ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ลูกจ้างในโรงพยาบาลของรัฐลักทรัพย์ในเวลางานเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดามิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ลูกจ้างในโรงพยาบาลของรัฐอันถือว่าเป็นสถานที่ราชการลักเอายาของโรงพยาบาลไป มีความผิดฐานใด? คำตอบในเรื่องนี้ ตาม ป.อาญา มาตรา 335 (8) บัญญัติว่า มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์ (8) ...ในสถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้ บริการสาธารณที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต...ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาท ถึงหนึ่งหมื่นบาท แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9559/2552 ศาลฎีกาตัดสินว่า โรงพยาบาลที่เกิดเหตุเป็นที่ทำงานของลูกจ้างลูกจ้างลักทรัพย์ในเวลางานจึงมิใช่เป็นเรื่องที่ลูกจ้างเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจึงลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของลูกจ้างย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดามิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9559/2552 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่า มีการตรวจพบยาและเครื่องเวชภัณฑ์รวม 8 รายการ ราคา 25,779.64 บาท อยู่ในถุงพลาสติกที่จำเลยถือขณะกำลังจะเดินออกจากห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน ข้อที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามส่อเป็นการหาตัวผู้มารับโทษเกี่ยวกับยาที่สูญหาย ไปนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยนี้ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอแก่การรับฟัง ส่วนการตรวจถุงพลาสติกที่ไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลยโดยนางสาวน้ำฝนให้เหตุผลว่า เนื่องจากเกรงว่าจะผิดใจกับจำเลย ก็เป็นข้ออ้างที่สมเหตุสมผลจึงเชื่อได้ว่ามีการตรวจพบยาและเครื่องเวชภัณฑ์รวม 8 รายการ อยู่ในถุงพลาสติกจริง จำเลยถือถุงดังกล่าวขณะกำลังจะเดินออกจากห้องจ่ายยาผู้ป่วยใน แต่เมื่อนางสาวน้ำฝนพบเห็นและห้ามไม่ให้จำเลยนำถุงดังกล่าวออกไป จำเลยก็เชื่อฟัง อันเป็นข้อที่แสดงว่าจำเลยทราบเป็นอย่างดีถึงเรื่องที่นายธงชัยมีคำสั่งห้ามนำถุงหรือสิ่งของที่มีลักษณะปกปิดออกจากห้องเนื่องจากก่อนหน้านี้มียาสูญหายไป ข้อเท็จจริงได้ความว่าภายในถุงพลาสติกมีกล่องใส่ยาเปล่าจำนวนหลายกล่องและกล่องใส่ยาซึ่งมียาบรรจุอยู่ที่ยังไม่ได้เปิดรวม 8 รายการตามฟ้อง และจำเลยยังเบิกความยอมรับว่า จำเลยเป็นคนเอายาออกวางไว้บนชั้นแล้วเอากล่องใส่ยาเปล่าใส่ไว้ในถุงพลาสติกเอง หากภายในถุงดังกล่าวมีแต่กล่องใส่ยาเปล่าและจำเลยจะนำไปขาย โดยไม่มียาและเครื่องเวชภัณฑ์ที่ยังไม่ได้ใช้อยู่ในถุง จำเลยย่อมสามารถที่จะอธิบายและเปิดถุงดังกล่าวให้นางสาวน้ำฝนดูได้ แต่จำเลยกลับไม่กระทำเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ทั้งไม่มีบุคคลอื่นใดที่จะได้รับประโยชน์จากการที่มียาและเครื่องเวชภัณฑ์ติดไปกับถุงซึ่งจำเลยจะเอาไปขาย พฤติกรรมของจำเลยมีพิรุธ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยลักยาและเครื่องเวชภัณฑ์รวม 8 รายการ ของผู้เสียหายไป ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยเอายาและเครื่องเวชภัณฑ์ใส่ไว้ในถุงพลาสติกซึ่งไม่ว่าจะเป็นการไปเอาจากห้องคลังยาย่อยโดยตรง หรือในช่วงที่จำเลยเอาไปวางไว้บนชั้นด้านหลังเคาน์เตอร์เภสัชกร ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้เคลื่อนย้ายทรัพย์จากที่ตั้งตามปกติและเข้าถือเอาทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งจำเลยยังได้เดินถือถุงดังกล่าวออกไปด้วย แม้จะยังไม่พ้นจากห้องจ่ายยาผู้ป่วยในเพราะนางสาวน้ำฝนพบเห็นเสียก่อน จำเลยจึงเอาทรัพย์ไปไม่ได้ก็เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้วหาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่ การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้และไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย นอกจากนี้จำเลยเป็นลูกจ้างประจำและทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุห้องจ่ายยาผู้ป่วยในก็เป็นสถานที่ทำงานของจำเลยและเหตุเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจึงลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการและศาลมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำคุก 6 เดือ มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์ ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะ ดังที่บัญญัติไว้ในอนุ มาตรา ดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุ มาตรา ขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับ ประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรานี้ เป็นการกระทำ โดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทานและทรัพย์นั้นมีราคา เล็กน้อยศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ก็ได้ |