

หน้าที่ในการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน หน้าที่ในการเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โรงเรือนอันเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ดังนั้นผู้ใช้บริการโรงเรือนตามสัญญาสัมปทานที่ได้ชำระภาษีโรงเรือนไปแล้วจึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ ปัญหาว่าสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามฟ้องได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน การที่โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามสัญญาสัมปทานแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยให้แก่จำเลยที่ 1 ไป โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 26 ที่จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลย และให้จำเลยคืนเงินให้โจทก์จำนวน 1,815,520 บาท ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่คดีถึงที่สุด หากจำเลยไม่คืนให้ภายในกำหนด ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนด 3 เดือน เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ...สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 หรือไม่ โดยปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) โดยเห็นว่า พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 6 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ ... (2) จัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนและดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟและธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ และมาตรา 9 บัญญัติว่า ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะทำการต่าง ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง ... (7) รับขนส่งคนโดยสาร สินค้า พัสดุภัณฑ์และของอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับประกาศการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เชิญผู้สนใจยื่นประกวดข้อเสนอเพื่อรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ที่ลาดกระบังสถานี เอ ถึง เอฟ และสัญญาสัมปทานและคำแปลแล้ว จะเห็นได้ว่า การดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องนี้เกี่ยวเนื่องกับระบบการขนส่งสินค้ากล่องเชื่อมต่อกับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนกิจการนำเข้าและส่งออกของประเทศและการเติบโตของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยผู้ดำเนินการที่สถานีนี้จะทำหน้าที่ขนถ่ายและแยกสินค้าที่บรรจุมาในตู้สินค้าที่บรรทุกมาจากต่างประเทศโดยทางเรือมาที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง แล้วขึ้นรถไฟมาที่สถานีดังกล่าวเพื่อนำส่งให้ผู้นำเข้า หรือนำส่งสินค้าที่จะต้องส่งไปต่างประเทศโดยทางเรือมาบรรจุในตู้สินค้าเพื่อขนขึ้นรถไฟไปที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยคิดค่าบริการจากผู้ที่ใช้บริการ การดำเนินกิจการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องนี้ จึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟ คือ การรับขนส่งสินค้าตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 6 (2) และมาตรา 9 (7) ดังนั้น สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการรถไฟโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (2) การประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องพิพาทการที่โจทก์ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามสัญญาสัมปทานแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยให้แก่จำเลยที่ 1 ไป โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 26 ที่จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่... พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินให้โจทก์จำนวน 1,815,520 บาท ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่คดีถึงที่สุด หากจำเลยที่ 1 ไม่คืนภายในกำหนด ให้จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนด 3 เดือน เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง |