

อายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้ว อายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้ว เงินปันผลเป็นดอกผลนิตินัย เมื่อโจทก์ได้ยึดหุ้นไว้แล้วภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว การยึดหุ้นย่อมครอบไปถึงเงินปันผลอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2559 เงินปันผลเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งเป็นคราวตามส่วนจำนวนหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1200 และมาตรา 1201 เงินปันผลจึงเป็นดอกผลนิตินัยตามมาตรา 148 วรรคสาม เมื่อโจทก์ยึดหุ้นของบริษัท น. ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว การยึดหุ้นย่อมครอบไปถึงเงินปันผลอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินปันผลของหุ้นได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 5,723,889 บาท ให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,760,000 บาท ตกลงผ่อนชำระเป็นงวด เดือนละ 10,000 บาท เริ่มงวดแรกภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ หากผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้ จำเลยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการยึดหุ้นบริษัทเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จำกัด ใบหุ้นเลขที่ 501 ถึง 600 หุ้น บริษัทนิคมอุตสาหกรรม รังสิต จำกัด ใบหุ้นเลขที่ 5001 ถึง 6249 และหุ้นของจำเลยในบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กับเพิกถอนการอายัดเงินปันผล และสั่งคืนเงินปันผลดังกล่าวให้แก่จำเลย โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ คิดถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เป็นเงิน 18,178,552.01 บาท เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2545 และวันที่ 26 สิงหาคม 2548 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 5107 และ 743 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคา 11,278,000 บาท และ 38,890,000 บาท ตามลำดับ วันที่ 14 กรกฎาคม 2548 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นบริษัทเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ จำกัด ใบหุ้นเลขที่ 501 ถึง 600 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือ จำนวน 100 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท เป็นเงิน 100,000 บาท และหุ้นบริษัทนิคมอุตสาหกรรม รังสิต จำกัด ใบหุ้นเลขที่ 5001 ถึง 6249 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือ จำนวน 1,249 หุ้น หุ้นละ 1,000 บาท เป็นเงิน 1,249,000 บาท และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นของจำเลยในบริษัทนวนคร จำกัด (มหาชน) จำนวน 140,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 9.75 บาท เป็นเงิน 1,365,000 บาท ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินปันผลของหุ้นบริษัทนิคมอุตสาหกรรม รังสิต จำกัด ที่ยึดไว้แล้วจำนวน 17,985,600 บาท บริษัทดังกล่าวได้ส่งเงินปันผลให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งอายัดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การอายัดเงินปันผลของหุ้นบริษัทนิคมอุตสาหกรรม รังสิต จำกัด ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 หรือไม่ เห็นว่า เงินปันผลเป็นเงินที่จ่ายจากกำไรของบริษัทให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นครั้งเป็นคราวตามส่วนจำนวนหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1200 และมาตรา 1201 เงินปันผลจึงเป็นดอกผลนิตินัยอันเกิดจากหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม เมื่อโจทก์ยึดหุ้นบริษัทนิคมอุตสาหกรรม รังสิต จำกัด ภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้ว การยึดหุ้นย่อมครอบไปถึงเงินปันผลอันเป็นดอกผลนิตินัยแห่งทรัพย์นั้นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินปันผลของหุ้นดังกล่าวได้แม้จะพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้วก็ตาม การบังคับคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
|