

ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาตรา 1012 ถึง มาตรา 1024
ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาตรา 1012 อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากัน เพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์ จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2565) มาตรา 1013 อันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ท่านกำหนดเป็นสามประเภท คือ (1) ห้างหุ้นส่วนสามัญ (2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด (3) บริษัทจำกัด มาตรา 1014 บรรดาสำนักงานสำหรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและ บริษัททั้งหลายนั้น ให้เสนาบดีเจ้ากระทรวงซึ่งบัญชาการจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนและบริษัทเป็นผู้ออกกฎข้อบังคับจัดตั้งขึ้น มาตรา 1015 ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบัญญัติ แห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทนั้น มาตรา 1016 การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้ในภายหลัง และการจดทะเบียนอย่างอื่นตามที่ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท กำหนดให้จดทะเบียน ให้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงประกาศกำหนด ***มาตรา 1016 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มาตรา 1017 ถ้าข้อความที่จะจดทะเบียน หรือประกาศโฆษณา เกิดขึ้นในต่างประเทศไซร้ ท่านให้นับกำหนดเวลาสำหรับการจด ทะเบียนหรือประกาศโฆษณาข้อความนั้น ตั้งแต่เวลาเมื่อคำบอก กล่าวการนั้นมาถึงตำบลที่จะจดทะเบียนหรือตำบลที่จะประกาศ โฆษณานั้นเป็นต้นไป มาตรา 1018 ในการจดทะเบียน ท่านให้เสียค่าธรรมเนียมตาม กฎข้อบังคับซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงตั้งไว้ มาตรา 1019 ถ้าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารซึ่งต้องจดทะเบียน ไม่มีรายการบริบูรณ์ตามที่บังคับไว้ในลักษณะนี้ว่าให้จดแจ้งก็ดี หรือ ถ้ารายการอันใดซึ่งจะแจ้งในคำขอหรือในเอกสารนั้นขัดกับกฎหมาย ก็ดี หรือถ้าเอกสารใด ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ส่งด้วยกันกับคำขอจดทะ เบียนยังขาดอยู่มิได้ส่งให้ครบก็ดี หรือถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้ออื่น ซึ่งกฎหมายบังคับไว้ก็ดีนายทะเบียนจะไม่ยอมรับจดทะเบียนก็ได้ จนกว่าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารนั้นจะได้ทำให้บริบูรณ์หรือแก้ไข ให้ถูกต้อง หรือได้ส่งเอกสารซึ่งกำหนดไว้นั้นครบทุกสิ่งอันหรือได้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนั้นแล้ว มาตรา 1020 บุคคลทุกคนเมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้วชอบที่จะตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียนเก็บรักษาไว้ได้ หรือจะขอให้คัดสำเนาหรือเนื้อความในเอกสารฉบับใดๆ พร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้ ผู้มีส่วนได้เสียของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใดๆ เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะขอให้นายทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้ก็ได้ (แก้ไข*ฉบับที่ 18* พ.ศ. 2551) มาตรา 1021 นายทะเบียนทุกคนจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลง ทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นคราวๆ ตามแบบซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงจะได้กำหนดให้ มาตรา 1020/1 ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมีอำนาจออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ออกตามมาตรา 1018 และมาตรา 1020 *มาตรา 1020/1 เพิ่มโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ มาตรา 1022 เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดั่งนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดา เอกสารและข้อความซึ่งลงทะเบียน อันได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วน หรือด้วยบริษัทนั้นหรือที่ไม่เกี่ยวข้อง มาตรา 1023 ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้ แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อนจดทะเบียนนั้นย่อมไม่จำต้องคืน (แก้ไข*ฉบับที่ 18* พ.ศ. 2551) มาตรา 1023/1 ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะยกมาตรา 1023 ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือกรรมการไม่มีอำนาจกระทำการมิได้ (เพิ่มเติม*ฉบับที่ 18* พ.ศ. 2551) มาตรา 1024 ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันก็ดี หรือในระหว่าง ผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี ผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาสมุด บัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือของผู้ชำระ บัญชีห้างหุ้นส่วนใดๆนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อ ความที่ได้บันทึกไว้ในนั้นทุกประการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2565 การที่โจทก์ ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นตกลงเข้าหุ้นกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ต่อมา ช. ถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันตามมาตรา 1055 (5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งการชำระบัญชีนั้นมาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำ หรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่นั้นเป็นผู้จัดทำ แต่กลับได้ความว่ามีเพียงหุ้นส่วนบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. เกี่ยวกับการจัดการบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันและได้แสดงหลักฐานการโอนเงินร่วมลงทุน ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ได้ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ได้ร่วมเจรจาหรือตกลงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ามีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญ เนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่ได้ตกลงร่วมกัน แม้หุ้นส่วนบางคนจะเข้าไปเจรจากับจำเลยทั้งสองจนกระทั่งได้รับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคืนไปแล้ว และจำเลยทั้งสองอ้างว่าหุ้นส่วนคนอื่นไม่มีใครคัดค้านก็ตาม แต่หุ้นส่วนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจานั้น ย่อมไม่ได้ตรวจสอบหรือยืนยันความถูกต้องในการจัดการทรัพย์สินของห้าง ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดและปัญหาโต้แย้งกันได้ในภายหลัง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันที่จะทำให้ไม่ต้องมีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน และกรณียังมีข้อโต้แย้งกันเรื่องผลเฉลี่ยขาดทุนและการคืนทุน จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนหรือไม่และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วยก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินลงทุนส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อมีการชำระบัญชี ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 5,047,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. ผู้ตาย แก่โจทก์ตามสัดส่วนของเงิน 5,000,000 บาท ที่โจทก์ลงทุน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่เฉลี่ยคืน นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2557 โจทก์และนาย ช. กับเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 56 ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนร่วมกันออกเงินลงทุน 46,600,000 บาท นำไปซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อนำกำไรมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น ตามบัญชีรายชื่อเพื่อน วปอ. ที่ร่วมลงทุนเล่นหุ้น โดยโจทก์ร่วมลงทุนเป็นเงิน 5,000,000 บาท ส่วนนาย ช.ร่วมลงทุน 10,000,000 บาท โดยนาย ช. ได้เปิดบัญชีออมทรัพย์ และเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ ชื่อบัญชีนาย ช. แล้วมีการซื้อขายหลักทรัพย์ตลอดมา ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2558 นาย ช.ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ช. วันที่ 21 มีนาคม 2559 จำเลยทั้งสองโอนหลักทรัพย์คงเหลือในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนาย ช. ดังกล่าว 7 รายการ ประกอบด้วย ADVANC (10,000 หุ้น) EA (606,500 หุ้น) GENCO (300,000 หุ้น) IFEC (420,000 หุ้น) IFCE – W2 (105,000 หุ้น) MTLS (300,000 หุ้น) และ SUPER (3,000,000 หุ้น) ไปยังบัญชีกองมรดกของนาย ช. และโอนเงินลงทุนคงเหลือ 9,677,387.07 บาท เข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยทั้งสอง และเดือนกรกฎาคม 2559 จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. ให้แก่โจทก์ตามสัดส่วนที่โจทก์ลงทุนไปหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่โจทก์ นาย ช. และกลุ่มเพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรตกลงเข้าหุ้นส่วนกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยประสงค์จะนำกำไรที่ได้จากการลงทุนของแต่ละคนมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมของรุ่น หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 ต่อมานาย ช. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวจึงเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 (5) และต้องจัดให้มีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันตามมาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งการชำระบัญชีนั้นตามมาตรา 1061 วรรคสาม ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำ หรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ แต่กลับได้ความจากที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันว่ามีเพียงหุ้นส่วนบางคนเท่านั้นที่เข้าไปเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. เกี่ยวกับการจัดการบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนร่วมกันและได้แสดงหลักฐานการโอนเงินร่วมลงทุน ต่อมาจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ช. ได้ตกลงโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคงเหลือคืนแก่ผู้ร่วมลงทุนบางคนตามสัดส่วนของการลงทุนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณ โดยที่โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมเจรจาหรือตกลงด้วย จึงถือไม่ได้ว่ามีการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามัญเนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่ได้ตกลงร่วมกัน และแม้หุ้นส่วนบางคนจะเข้าไปเจรจากับจำเลยทั้งสองจนกระทั่งได้รับโอนหลักทรัพย์และเงินลงทุนคืนตามสัดส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้คิดคำนวณไปแล้ว และจำเลยทั้งสองอ้างว่าหุ้นส่วนคนอื่นไม่มีใครคัดค้านก็ตาม แต่หุ้นส่วนบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจานั้นย่อมไม่ได้ตรวจสอบหรือยืนยันความถูกต้องในการจัดการทรัพย์สินของห้างการจัดการทรัพย์สินระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนบางคนด้วยวิธีการดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ในเจตจำนงหรือความรับรู้ระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนร่วมกันอันอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดและปัญหาโต้แย้งกันได้ในภายหลัง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันที่จะทำให้ไม่ต้องมีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยที่ยังไม่ได้มีการชำระบัญชีหรือจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน และโจทก์ฟ้องเรียกเงินที่ลงทุนไปทั้งหมดคืน 5,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าการร่วมลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีผลประกอบการขาดทุน ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องร่วมเฉลี่ยผลขาดทุนตามสัดส่วนของการลงทุนและจะได้รับคืนทุนตามส่วนที่เหลือ กรณีจึงยังมีข้อโต้แย้งกันเรื่องผลเฉลี่ยขาดทุนและการคืนทุน จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีก่อนเพื่อให้ทราบว่าห้างหุ้นส่วนมีผลประกอบการขาดทุนจริงหรือไม่และมีทรัพย์สินคงเหลือเพียงใด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชีมาด้วยก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินลงทุนส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งจะสามารถบังคับชำระได้เมื่อมีการชำระบัญชี ย่อมเห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนด้วยแล้ว ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีการชำระบัญชีและตั้งผู้ชำระบัญชีไปเสียทีเดียวได้ โดยไม่จำต้องให้โจทก์กลับไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีก แต่การจะตั้งโจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชำระบัญชีหรือผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาการไม่ร่วมมือกันในการชำระบัญชี เพราะทั้งสองฝ่ายมีข้อพิพาทกันหลายคดี เป็นอุปสรรคแก่การชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ส่วนจำเลยทั้งสองจะต้องคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. ให้แก่โจทก์ตามสัดส่วนที่โจทก์ลงทุนไปหรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไปในชั้นชำระบัญชี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. แก่โจทก์ตามสัดส่วนของเงินที่โจทก์ลงทุนพร้อมด้วยดอกเบี้ยนั้นไม่ต้องความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจากกองมรดกของนาย ช. แก่โจทก์ตามสัดส่วนของเงิน 5,000,000 บาท ที่โจทก์ลงทุนพร้อมดอกเบี้ย ขัดต่อข้อตกลงของผู้เป็นหุ้นส่วนเกี่ยวกับการชำระบัญชีเป็นการไม่ชอบ และเป็นการพิพากษาเกินคำขอขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 หรือไม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป พิพากษากลับ ให้ทำการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญตามฟ้อง และตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ |