสดงตนและการพิสูจน์ทราบลูกค้า การตรวจทานบัญชีลูกค้า และการติดตามความเคลื่อนไหวทางบัญชีของลูกค้าที่ได้รับการแจ้งจากสำนักงาน

ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) และ (10) ด้วยโดยอนุโลม แต่จะใช้กับผู้ประกอบอาชีพที่มีลักษณะอย่างใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  ทั้งนี้ โดยต้องมิให้มีลักษณะเป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบอาชีพรายย่อยและประชาชนที่เกี่ยวข้องจนเกินสมควร และต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่านั้น

มาตรา 21   เมื่อมีการทำธุรกรรมตามมาตรา 13 ให้สถาบันการเงินบันทึกข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าวตามแบบ รายการ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 21/1   ห้ามมิให้ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 หรือบุคคลใดเปิดเผยข้อมูลหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันอาจทำให้ลูกค้าหรือบุคคลภายนอกทราบเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า การรายงานธุรกรรมหรือการส่งข้อมูลอื่นใดไปยังสำนักงาน เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาลหรือเป็นการเปิดเผยข้อมูลระหว่างสำนักงานใหญ่กับสาขาของผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 ที่ตั้งอยู่ในหรือต่างประเทศเพื่อดำเนินการอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

รายงานที่สำนักงานได้รับตามหมวดนี้ถือเป็นความลับในราชการเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บรักษาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวเฉพาะเพื่อการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 21/2 ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าได้ ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวรายงานให้สำนักงานทราบโดยทันที

ในกรณีที่สำนักงานได้ตรวจสอบรายงานตามวรรคหนึ่งแล้ว เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ให้มีอำนาจสั่งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวระงับการทำธุรกรรมไว้ก่อนได้ไม่เกินสิบวันทำการ

มาตรา 21/3 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงานมีหน้าที่จัดให้มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ให้แก่ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16

เมื่อผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องจัดให้ผู้ได้รับการฝึกอบรมดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ในการจัดทำรายงานหรือควบคุมการจัดทำรายงาน การจัดให้ลูกค้าแสดงตน และการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีการฝึกอบรมตามวรรคหนึ่ง และการจัดให้ผู้ได้รับการฝึกอบรมปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 22  เว้นแต่จะได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น ให้สถาบันการเงินเก็บรักษารายละเอียด ดังนี้

(1) เกี่ยวกับการแสดงตนตามมาตรา 20 เป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีการปิดบัญชีหรือยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า

(2) เกี่ยวกับการทำธุรกรรมและบันทึกข้อเท็จจริงตามมาตรา 21 เป็นเวลาห้าปีนับแต่ได้มีการทำธุรกรรมหรือบันทึกข้อเท็จจริงนั้น

ให้นำความใน (1) มาใช้บังคับกับผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ด้วย

มาตรา 22/1   ภายใต้บังคับมาตรา 20/1 วรรคสาม ให้ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 เก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามมาตรา 20/1 เป็นเวลาสิบปีนับแต่วันที่มีการปิดบัญชีหรือยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า แต่ก่อนพ้นกำหนดเวลาสิบปีดังกล่าว หากมีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้สำหรับลูกค้ารายใด ให้เลขาธิการแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้มีหน้าที่รายงานดังกล่าวเก็บรักษารายละเอียดของลูกค้ารายนั้นต่อไปอีกไม่เกินห้าปีนับแต่พ้นเวลาสิบปีก็ได้

หลักเกณฑ์และวิธีการเก็บรักษารายละเอียดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 23  บทบัญญัติในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

หมวด 3

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

มาตรา 24 ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ปปง.” ประกอบด้วย

(1) ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ

(2) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นกรรมการ

(3) เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการทั้งสิบสี่คนเลือกกันเองเป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง และรองประธานกรรมการอีกคนหนึ่ง โดยประธานกรรมการต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด

ให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

กรรมการตาม (2) อาจมอบหมายให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับอธิบดีหรือเทียบเท่าซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการมาเป็นกรรมการแทนก็ได้ และเมื่อได้มอบหมายผู้ใดแล้วให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายนั้นเป็นกรรมการตาม (2) แทนผู้มอบหมาย

มาตรา 24/1 (ยกเลิก)

มาตรา 24/2 ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่เกินเจ็ดสิบปี

(3) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป หรือเป็นหรือเคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไปในด้านหนึ่งด้านใดตาม (4)

(4) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง หรือกฎหมาย และเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

(5) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือกรรมการหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองภายในระยะเวลาห้าปีก่อนวันที่สมัคร

(6) ไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายกันในกิจการของผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือบุคคลใดที่มีหน้าที่รายงานตามพระราชบัญญัตินี้ หรือประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอย่างอื่นหรือประกอบการใด ๆ อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

(7) ไม่เป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

(8) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(9) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

(10) ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดฐานฟอกเงิน ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

(11) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

(12) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

มาตรา 25 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) เสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายต่อคณะรัฐมนตรี

(2) กำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติของสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

(3) กำกับ ดูแล และควบคุมให้คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงาน และเลขาธิการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระและสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งระงับหรือยับยั้งการกระทำใดของคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงาน และเลขาธิการ ที่เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ระเบียบตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการด้วยคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะใช้บังคับได้

ในระหว่างที่ยังไม่มีระเบียบตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการดำเนินการไปตามที่เห็นสมควร

(4) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่อาจเกิดจากการทำธุรกรรมของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการบางประเภทที่ไม่ต้องรายงานการทำธุรกรรมตามพระราชบัญญัตินี้และเสนอแนะแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว

(5) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือกำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของคณะกรรมการธุรกรรม รวมตลอดทั้งออกระเบียบหรือประกาศอื่นใดที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ  ทั้งนี้ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ใดที่กำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติ ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะใช้บังคับได้

(6) คัดเลือกบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

(7) วางระเบียบในการดำเนินการกับข้อมูลหรือเอกสารเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

(8) ปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกตาม (6) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 26  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

มาตรา 27  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 26 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย

(2) ลาออก

(3) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24/2 หรือคณะรัฐมนตรีให้ออก

(4) เป็นบุคคลล้มละลาย

(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา 28  ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้วแต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่

มาตรา 29 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม

ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม และในกรณีที่ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการซึ่งมาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่การคัดเลือกบุคคลตามมาตรา 25 (6) การให้เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 45 (3) หรือการวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา 49 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

มาตรา 30  คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนคณะกรรมการก็ได้และให้นำมาตรา 29 มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา 31  ให้กรรมการและอนุกรรมการได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

หมวด 4

คณะกรรมการธุรกรรม

มาตรา 32 ให้มีคณะกรรมการธุรกรรมคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

(1) บุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 32/1 จำนวนสี่คน เป็นกรรมการ

(2) เลขาธิการ เป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการธุรกรรมทั้งห้าคนเลือกกรรมการตาม (1) เป็นประธานกรรมการคนหนึ่ง

หลักเกณฑ์ วิธีการในการประชุม และการออกคำสั่งใด ๆ ของคณะกรรมการธุรกรรม ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการธุรกรรมกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ระเบียบดังกล่าวเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 32/1 ให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการอัยการ แต่ละคณะเสนอรายชื่อบุคคลที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีความรู้ความสามารถอันจะยังประโยชน์แก่การปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ คณะละหนึ่งคนส่งให้สำนักงานเพื่อเสนอรายชื่อต่อคณะกรรมการเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการธุรกรรม ในกรณีที่คณะกรรมการผู้มีสิทธิเสนอชื่อคณะใดไม่เสนอชื่อบุคคลในส่วนของตนเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการธุรกรรมภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานให้เสนอชื่อ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นกรรมการธุรกรรมแทนการเสนอชื่อจากคณะกรรมการคณะนั้น

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องเสนอพร้อมกับหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อด้วย

มาตรา 32/2  กรรมการธุรกรรมต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24/2 (1) (2) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (10) (11) และ (12) และต้องเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า หรือตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป หรือตำแหน่งอธิบดีอัยการขึ้นไป หรือเป็นหรือเคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองศาสตราจารย์ขึ้นไปในด้านหนึ่งด้านใดตามมาตรา 24/2 (4)

มาตรา 32/3  กรรมการธุรกรรมซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการธุรกรรมที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน และให้นำมาตรา 27 และมาตรา 28 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่การพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 27 (3) ให้กรรมการธุรกรรมซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการให้ออกเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 32/2

ในกรณีที่กรรมการธุรกรรมพ้นจากตำแหน่งและยังมิได้แต่งตั้งกรรมการธุรกรรมแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่กรรมการธุรกรรมที่เหลืออยู่นั้นต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน

มาตรา 33  การประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมให้นำมาตรา 29 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 34 ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

(2) สั่งยับยั้งการทำธุรกรรมตามมาตรา 35 หรือมาตรา 36

(3) ดำเนินการตามมาตรา 48

(4) เสนอรายงานการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการ

(5) กำกับ ดูแล และควบคุมให้สำนักงานและเลขาธิการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระและตรวจสอบได้

(5/1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือกำหนดหลักเกณฑ์ใด ๆ เพื่อให้สำนักงานปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของคณะกรรมการธุรกรรม  ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดและต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 35 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยและมีพยานหลักฐานอันสมควรว่าธุรกรรมใดเกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมนั้นไว้ก่อนได้ภายในเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกินสามวันทำการ

ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน เลขาธิการจะสั่งยับยั้งการทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่งไปก่อนก็ได้แล้วรายงานต่อคณะกรรมการธุรกรรม

มาตรา 36 ในกรณีที่มีพยานหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าธุรกรรมใดเกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือยับยั้งการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราวภายในเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกินสิบวันทำการ

มาตรา 36/1 ในการดำเนินการตามมาตรา 34 มาตรา 35 หรือมาตรา 36 ให้คณะกรรมการธุรกรรมหรือเลขาธิการบันทึกไว้เป็นหลักฐานในรายงานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมหรือในการสั่งการของเลขาธิการว่ามีพยานหลักฐานใด และผู้ใดเป็นผู้ขอ ผู้ใช้หรือสั่งการให้มีการดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่า

มาตรา 37  เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมหรือเลขาธิการ แล้วแต่กรณี สั่งยับยั้งการทำธุรกรรมตามมาตรา 35 หรือมาตรา 36 แล้ว ให้คณะกรรมการธุรกรรมรายงานต่อคณะกรรมการในการประชุมคราวถัดไป และให้รายงานให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบด้วย

รายงานตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียด ดังต่อไปนี้

(1) บุคคลผู้ถูกสั่งยับยั้งการทำธุรกรรม

(2) พยานหลักฐานที่ใช้ดำเนินการต่อบุคคลตาม (1)

(3) ผู้ขอ ผู้ใช้หรือสั่งการให้มีการดำเนินการ

(4) ผลการดำเนินการ

รายงานตามมาตรานี้ให้ถือเป็นความลับของทางราชการ

ในกรณีที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบรายงานตามวรรคหนึ่งแล้วพบว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ส่งผลการตรวจสอบและความเห็นของคณะกรรมการหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการธุรกรรมดำเนินการต่อไป

มาตรา 37/1 ในกรณีที่คณะกรรมการธุรกรรมเห็นว่าคดีใดสมควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของคณะกรรมการธุรกรรม ให้คณะกรรมการธุรกรรมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้มีมาตรการในการคุ้มครองบุคคลดังกล่าว โดยให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นพยานที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา  ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการธุรกรรมเสนอความเห็นด้วยว่าสมควรใช้มาตรการทั่วไปหรือมาตรการพิเศษตามกฎหมายดังกล่าวสำหรับบุคคลเหล่านั้นด้วย 

ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลดังกล่าว เพราะมีการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาเนื่องจากการดำเนินการหรือการให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อขอรับค่าตอบแทนเท่าที่จำเป็นและสมควรตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญาด้วย

สำนักงานอาจจัดให้มีค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา 38  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการธุรกรรม เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้สถาบันการเงิน ส่วนราชการ องค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ แล้วแต่กรณี ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อให้ถ้อยคำส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา

(2) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใด ๆ มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ มาเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา

(3) เข้าไปในเคหสถาน สถานที่ หรือยานพาหนะใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการซุกซ่อนหรือเก็บรักษาทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพื่อตรวจค้นหรือเพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบ หรือยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือพยานหลักฐาน เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ ทรัพย์สินหรือพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นจะถูกยักย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (3) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่งแสดงเอกสารมอบหมายและบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวตามวรรคสองให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

บรรดาข้อมูลที่ได้มาจากการให้ถ้อยคำ คำชี้แจงเป็นหนังสือ บัญชี เอกสาร หรือหลักฐานใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคล สถาบันการเงิน ส่วนราชการ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ให้เลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บรักษาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น

มาตรา 38/1 ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เลขาธิการ รองเลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการมีอำนาจจับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินและบันทึกถ้อยคำผู้ถูกจับเพื่อเป็นหลักฐานเบื้องต้นแล้วส่งตัวไปยังพนักงานสอบสวนโดยไม่ชักช้าแต่ต้องไม่เกินยี่สิบสี่ชั่วโมง

มาตรา 38/2 ผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือผู้ช่วยเหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบซึ่งถูกฟ้องหรือถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด แม้จะพ้นจากตำแหน่งหรือหน้าที่ไปแล้วก็ตาม

มาตรา 39  ให้กรรมการธุรกรรมได้รับค่าตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา 39/1 (ยกเลิก)

มาตรา 39/2 (ยกเลิก)

หมวด 5

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

มาตรา 40 ให้จัดตั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน ปปง.” ขึ้นเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระและเป็นกลาง มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ คณะกรรมการธุรกรรม และปฏิบัติงานธุรการอื่น

(2) รับรายงานการทำธุรกรรมที่ส่งให้ตามหมวด 2 และแจ้งตอบการรับรายงาน รวมทั้งการรับรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมที่ได้มาโดยทางอื่น

(3) รับหรือส่งรายงานหรือข้อมูลเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น หรือตามข้อตกลงที่ได้จัดทำขึ้นระหว่างหน่วยงานในประเทศหรือต่างประเทศ

(3/1) กำหนดแนวทางปฏิบัติ กำกับ ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ของผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

(3/2) ประเมินความเสี่ยงระดับชาติที่เกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเพื่อจัดทำนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเสนอต่อคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งแจ้งผลการประเมินความเสี่ยงดังกล่าวไปยังหน่วยงานกำกับดูแลผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการใด ๆ ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

(3/3) จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

(3/4) แจ้งรายชื่อผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 ซึ่งไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายไปยังหน่วยงานกำกับดูแลผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

(3/5) ส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนเกี่ยวกับการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

(4) เก็บ รวบรวมข้อมูล สถิติ ตรวจสอบ และติดตามประเมินผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และวิเคราะห์รายงานหรือข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรม และประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

(5) เก็บรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(6) จัดให้มีโครงการที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ การให้การศึกษา และฝึกอบรมในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือช่วยเหลือหรือสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้มีการจัดโครงการดังกล่าว

(7) ปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น

มาตรา 41 ให้มีเลขาธิการคนหนึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานและเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีโดยจะให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานตามที่เลขาธิการมอบหมายก็ได้

เลขาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 42 ให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ตามผลการคัดเลือกตามมาตรา 25 (6) โดยความเห็นชอบของวุฒิสภา

มาตรา 43  เลขาธิการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง หรือกฎหมาย

(2) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ หรือดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งอธิบดี หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมขึ้นไป หรือรองหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งหัวหน้าส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่าปลัดกระทรวง

(3) ไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ

(4) ไม่เป็นกรรมการ ผู้จัดการ ที่ปรึกษา หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายกันหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในห้างหุ้นส่วน บริษัท สถาบันการเงินหรือประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพอย่างอื่น หรือประกอบการใด ๆ อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 44 เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว[82] 

ให้เลขาธิการได้รับเงินเพิ่มพิเศษเพื่อประกันความเป็นอิสระและเป็นกลางในอัตราซึ่งรวมกันกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแล้วเทียบเท่ากับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวงและให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษจนกว่าจะออกจากราชการ

ให้ข้าราชการของสำนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน และในการกำหนดให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษต้องคำนึงถึงภาระหน้าที่ คุณภาพของงาน และการดำรงตนอยู่ในความยุติธรรมโดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระบวนการยุติธรรมด้วย  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

มาตรา 45  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระแล้ว เลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) พ้นจากราชการไม่ว่าด้วยเหตุใด

(2) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 43

(3) คณะกรรมการมีมติให้ออก เนื่องจากมีเหตุบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนความสามารถ หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่สมควรไว้วางใจในความสุจริต โดยความเห็นชอบของวุฒิสภา

(4) ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

มาตรา 45/1 ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ผู้ซึ่งพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการจะไปดำรงตำแหน่งใด ๆ ในหรือเป็นลูกจ้างของหน่วยงานที่เป็นผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 มิได้

มาตรา 46 ในกรณีที่มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าบัญชีลูกค้าของสถาบันการเงิน เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ใด ถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการมอบหมายเป็นหนังสือจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลแพ่ง เพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงบัญชี ข้อมูลทางการสื่อสาร หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นก็ได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่งศาลจะสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ยื่นคำขอดำเนินการโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่ทั้งนี้ให้อนุญาตได้คราวละไม่เกินเก้าสิบวัน

เมื่อศาลได้สั่งอนุญาตตามความในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ผู้เกี่ยวข้องกับบัญชี ข้อมูลทางการสื่อสาร หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำสั่งดังกล่าว จะต้องให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรานี้

มาตรา 46/1 ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องจัดทำเอกสารหลักฐานหรือการอำพรางตนเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด การดำเนินคดีฐานฟอกเงิน หรือการดำเนินคดีเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา  46/2  เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของสำนักงานเป็นอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนของราชการทหารและตำรวจที่มีหรือใช้ในราชการตามมาตรา 5 (1) (ก) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และยุทธภัณฑ์ของสำนักงานเป็นยุทธภัณฑ์ของราชการทหารหรือตำรวจตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530

สำนักงานจะมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนและยุทธภัณฑ์ ชนิดใด ขนาดใด จำนวนเท่าใด ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

การมี ใช้ และพาอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และยุทธภัณฑ์ไปในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 47  ให้สำนักงานจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีอย่างน้อยให้มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

(1) รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้

(2) ปัญหาและอุปสรรคจากการปฏิบัติงาน

(3) รายงานข้อเท็จจริงหรือข้อสังเกตจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่พร้อมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะ

ให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง พร้อมด้วยข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

หมวด 6

การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน

มาตรา 48  ในการตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรม หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้คณะกรรมการธุรกรรมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินเก้าสิบวัน

ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน เลขาธิการจะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไปก่อนแล้วรายงานต่อคณะกรรมการธุรกรรม

การตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

ผู้ทำธุรกรรมซึ่งถูกสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินจะแสดงหลักฐานว่าเงินหรือทรัพย์สินในการทำธุรกรรมนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดก็ได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมหรือเลขาธิการ แล้วแต่กรณี สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นแล้ว ให้คณะกรรมการธุรกรรมรายงานต่อคณะกรรมการ

มาตรา 49  ภายใต้บังคับมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว

ในกรณีที่พนักงานอัยการเห็นว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์พอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนตกเป็นของแผ่นดินได้ ให้พนักงานอัยการรีบแจ้งให้เลขาธิการทราบเพื่อดำเนินการต่อไป โดยให้ระบุข้อที่ไม่สมบูรณ์นั้นให้ครบถ้วนในคราวเดียวกัน

ให้เลขาธิการรีบดำเนินการตามวรรคสองแล้วส่งเรื่องเพิ่มเติมไปให้พนักงานอัยการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หากพนักงานอัยการยังเห็นว่าไม่มีเหตุพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนตกเป็นของแผ่นดิน ให้พนักงานอัยการรีบแจ้งให้เลขาธิการทราบเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่ได้รับเรื่องจากเลขาธิการ และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใดให้พนักงานอัยการและเลขาธิการปฏิบัติตามนั้น หากคณะกรรมการมิได้วินิจฉัยชี้ขาดภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามความเห็นของพนักงานอัยการ

เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ให้ยื่นคำร้องหรือไม่วินิจฉัยชี้ขาดภายในกำหนดระยะเวลาและได้ปฏิบัติตามความเห็นของพนักงานอัยการตามวรรคสามแล้ว ให้เรื่องนั้นเป็นที่สุด และห้ามมิให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับบุคคลนั้นในทรัพย์สินเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ ซึ่งน่าจะทำให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของบุคคลนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ และในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าไม่มีผู้ใดขอรับคืนทรัพย์สินดังกล่าวภายในสองปีนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดไม่ให้ยื่นคำร้องหรือไม่วินิจฉัยชี้ขาดภายในกำหนดระยะเวลา ให้สำนักงานดำเนินการนำทรัพย์สินนั้นส่งเข้ากองทุน และในกรณีที่มีผู้มาขอรับคืนโดยใช้สิทธิขอรับคืนตามกฎหมายอื่นซึ่งสามารถทำได้ถึงแม้จะเกินกว่ากำหนดสองปี ให้สำนักงานส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้มาขอรับคืน หากไม่อาจส่งคืนทรัพย์สินได้ให้คืนเป็นเงินจากกองทุนแทน หากยังไม่มีผู้มารับคืนเมื่อล่วงพ้นห้าปี ให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของกองทุน  ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ การเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินหรือเงินในระหว่างที่ยังไม่มีผู้มารับคืน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

เมื่อศาลรับคำร้องที่พนักงานอัยการยื่นต่อศาลแล้ว ให้ศาลสั่งให้ปิดประกาศไว้ที่ศาลนั้น และประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นเพื่อให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอก่อนศาลมีคำสั่งกับให้ศาลสั่งให้ส่งสำเนาประกาศไปยังเลขาธิการเพื่อปิดประกาศไว้ที่สำนักงานและสถานีตำรวจท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่และถ้ามีหลักฐานแสดงว่าผู้ใดอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน ก็ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งให้ผู้นั้นทราบ เพื่อใช้สิทธิดังกล่าว การแจ้งนั้นให้แจ้งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่อยู่ครั้งหลังสุดของผู้นั้นเท่าที่ปรากฏในหลักฐาน

วรรคหก  (ยกเลิก) 

(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2563)

มาตรา  49/1 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหายส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งตามมาตรา 51 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายไม่เกินจำนวนความเสียหายที่ยังไม่ได้รับคืนหรือชดใช้คืน และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนหรือชดใช้ทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายแล้ว ให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว โดยให้นำความในมาตรา 49 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม  ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข้อเท็จจริง ให้สำนักงานประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

หากผู้เสียหายในความผิดมูลฐานได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายด้วย

ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามมาตรานี้ต้องเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดมูลฐานและไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น

ค่าเสียหายจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งกรณี  ทั้งนี้ คำสั่งศาลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองไม่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำความผิด

การรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายและความเสียหาย คำร้องและการยื่นคำร้อง และการเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สิน เพื่อนำไปคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 50  ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า

(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ

(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ

ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง โดยแสดงให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาซึ่งส่วนได้เสียโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ

มาตรา 51  เมื่อศาลทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา 49 แล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งที่เป็นเงินสดและเงินที่เกิดจากการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ ให้สำนักงานส่งเข้ากองทุนกึ่งหนึ่ง และส่งให้กระทรวงการคลังอีกกึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นทรัพย์สินอื่นให้ดำเนินการตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี

มาตรา 51/1 ในกรณีที่ศาลเห็นว่าทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าไม่มีผู้ใดขอรับคืนทรัพย์สินภายในสองปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว ให้สำนักงานนำทรัพย์สินนั้นส่งเข้ากองทุน

ในกรณีที่มีผู้มาขอรับคืนโดยใช้สิทธิขอรับคืนตามกฎหมายอื่นซึ่งสามารถทำได้ถึงแม้จะเกินกว่ากำหนดสองปีตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้มาขอรับคืน หากไม่อาจส่งคืนทรัพย์สินได้ให้คืนเป็นเงินจากกองทุนแทน หากยังไม่มีผู้มารับคืนเมื่อล่วงพ้นห้าปีให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของกองทุน ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ การเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินหรือเงินในระหว่างที่ยังไม่มีผู้มารับคืน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 52 ในกรณีที่ศาลเห็นว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ถ้าศาลไต่สวนคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 50 วรรคสอง แล้วเห็นว่าฟังขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา 49/1 หรือสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 โดยจะกำหนดเงื่อนไขด้วยก็ได้

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ หากผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 50 วรรคสอง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าส่วนได้เสียดังกล่าวเป็นส่วนได้เสียที่มีอยู่หรือได้มาโดยไม่สุจริต

มาตรา 52/1 ถ้าความปรากฏแก่ศาลเองหรือปรากฏตามคำร้องของพนักงานอัยการว่า ทรัพย์สินที่ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 หรือสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา 49/1 เป็นทรัพย์สินที่รวมเข้ากับทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจนไม่สามารถแบ่งแยกได้ หรือการแบ่งแยกจะทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหายหรือเสื่อมค่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามมาตรา 49/1 หรือสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สำนักงานนำทรัพย์สินที่รวมเข้ากันนั้นออกขายทอดตลาดและให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวไปคืนให้แก่เจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สิน และนำไปชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายหรือตกเป็นของแผ่นดินตามสัดส่วนมูลค่าแห่งทรัพย์สินที่รวมเข้ากันนั้น  ทั้งนี้ ให้นำระเบียบคณะกรรมการตามมาตรา 57 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การขายทอดตลาดด้วยโดยอนุโลม

ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการขายทอดตลาดและได้นำเงินตามจำนวนที่ศาลกำหนดโดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดในวันที่เจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและสัดส่วนมูลค่าแห่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่รวมเข้ากับทรัพย์สินนั้นให้สำนักงานไว้แทนภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ก็ให้ศาลสั่งงดการขายทอดตลาดและสั่งให้นำเงินดังกล่าวไปชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายหรือตกเป็นของแผ่นดินแทนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดและนำทรัพย์สินนั้นไปคืนให้แก่เจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียต่อไป

มาตรา 53  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของ ผู้รับโอน หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินนั้น ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่ากรณีต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 50 ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้นหรือกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย หากไม่สามารถคืนทรัพย์สินหรือคุ้มครองสิทธิได้ ให้ใช้ราคาหรือค่าเสียหายแทน แล้วแต่กรณี

คำร้องตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่คำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และผู้ร้องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น

ก่อนศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลแจ้งให้เลขาธิการทราบถึงคำร้องดังกล่าว และให้โอกาสพนักงานอัยการเข้ามาโต้แย้งคำร้องนั้นได้

มาตรา 54  ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 หากปรากฏว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มขึ้นอีก ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ และให้นำความในหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 55  หลังจากที่พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องตามมาตรา 49 หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย หรือยักย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เลขาธิการจะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำขอฝ่ายเดียวร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราวก่อนมีคำสั่งตามมาตรา 51 ก็ได้ เมื่อได้รับคำขอดังกล่าวแล้วให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน ถ้ามีหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าคำขอนั้นมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคำสั่งตามที่ขอโดยไม่ชักช้า

มาตรา 56  เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมหรือเลขาธิการ แล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินใดตามมาตรา 48 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามคำสั่ง แล้วรายงานให้ทราบพร้อมทั้งประเมินราคาทรัพย์สินนั้นโดยเร็ว

การยึดหรืออายัดทรัพย์สินและการประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้ ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 57  การเก็บรักษาและการจัดการทรัพย์สินที่คณะกรรมการธุรกรรม เลขาธิการหรือศาล แล้วแต่กรณี ได้มีคำสั่งยึดหรืออายัดไว้ตามหมวดนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีที่ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งไม่เหมาะสมที่จะเก็บรักษาไว้ หรือหากเก็บรักษาไว้จะเป็นภาระแก่ทางราชการมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เลขาธิการอาจสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินนั้นไปดูแลและใช้ประโยชน์โดยมีประกันหรือหลักประกันหรือให้นำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการแล้วรายงานให้คณะกรรมการทราบก็ได้

การให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทรัพย์สินไปดูแลและใช้ประโยชน์ การนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดหรือการนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ของทางราชการตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ถ้าความปรากฏในภายหลังว่า ทรัพย์สินที่นำออกขายทอดตลาดหรือที่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามวรรคสอง มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้คืนทรัพย์สินนั้นพร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามจำนวนที่คณะกรรมการกำหนด ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ถ้าไม่อาจคืนทรัพย์สินได้ ให้ชดใช้ราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ประเมินได้ในวันที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือตามราคาที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น แล้วแต่กรณี  ทั้งนี้ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่ได้รับคืนหรือชดใช้ราคา แล้วแต่กรณี

การประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 58  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดใด เป็นทรัพย์สินที่สามารถดำเนินการตามกฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นตามกฎหมายดังกล่าว หรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวแล้วแต่ไม่เป็นผล หรือการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากกว่า ก็ให้ดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้

ในการพิจารณาดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดใดตามวรรคหนึ่งลักษณะการกระทำความผิดที่สำนักงานดำเนินการจะต้องมีลักษณะที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ หรือเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติหรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม หรือผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน  ทั้งนี้ ลักษณะการกระทำความผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 59  การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในการนี้ ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง

หมวด 6/1

กองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

มาตรา 59/1   ให้จัดตั้งกองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินขึ้นในสำนักงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดังต่อไปนี้

(1) สนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดี การตรวจค้น การยึดหรืออายัด การบริหารจัดการทรัพย์สิน การแจ้งเบาะแส การคุ้มครองพยาน หรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งการสนับสนุนหน่วยงานอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการดำเนินการนั้น

(2) ส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเกี่ยวกับการเผยแพร่และการให้ข้อมูลข่าวสาร การประชุมหรือการจัดการศึกษาอบรม การร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

(3) ดำเนินกิจการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้

ภายใต้บังคับมาตรา 59/6 ให้คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดระเบียบการใช้จ่ายเงินเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 59/2   กองทุนตามมาตรา 59/1 ประกอบด้วยทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(1) ทรัพย์สินที่ให้นำส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 51

(2) ทรัพย์สินที่เก็บรักษาซึ่งไม่มีการขอรับคืนตามมาตรา 49 และมาตรา 51/1

(3) ทรัพย์สินที่มีผู้ให้

(4) ทรัพย์สินที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐของไทยหรือของต่างประเทศ

(5) ผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินตาม (1) (2) (3) และ (4)

มาตรา 59/3  กองทุนตามมาตรา 59/2 ให้เป็นของสำนักงานโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา 59/4  การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินกองทุน และการเก็บรักษาทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา 59/5   อำนาจหน้าที่ในการบริหาร การจัดการ การจัดหาผลประโยชน์ การจำหน่ายทรัพย์สินและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของกองทุน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา 59/6  ค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนอื่นใดซึ่งจำเป็นต้องจ่ายแก่หน่วยงานบุคคลภายนอกพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การดำเนินงานตามพระราชบัญญัตินี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นให้จ่ายจากกองทุน  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

มาตรา 59/7 ภายในหกเดือนนับจากวันสิ้นปีงบประมาณ ให้เลขาธิการเสนองบดุลและรายงานการจ่ายเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองต่อคณะกรรมการและรัฐมนตรี

หมวด 7

บทกำหนดโทษ

มาตรา 60  ผู้ใดกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 61 นิติบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรา 5 มาตรา 7 มาตรา 8 หรือมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

ในกรณีที่การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งของนิติบุคคลเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 61/1 นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดใช้หรือสั่งการให้คณะกรรมการธุรกรรม เลขาธิการ รองเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สิน หรือยับยั้งการทำธุรกรรม ยึดหรืออายัด หรือปฏิบัติการอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมิให้พยานหลักฐานตามสมควรเพื่อกลั่นแกล้งหรือให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง หรือกระทำการดังกล่าวโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสามสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรั

กรรมการธุรกรรม เลขาธิการ รองเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดปฏิบัติตามการใช้หรือการสั่งการตามวรรคหนึ่งโดยมิชอบด้วยพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสามสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหกแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 61/2 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 45/1 ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสามเท่า แต่ไม่เกินหกเท่าของค่าตอบแทนและรายได้อื่นที่ได้จากการทำงานนั้นคำนวณเป็นรายปี แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท

มาตรา 62 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 16 มาตรา 20 มาตรา 20/1 มาตรา 21 มาตรา 21/2 วรรคหนึ่ง มาตรา 22 มาตรา 22/1 มาตรา 35 หรือมาตรา 36 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่สั่งตามมาตรา 16/1 หรือมาตรา 21/2 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 13 และมาตรา 16 ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21/3 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา 63[114]   ผู้ใดรายงานหรือแจ้งตามมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 16 หรือมาตรา 21 โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 64  ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือไม่ส่งบัญชีเอกสารหรือหลักฐานตามมาตรา 38 (1) หรือ (2) หรือขัดขวางหรือไม่ให้ความสะดวกตามมาตรา 38 (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกระทำการใด ๆ ให้บุคคลอื่นล่วงรู้ข้อมูลที่เก็บรักษาไว้ตามมาตรา 38 วรรคสี่ เว้นแต่การปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือตามกฎหมาย ต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 64/1 ความผิดตามมาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 64 ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่คณะกรรมการแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้

คณะกรรมการเปรียบเทียบให้มีจำนวนห้าคน ประกอบด้วยเลขาธิการเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสองคน พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหนึ่งคน โดยมีข้าราชการในสำนักงานที่เลขาธิการมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการเปรียบเทียบกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 64/2  ความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามมาตรา 62 ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา 64/1 ภายในสองปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดและรายงานให้เลขาธิการทราบ หรือภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 65  ผู้ใดยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารหรือบันทึก ข้อมูล หรือทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้ หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 66 ผู้ใด

(1) ฝ่าฝืนมาตรา 21/1 หรือ

(2) รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือตามกฎหมาย 

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน  หลีกภัย

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบอาชญากรรมซึ่งกระทำความผิดกฎหมายบางประเภท ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้นมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ทำให้ยากแก่การปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายเหล่านั้น และโดยที่กฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่สามารถปราบปรามการฟอกเงินหรือดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินนั้นได้เท่าที่ควร  ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมดังกล่าว สมควรกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พ.ศ. 2546

มาตรา 2  พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญากำหนดความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายและเนื่องจากการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนทำให้การก่อการร้ายรุนแรงยิ่งขึ้น อันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ขอให้ทุกประเทศร่วมมือดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำที่เป็นการก่อการร้าย รวมถึงการสนับสนุนทางทรัพย์สินหรือกรณีอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์จะนำไปใช้ดำเนินการก่อการร้ายเพื่อแก้ไขปัญหาให้การก่อการร้ายยุติลงด้วย สมควรกำหนดให้ความผิดฐานก่อการร้ายเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อนำมาตรการตามกฎหมายดังกล่าวมาใช้ควบคู่กัน ซึ่งจะทำให้การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องนี้เป็นไปอย่างได้ผล โดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยสาธารณะ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 28  ให้เลขาธิการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นเลขาธิการตามพระราชบัญญัตินี้และปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ในการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมให้ลดน้อยลงหรือหมดสิ้นไปได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และจากการที่กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมุ่งเน้นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมเฉพาะในแปดความผิดมูลฐาน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาไม่อาจช่วยให้การตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมลดน้อยลงหรือหมดไปได้สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดไว้  ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันผู้กระทำความผิดอาญามูลฐานอื่นนอกเหนือจากแปดความผิดมูลฐานดังกล่าวยังสามารถนำเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในแต่ละคราวมาใช้ในการสนับสนุนการกระทำความผิดอาญาในแปดความผิดมูลฐานได้อีก นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนในการบังคับใช้กฎหมายบางประการไม่อาจดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว  ดังนั้น เพื่อให้การตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมเป็นไปอย่างได้ผลตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างแท้จริง ในขณะที่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินสามารถดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำเป็นต้องกำหนดให้การกระทำความผิดอาญาฐานอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือต่อความมั่นคงแห่งรัฐหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นความผิดมูลฐาน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552

มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับความผิดมูลฐานได้ใช้ช่องทางจากการประกอบอาชีพบางประเภทซึ่งมิใช่การดำเนินการของสถาบันการเงินเป็นแหล่งในการฟอกเงิน นอกจากนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการแสดงตนของลูกค้าของสถาบันการเงินที่ยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไม่ครอบคลุมถึงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เพื่อให้มีรายละเอียดของข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบอาชญากรรมนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการฟอกเงินได้โดยง่าย ดังนั้น เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพบางประเภทมีหน้าที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการแสดงตนและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าของสถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพบางประเภทให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556

มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดให้การกระทำความผิดอาญาร้ายแรงบางฐานความผิดเป็นความผิดมูลฐานส่งผลให้ผู้กระทำความผิดสามารถนำเงินและทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดมาใช้สนับสนุนการกระทำความผิดอาญาได้อีก จึงเห็นควรกำหนดความผิดมูลฐานเพิ่มเติมและกำหนดกรอบของความผิดมูลฐานให้ชัดเจนเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่จะกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินและเสนอแนะแนวทางเพื่อป้องกันความเสี่ยง กำหนดเรื่องมาตรการคุ้มครองพยาน เรื่องตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษที่จะได้รับเงินเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนและให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสนับสนุนการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดหรือการดำเนินการกับทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ  ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558

มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 51  ให้เลขาธิการซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นเลขาธิการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ โดยให้ถือว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

เมื่อบุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการตามวรรคหนึ่งครบวาระแล้ว คณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือตำแหน่งอื่นใดในหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งมีตำแหน่งที่เทียบเท่า  ทั้งนี้ โดยได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ และสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิมได้

มาตรา 52  ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการ และคณะกรรมการธุรกรรมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังไม่ได้แต่งตั้งดังกล่าวให้กรรมการในคณะกรรมการและคณะกรรมการธุรกรรมซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการหรือคณะกรรมการธุรกรรม ขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในระหว่างเวลาดังกล่าว หากมีตำแหน่งว่างลง ให้คณะกรรมการ หรือคณะกรรมการธุรกรรม ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

มาตรา 53  เรื่องใดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ตามมาตรา 58 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการพิจารณายุติการดำเนินการและให้สำนักงานดำเนินการส่งเรื่องคืนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร็ว เว้นแต่คณะกรรมการจะมีมติให้ดำเนินการต่อไปเป็นการเฉพาะราย

มาตรา 54  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือโดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมต่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในปัจจุบัน จึงเห็นควรปรับปรุงบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐาน สถาบันการเงิน ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และลักษณะการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน การรายงานการทำธุรกรรม การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและการจัดฝึกอบรม และกำหนดระยะเวลาการเก็บรักษาทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน และการช่วยเหลือผู้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ และเพิ่มอำนาจหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการประเมินความเสี่ยง การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และแจ้งรายชื่อผู้มีหน้าที่รายงานซึ่งกระทำการฝ่าฝืนไปยังหน่วยงานกำกับดูแลและส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติการอำพราง การมีและใช้อาวุธปืนในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม และกำหนดวิธีการในการคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและกำหนดเงื่อนไขเมื่อพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง  ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการและเลขาธิการดังกล่าวเป็นไปโดยอิสระ และการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560

มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 54 เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6 และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวทำนองเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 74 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 78 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 28/4 และพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา 72/5 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6  ดังนั้น เพื่อแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 38/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ข้อ 5  ให้บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ

ให้การดำเนินการเพื่อให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามคำสั่งนี้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่

ข้อ 6  ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้

ข้อ 7  คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2565

มาตรา 2  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ อนามัย หรือชื่อเสียง ไว้อย่างชัดเจน และบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในทรัพย์สินดังกล่าว อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติที่ให้ดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นถูกรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น  ดังนั้น เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 



พระราชบัญญัติ ต่าง ๆ

โทษการเล่นพนันไพ่บาการา, โทษจัดให้มีการเล่นพนันสล๊อทแมชีน
โทษการพนันออนไลน์ พ.ร.บ.การพนัน, การโฆษณาชักชวนเล่นพนันออนไลน์,
พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524
พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. ๒๕๕๘
พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478
พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติโรงรับจำนำพ.ศ. 2505
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522
พระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2542
พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม