

มีกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 3 เดือน มีกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 3 เดือน ขอปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองกระสุนปืนขนาด .223 โดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าถูกตำรวจจับกุมแล้ว จะมีโทษอย่างไรครับ?? คำตอบเกี่ยวกับเรื่องมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ศาลฎีกาเคยตัดสินคดีเกี่ยวกับการครอบครองเครื่องกระสุนไว้คือ จำคุก 3 เดือน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9940/2552 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 4 นัดของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่งได้ แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องไว้ในครอบครอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน ฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 225 โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (7) (11), 357, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) วรรคสอง และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างในเวลากลางคืนจำคุกคนละ 2 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างในเวลากลางคืน ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี เมื่อรวมกับความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ...คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 4 นัดของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2522) ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง นั้น จึงไม่ถูกต้อง แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มีเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องไว้ในครอบครอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสอง จำคุก 3 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างในเวลากลางคืนแล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ มาตรา 72 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |