

เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ กรณีเอาเงินภาษีของ อบต.ไปใช้ อยากทราบว่ากรณีที่เจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีนำเงินภาษีไปใช้ประมาณ 50000 บาท(นำไปบางส่วนของเงินภาษีทั้งหมด)ในทางคดีแล้วแนวทางจะเป็นไปทางไหนได้บ้าง บทลงโทษจะเป็นยังไงบ้าง ศาลจะพิจารณาอะไรบ้าง (มีแนวทางที่ศาลจะรอลงอาญาหรือเปล่าถ้ามีต้องทำยังไงบ้าง) อยากทราบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับคดีในลักษณะนี้ครับ ขอบคุณครับ จากผู้บังคับบัญชาขั้นต้น คำตอบ เป็นพนักงานของรัฐมีหน้าที่จัดเก็บภาษีนำเงินภาษีที่เก็บได้ไปใช้ส่วนตัวก็เป็นการเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นของตนโดยทุจริต มีความผิดฐานยักยอกมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึงยี่สิบปีหรือตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การรอการลงโทษจำคุก มาตรา 147 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพัน บาทถึงสี่หมื่นบาท คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2537 จำเลยได้รับแต่งตั้งให้รักษาการตำแหน่งสมุห์บัญชีอำเภอ มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรส่งคลังจังหวัด เมื่อรับเงินค่าภาษีแล้วต้องออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ชำระเงินบางราย จำเลยไม่ออกให้บางรายออกให้ไม่ตรงตามจำนวนเงินที่รับไว้แล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไป จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เบียดบังทรัพย์เป็นประโยชน์ตนโดยทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 147 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดกรมสรรพากรกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม2527 เวลากลางวัน จำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี2526 แก่ผู้มายื่นเสียภาษีให้ผิดไปจากความจริงแล้วเรียกเก็บเงินค่าภาษีจากผู้ยื่นเสียภาษีจำนวน 16 รายเป็นเงิน 15,088 บาท และวันที่ 2 เมษายน 2527 เวลากลางวัน จำเลยประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2526 แก่ผู้มายื่นเสียภาษีให้ผิดไปจากความจริงแล้วเรียกเก็บเงินค่าภาษีจากผู้ยื่นเสียภาษีจำนวน 5 ราย เป็นเงิน5,010 บาท โดยจำเลยไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินและเบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าว เป็นประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 154, 157, 91 ที่แก้ไขแล้ว และคืนหรือใช้เงิน 20,098 บาท แก่สำนักงานสรรพากรกิ่งอำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 การกระทำเป็นหลายกรรมแต่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2527 เป็นกรรมเดียวให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี จำเลยกระทำความผิดในวันที่2 เมษายน 2527 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เมื่อจำเลยมีความผิดตามมาตรา 147 แล้ว จึงไม่ปรับโทษจำเลยตามมาตรา 157ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ให้จำคุก 5 ปี รวมเป็นลงโทษจำคุก 10 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 4,000.76 บาทแก่ผู้เสียหายและคืนเงิน 16,088.24 บาทแก่สำนักงานสรรพากรกิ่งอำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงิน4,000.76 บาทให้แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่าผู้เสียหายต่างเบิกความยืนยันว่า ได้ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระเงินค่าภาษีด้วยตนเองไว้กับจำเลย คงมีแต่นายพงษ์สุวรรณ -ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระเงินค่าภาษีกับนายสมศักดิ์ แล้วนายสมศักดิ์นำไปส่งมอบให้จำเลย ส่วนนายอำนวย -ไม่ได้ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีด้วยตนเอง โดยให้นายเมียนพินเป็นผู้ดำเนินการแทน แต่พยานเคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การผู้ร้องทุกข์เอกสารหมาย ปจ.1 ตรวจดูเอกสารดังกล่าวแล้ว นายอำนวยให้การว่านายเมียนพินยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแทนนายอำนวย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2527 โดยหักเงินเดือนของนายอำนวย ชำระเงินค่าภาษีให้กับเจ้าหน้าที่สรรพากรกิ่งอำเภอโพนทรายไปแล้ว 650 บาท เจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จรับเงินให้ภายหลัง แต่พยานก็ไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน ส่วนนายแพง -นายประหยัด - ผู้เสียหาย 2 คนนี้ไม่ได้ตัวมาเบิกความเนื่องจากตายไปแล้ว แต่โจทก์ส่งคำให้การชั้นสอบสวนของบุคคลทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.23 และ จ.24 ซึ่งบุคคลทั้งสองให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระเงินค่าภาษีให้แก่จำเลยโดยไม่ออกใบเสร็จรับเงินเช่นเดียวกับผู้เสียหายอื่น ๆ นอกจากนี้โจทก์มีนายชลอ - สรรพากรจังหวัดร้อยเอ็ด และนายสมทรง -สมุห์บัญชีกิ่งอำเภอโพนทรายเป็นพยานโดยนายชลอ ยืนยันว่า เมื่อปี 2527 ได้ตรวจสอบผู้มีเงินได้ ปี 2526 ว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ปรากฏว่าผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นข้าราชการครูและตำรวจกิ่งอำเภอโพนทรายไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี 37 รายรวมทั้งผู้เสียหาย คดีนี้ จึงได้ออกหนังสือเตือนนายไพรัตน์ ผู้เสียหายกับพวกให้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อจำเลยนายสมทรงยืนยันว่ารับมอบงานต่อจากจำเลย ตรวจต้นขั้วใบเสร็จรับเงินปรากฏว่าจำเลยออกใบเสร็จรับเงินให้นายพงษ์สุวรรณ นายบุญทัน นายถาวรนายสุนันท์ ผู้เสียหายไว้ตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.13 ซึ่งลายมือชื่อผู้รับเงินในเอกสารดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับลายมือชื่อผู้รับเงินในแบบแสดงรายการเสียภาษีเอกสารหมาย ล.8 ที่จำเลยรับว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยออกให้แก่นายถาวร จึงฟังว่าจำเลยออกใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.13 ถ้าหากจำเลยไม่ได้รับชำระเงินค่าภาษีจากนายพงษ์สุวรรณ นายบุญทัน นายถาวรนายสุนันท์ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องออกใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.13 ดังนั้น เมื่อพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายนายชลอ นายสมทรง โดยตระหนักแล้ว ฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งหมดยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด.91) และชำระเงินค่าภาษีไว้กับจำเลยตามที่โจทก์นำสืบจริง และเมื่อจำเลยรับชำระเงินค่าภาษีนั้นไว้แล้วจำเลยไม่ได้นำเงินค่าภาษีที่จำเลยรับไว้ทั้งหมดส่งคลังจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นรายได้ของรัฐตามหน้าที่และไม่ลงบัญชีไว้ให้ถูกต้องจนกระทั่งเมื่อนายชลอสรรพากรจังหวัดร้อยเอ็ดตรวจสอบการเสียภาษีของผู้เสียภาษีดังกล่าวโดยเข้าใจว่าบุคคลเหล่านั้นยังไม่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีประจำปี 2526 และได้ออกหนังสือเตือนให้มายื่นแบบแสดงรายการภาษีจึงทราบว่าผู้เสียภาษีดังกล่าวได้ชำระเงินค่าภาษีไว้กับจำเลยแล้ว แต่จำเลยส่งเงินที่รับไว้เป็นรายได้ของรัฐเพียง 1,565 บาท ยังขาดส่งเงินที่จะต้องส่งอยู่16,088.24 บาท และเงินจำนวนที่ขาดส่งนี้ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าจำเลยได้เบียดบังไปเป็นประโยชน์ของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย... ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีอำนาจและหน้าที่ประเมินภาษีเงินได้ให้แก่ผู้เสียภาษี การรับเงินค่าภาษีจะต้องออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้เสียภาษีทันที เมื่อได้รับเงินแล้วไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้เป็นการทำนอกหน้าที่ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า จำเลยได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งสมุห์บัญชีอำเภอกิ่งอำเภอโพนทราย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร อันได้แก่การประเมินภาษี รับชำระภาษีเก็บรักษาเงินค่าภาษีและนำส่งคลังจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นเงินรายได้แผ่นดิน เมื่อผู้เสียภาษีชำระเงินค่าภาษีแล้ว จำเลยจะต้องออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้เสียภาษี หากจำเลยไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ก็ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มิใช่เป็นการทำนอกหน้าที่ดังที่จำเลยเข้าใจ และการที่จำเลยรับเงินจากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอากรเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย เมื่อจำเลยรับเงินค่าภาษีจากผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแล้วไม่ออกใบเสร็จรับเงินบ้างออกใบเสร็จรับเงินไม่ตรงตามจำนวนที่รับเงินไว้บ้าง เงินจำนวนดังกล่าวส่วนที่ผู้ต้องเสียภาษีชำระตามที่กฎหมายกำหนดย่อมตกเป็นรายได้ของรัฐแล้ว แม้จำเลยจะไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ การที่จำเลยเบียดบังเอาเงินส่วนนี้ที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไป การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้... แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรับบทลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้นนั้นยังไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง" พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147, 157 จำเลยกระทำความผิดรวม 2 กระทง การกระทำของจำเลยแต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมเป็นจำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หมายเหตุ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นมาตรการทางกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมเจ้าพนักงานของรัฐให้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ของตนภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่และระเบียบแบบแผน จึงต้องเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ การกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่จึงมีบทลงโทษรุนแรงกว่าความผิดที่ประชาชนกระทำต่อเจ้าพนักงาน ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติคุณแห่งตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าพนักงานให้รักษาหน้าที่โดยเคร่งครัดซื่อสัตย์สุจริต การปกครองบ้านเมืองจะดำเนินไปด้วยดีได้ก็ต้องอาศัยการที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัดและซื่อสัตย์สุจริต ถ้าเจ้าพนักงานทุจริตเสียเองย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปกครองบ้านเมืองได้อย่างมากมาย(ศาสตราจารย์โชคจารุจินดา, คำบรรยายกฎหมายอาญา, แผนกตำราและคำบรรยายคณะรัฐศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า 117, พ.ศ. 2508) การจัดเก็บภาษีอากรของรัฐนับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะรายได้สำคัญที่สุดมาจากภาษีอากร ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน แต่รัฐจำเป็นต้องป้องกันโดยมีมาตรการลงโทษทางอาญาสูงมากดังปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ถึงมาตรา 166 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการทรัพย์หรือรักษาทรัพย์ หากเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือแม้โดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียก็เป็นความผิดแล้ว เรียกกันสั้น ๆ ว่าเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่2,000 บาท ถึง 40,000 บาท โปรดสังเกตว่าโทษจำคุกรุนแรงมาก คือมีขั้นต่ำตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปไม่ว่าจะยักยอกทรัพย์มีมูลค่ามากน้อยเพียงใด คดีตามหัวข้อหมายเหตุเป็นเรื่องเจ้าพนักงานจัดเก็บภาษีอากรยักยอกทรัพย์ ซึ่งทางปฏิบัติแล้ว เจ้าพนักงานเหล่านี้ต้องเกี่ยวข้องกับเงินภาษีอากรอยู่เสมอ โอกาสที่จะกระทำความผิดตามมาตรานี้จึงมีสูงมาก และนอกจากนั้นการกระทำดังกล่าวแม้จะมีความผิดตามมาตรา147 แล้ว ยังมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทลงบทหนักตามมาตรา 90 กล่าวคือ ต้องลงโทษตามมาตรา 147 อันเป็นบทหนักที่สุด การจัดเก็บภาษีของรัฐในปัจจุบันอาจจำแนกออกเป็นภาษีส่วนกลางและภาษีส่วนท้องถิ่น ภาษีส่วนกลาง เช่น ภาษีสรรพากร ตามประมวลรัษฎากร ภาษีส่วนท้องถิ่น เช่นภาษีโรงเรือนและที่ดิน มีข้อสังเกตว่าในส่วนของภาษีส่วนท้องถิ่นนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยาและปัจจุบันคงลงไปถึงตำบลคือสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลอันเป็นบทกฎหมายล่าสุดซึ่งให้มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีท้องถิ่นในท้องที่ของตน พนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านี้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย หากมีหน้าที่จัดเก็บภาษีท้องถิ่น แล้วยักยอกเอาไปเสียโดยทุจริตย่อมมีความผิดตามมาตรา 147 และอาจมีความผิดตามมาตรา 157 ด้วย การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นการหนึ่งที่จะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเกรงกลัวต่อกฎหมายขื่อแปของบ้านเมือง ทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกให้มีความรับผิดชอบต่อท้องถิ่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่มุ่งให้มีการเลือกตั้งในท้องถิ่นและมีอิสระในการปกครองตนเอง พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา
พนักงานเก็บเงินค่าทางด่วน รับเงินจากผู้ใช้ทางแล้วส่งเงินไม่ครบถ้วนเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริตแม้ต้นขั้วใบเสร็จกับเงินจะตรงกันก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้ทางด่วนบางคนไม่ต้องการ เมื่อเครื่องตรวจจับที่พื้นถนนนับรถยนต์ที่วิ่งผ่านมีข้อมูลไม่ตรงกับเงินที่นำส่งจึงเป็นการยืนยันว่าพนักงานทุจริต การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บเงินทุกคน โดยให้พนักงานเก็บเงินกดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่านและประเภทของการจ่ายเงิน หากไม่กดจะไม่มีจำนวนเงินปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะเป็นตัวฟ้องว่ามีรถผ่านโดยมีเสียงสัญญาณดังขึ้น และพนักงานควบคุมจะทราบเพราะเครื่องทำงานไม่ครบวงจร