

ศาลแขวงพิพากษาลงโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ ศาลแขวงพิพากษาลงโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2550 ศาลแขวงโดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว จะพิพากษาลงโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมาย ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องก่อน พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้ (1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง (2) ไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย (3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา (4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (3) (4) หรือ (5) คดีนี้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงแรกเป็นเงิน 30,000 บาท และกระทงที่สองเป็นเงิน 25,000 บาท โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูกมาตรา 4 (1) (2)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 กระทงแรก 60,000 บาท กระทงที่สอง 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงแรก 1 ปี กระทงที่สอง 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 กระทงแรก 30,000 บาท กระทงที่สอง 25,000 บาท รวมปรับ 55,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงแรก 6 เดือน กระทงที่สอง 3 เดือน รวมจำคุก 9 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับเช็คพิพาท กระทงที่สอง (ฉบับที่สั่งจ่ายเงิน 500,000 บาท) คงลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงกระทงเดียว ให้ปรับ 60,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 30,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงแรกเป็นเงิน 30,000 บาท และกระทงที่สองเป็นเงิน 25,000 บาท โดยมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้น ซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ ให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ. |