ดังนั้น การที่จำเลยรับเงินจากรถที่วิ่งผ่านทางด่วนแล้วไม่กดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือกดแป้นพิมพ์แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะตรวจนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านเอง แต่เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาเปรียบเทียบกันแล้วปรากฏว่าจำเลยส่งเงินขาดจำนวน8 ครั้ง เป็นเงิน 153,700 บาท แม้ว่าจะไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่าจำเลยเบียดบังเงินค่าผ่านทาง แต่เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาเงินโดยชอบแม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้น รวมทั้งเป็นผู้รับเงินและรวบรวมนำส่งต่อไปอันถือว่าเป็นการจัดการทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ได้รับเงินค่าผ่านทางมาแล้วและไม่ส่งเงินให้ครบ จึงถือว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าจำนวนเงินตามใบส่งตรงกับต้นขั้วใบเสร็จรับเงินอันเป็นสิ่งแสดงว่าจำเลยมิได้ทุจริตนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับใบเสร็จรับเงินมาเพื่อจ่ายให้แก่รถที่ใช้ทางด่วนทุกคัน หากผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องการใบเสร็จรับเงิน จำเลยต้องฉีกใบเสร็จรับเงินนั้นด้วย แต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่าจำนวนรถที่วิ่งผ่านมาปริมาณมากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกแสดงว่าจำเลยรับเงินมามากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกออกไป ฉะนั้น แม้จำนวนเงินที่จำเลยส่งจะตรงกับจำนวนใบเสร็จรับเงินก็มิได้เป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ทุจริตแต่อย่างใด โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นพนักงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตำแหน่งพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษระดับ 2 มีหน้าที่เก็บเงินค่าผ่านทางจากผู้ใช้รถยนต์ผ่านทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และเก็บรักษาไว้เพื่อส่งมอบแก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยตามหน้าที่ จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้ปฏิบัติหน้าที่เก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระกันคือ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2539ระหว่างเวลา 6 นาฬิกา ถึง 14 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 27,450 บาท เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2539ระหว่างเวลา 6 นาฬิกา ถึง 14 นาฬิกา จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 29,280 บาท เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 เวลา 14 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกาต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 26,070 บาท เมื่อระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2539เวลา 22 นาฬิกา ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 เวลา 6 นาฬิกาต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 16,170 บาท เมื่อวันที่ 22ธันวาคม 2539 เวลา 14 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกาต่อเนื่องกันจำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 29,500 บาท เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2540ระหว่างเวลา 14 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกาต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 710 บาท เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2540 ระหว่างเวลา 14 นาฬิกาถึง 22 นาฬิกาต่อเนื่องกัน จำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 11,140 บาท และเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2540 ระหว่างเวลา 6 นาฬิกา ถึง 14 นาฬิกาจำเลยเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนแล้วเบียดบังเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตจำนวน 13,400 บาท รวมเป็นเงินค่าผ่านทางด่วนที่จำเลยเบียดบังเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้นจำนวน 153,720บาท เหตุเกิดที่แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 91และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 153,720 บาท แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยกระทำความผิดรวม 8 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 40 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 153,700 บาท แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยคำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยเป็นพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางพิเศษ ระดับ 2 ประจำด่านบางนาและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่เก็บเงินค่าผ่านทางจากผู้ใช้รถผ่านทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสุนัยสุขสมบูรณ์ นางสาวสายทอง ไตรศัพท์ นางวรารัตน์ แก้วโชติ นางสาวละเมียด มโนเกื้อกูล นางสายหยุด สุ่นศักดิ์สวัสดิ์ และนายปัญญาไชยยานนท์ พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในการทำงานของพนักงานเก็บเงิน พนักงานมีหน้าที่กดปุ่มที่แป้นพิมพ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่านและประเภทของการจ่ายเงินหากพนักงานไม่กดปุ่มเวลาที่รถแล่นผ่านหรือกดแต่ประเภทรถไม่ได้กดประเภทของการจ่ายเงิน ก็จะมีเสียงสัญญาณยูเอพีหรือพลการดังขึ้นซึ่งหมายความว่าเก็บเงินรถคันดังกล่าวไม่ได้ พนักงานที่อยู่บนหอควบคุมจะโทรศัพท์มาสอบถามและให้แก้ไขข้อมูล และบนพื้นถนนก่อนที่รถยนต์จะผ่านเข้าช่องทางด่วนในแต่ละช่องจะมีเครื่องตรวจจับรถยนต์เรียกว่า "เอวีซี" ซึ่งจะตรวจนับรถยนต์ที่แล่นผ่านโดยการตรวจจับโลหะ เพลา ล้อคู่ วัดความสูง และความยาวของตัวรถมากกว่าสามเมตร ข้อมูลที่ได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงานเก็บเงินแต่ละคนจะนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในชุดตรวจจับหรือ "เอวีซี"ที่พื้นถนน นายปัญญาเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของจำเลยพบว่าในวันที่ 2 ธันวาคม 2539 จำเลยส่งเงินขาดไป 27,440 บาท วันที่ 3 ธันวาคม 2539 ขาดไป 29,280 บาท วันที่ 13 ธันวาคม2539 ขาดไป 26,070 บาท วันที่ 15 ธันวาคม 2539 ขาดไป 16,170บาท วันที่ 22 ธันวาคม 2539 ขาดไป 29,500 บาท วันที่ 9 มกราคม2540 ขาดไป 700 บาท วันที่ 12 มกราคม 2540 ขาดไป 11,140 บาทและวันที่ 22 มกราคม 2540 ขาดไป 13,400 บาท ตามสำเนาบันทึกสรุปรายงานส่งเงินเข้าธนาคารเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.10 รวมเป็นเงิน153,700 บาท ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยเก็บเงินได้ตามจำนวนที่ตรวจสอบได้และเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปนั้นเห็นว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีการตรวจสอบในการปฏิบัติงานของพนักงานเก็บเงินทุกคนเพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากความละโมบของพนักงานที่ต้องอยู่กับเงินตลอดเวลาและเกิดความยากได้ โดยให้พนักงานเก็บเงินกดแป้นพิมพ์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ตามประเภทของรถที่ผ่านและประเภทของการจ่ายเงิน หากไม่กดจะไม่มีจำนวนเงินปรากฏในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่เครื่องตรวจจับที่พื้นถนนจะเป็นตัวฟ้องว่ามีรถผ่าน โดยมีเสียงสัญญาณดังขึ้นและพนักงานควบคุมจะทราบเพราะเครื่องทำงานไม่ครบวงจร ดังนั้นการที่จำเลยได้รับเงินจากรถที่วิ่งผ่านทางด่วนแล้วไม่กดแป้นพิมพ์เครื่องคอมพิวเตอร์หรือกดแป้นพิมพ์แล้วเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทำงานหรือขัดข้องตามที่จำเลยกล่าวอ้าง เครื่องตรวจจับหรือ "เอวีซี"จะตรวจนับจำนวนรถที่วิ่งผ่านเอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วจะประเมินผลและคำนวณยอดออกมาว่าจำเลยส่งเงินขาดหรือเกินจำนวนเท่าใด จากการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยส่งเงินขาดจำนวน 8 ครั้ง ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.10 แม้จะไม่มีพยานบุคคลมายืนยันว่าจำเลยเบียดบังเงินที่จำเลยเก็บค่าผ่านทางมาได้แต่เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าผ่านทางมาแล้วและไม่ส่งเงินให้ครบโดยมีเอกสารเป็นพยานหลักฐาน ฟังได้ว่าจำเลยมีหน้าที่รักษาเงินโดยชอบแม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้นก็ตาม อีกทั้งการรับเงินแล้วรวบรวมนำส่งต่อไปนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการจัดการทรัพย์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 แล้วการนำส่งเงินไม่ครบถือได้ว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าจำนวนเงินตามใบส่งตรงกับต้นขั้วใบเสร็จรับเงินจึงเป็นหลักฐานสำคัญว่าจำเลยไม่ได้ทุจริตก็ตาม ในกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องจำเลยได้รับใบเสร็จรับเงินมาเพื่อจ่ายให้แก่รถที่ใช้ทางด่วนทุกคันตามประเภทและราคาของรถ หากผู้ใช้ทางด่วนไม่ต้องการใบเสร็จจำเลยต้องฉีกใบเสร็จรับเงินนั้นด้วย แต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่าจำนวนรถที่วิ่งผ่านมีปริมาณมากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกแสดงว่าจำเลยรับเงินมามากกว่าจำนวนใบเสร็จรับเงินที่จำเลยฉีกออกไป แม้จำนวนเงินที่จำเลยส่งจะตรงกับจำนวนใบเสร็จก็มิได้เป็นการยืนยันว่าจำเลยไม่ได้ทุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน |