

การยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ การยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ช่างรังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ได้ไปทำการรังวัดโดยมีโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายนำชี้ให้ได้เนื้อที่ 326 ตารางวา ตามคำพิพากษา ตามเนื้อที่ดิน 326 ตารางวาตามคำพิพากษาอันไม่ใช่พื้นที่ที่โจทก์ทั้งสองครอบครองปรปักษ์ตามที่ทั้งสองฝ่ายนำชี้ไว้ จะเห็นได้ว่าจำนวนเนื้อที่ที่ระบุมาในรูปแผนที่พิพาทมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก ไม่อาจถือเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทต้องมีจำนวนเนื้อที่ 326 ตารางวา ดังฎีกาของโจทก์ทั้งสอง กรณีเช่นนี้ ต้องบังคับคดีให้ถูกต้องตรงความเป็นจริง คือพื้นที่ที่โจทก์ทั้งสองครอบครองจริงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งก็คือระยะความกว้างยาวของพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายนำชี้แนวเขตไว้ในการจัดทำรูปแผนที่พิพาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดวิธีการบังคับคดีโดยให้รังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทไปตามขนาดความกว้างยาวที่ระบุในรูปแผนที่พิพาท ซึ่งไม่ระบุถึงจำนวนเนื้อที่นั้น จึงถูกต้องชอบแล้ว ทั้งการบังคับคดีให้เป็นไปโดยถูกต้องตรงความเป็นจริงเช่นนี้ก็ไม่ใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดในสาระสำคัญซึ่งจะเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป แม้คดีนี้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ในชั้นบังคับคดี ศาลย่อมมีอำนาจที่จะตัดสินชี้ขาดบังคับคดีไปตามที่ถูกต้องได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2566 ในชั้นเดิมที่ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดโดยตรง เพื่ออธิบายว่ากรณีจะต้องบังคับตามรูปแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.20 หรือต้องบังคับให้มีเนื้อที่ 326 ตารางวา เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง แต่คำร้องในชั้นนี้เป็นการร้องขอให้ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นกำหนดวิธีการบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 360 ตามลำดับชั้นศาล จึงเป็นคนละกรณีกัน คำร้องในครั้งก่อนศาลฎีกายังไม่ได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวด้วยการบังคับคดีในการรังวัดแบ่งแยก การยื่นคำร้องของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144การบังคับคดีให้เป็นไปโดยถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดในสาระสำคัญซึ่งจะเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินตามที่ขีดเส้นสีส้มในแผนที่พิพาท รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดกว้างประมาณ 26.50 เมตร อีกด้านหนึ่งกว้างประมาณ 24.40 เมตร และยาวประมาณ 34 เมตร อีกด้านหนึ่งยาวประมาณ 36.20 เมตร จำนวนเนื้อที่ประมาณ 300 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 45 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินทางด้านทิศใต้ของโฉนดเลขที่ 5339, 5624 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ ให้ถนนเพื่อรถยนต์แล่นเข้าออกและเป็นทางผ่านของสาธารณูปโภคจากบ้านเลขที่ 45 สู่ถนนสุขุมวิท ซอย 8 ขนาดกว้าง 3.60 เมตร ยาว 23 เมตร และถนนบริเวณหน้าบ้านเลขที่ 45 ขนาดกว้าง 3.38 เมตร เป็นทางภาระจำยอมของโจทก์ทั้งสอง ให้เพิกถอนชื่อของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในส่วนของโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนต่อทางราชการว่าทางดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอม หากจำเลยทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้ยกเสีย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 45 ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ทั้งสองอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5339 แต่เพียงแปลงเดียว ทางพิพาทซึ่งตกเป็นภาระจำยอมอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5339 และโฉนดเลขที่ 5624 และเป็นภาระจำยอมของที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 45 ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20332/2555 พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินพิพาท มีความยาวประมาณ 34.50 เมตร มีเนื้อที่ 326 ตารางวา ให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่พิพากษาว่า ให้ถนนบริเวณหน้าบ้านเลขที่ 45 ขนาดกว้าง 3.38 เมตร เป็นภาระจำยอมของที่ดินพิพาทและบังคับจำเลยทั้งสองให้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินส่วนนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ 24 มีนาคม 2558 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาเพื่อให้ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ มีขนาดกว้างยาวตามคำพิพากษา ปรากฏว่ามีเนื้อที่ 222.9 ตารางวา แต่โจทก์ทั้งสองทักท้วงว่าที่ดินพิพาทต้องมีเนื้อที่ 326 ตารางวา ตามที่ศาลฎีการะบุ เป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินและส่งมอบแก่โจทก์ทั้งสองและจดทะเบียนภาระจำยอมให้ได้ จึงขอให้ศาลฎีกาอธิบายว่าที่ดินพิพาทต้องบังคับ หรือต้องบังคับให้มีเนื้อที่ 326 ตารางวา เพื่อที่จำเลยทั้งสองจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง ศาลฎีกามีคำสั่งว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแจ้งชัดแล้วว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์มีเนื้อที่จำนวน 326 ตารางวา ทั้งกรณีมิใช่คำพิพากษามีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง จึงไม่จำต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามที่จำเลยทั้งสองร้องขอ ให้ยกคำร้อง วันที่ 10 มกราคม 2561 โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษา และศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้แล้ว วันที่ 24 มิถุนายน 2562 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ดำเนินการบังคับคดีโดยขอรังวัดและออกโฉนดที่ดินใหม่ตามคำพิพากษา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง การบังคับคดีของโจทก์ทั้งสองกระทำไปโดยไม่ถูกต้อง โดยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินใหม่เกินจากที่ปรากฏตามรูปแผนที่พิพาท ซึ่งจำเลยทั้งสองได้คัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการบังคับคดีและมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 326 ตารางวา เนื่องจากที่ดินแปลงพิพาทมีกำแพงรั้วเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กถึง 3 ด้าน การรังวัดจึงรังวัดจากแนวรั้วออกไปยังด้านที่ไม่มีรั้วเพื่อให้ได้เนื้อที่ครบ 326 ตารางวา ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ขึ้นรูปที่ดินตามเนื้อที่ดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่ได้บังคับคดีเกินคำพิพากษาแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีโดยรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 5339 ตามที่ขีดเส้นสีส้มในแผนที่พิพาท รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดกว้างประมาณ 26.50 เมตร อีกด้านหนึ่งยาว (ที่ถูก กว้าง) ประมาณ 24.40 เมตร และยาวประมาณ 34.50 เมตร อีกด้านหนึ่งยาวประมาณ 36.20 เมตร พร้อมบ้านเลขที่ 45 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศใต้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่า การยื่นคำร้องของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับการยื่นคำร้องในครั้งก่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการยื่นคำร้องของจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์ทั้งสองเพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ แต่ก็เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ทั้งสองจึงยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 252 เห็นว่า ในชั้นเดิมที่ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ที่ดินพิพาท (ด้านหนึ่ง) มีความยาวประมาณ 34.50 เมตร มีเนื้อที่ 326 ตารางวา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อันมีความหมายประกอบคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทตามที่ขีดเส้นสีส้มในแผนที่พิพาท รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดกว้างประมาณ 26.50 เมตร อีกด้านหนึ่งกว้างประมาณ 24.40 เมตร และยาวประมาณ 34.50 เมตร อีกด้านหนึ่งยาวประมาณ 36.20 เมตร มีเนื้อที่ 326 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 45 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินทางด้านทิศใต้ของโฉนดที่ดินเลขที่ 5339 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ เมื่อจำเลยทั้งสองดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 5339 ดังที่ระบุในคำพิพากษา ปรากฏว่ามีเนื้อที่ 222.9 ตารางวา ย่อมทำให้เข้าใจว่าคำพิพากษาที่ระบุขนาดความกว้างยาวทั้งสี่ด้านไว้ตามรูปแผนที่กับจำนวนเนื้อที่ระบุมา 326 ตารางวา นั้น อาจมีข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดโดยตรงเพื่ออธิบายว่ากรณีเช่นนี้จะต้องบังคับ หรือต้องบังคับให้มีเนื้อที่ 326 ตารางวา เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไป แต่คำร้องในชั้นนี้เป็นการร้องขอให้ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นกำหนดวิธีการบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบมาตรา 360 ตามลำดับชั้นศาล จึงเป็นคนละกรณีกัน ซึ่งคำร้องในครั้งก่อนศาลฎีกายังไม่ได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวด้วยการบังคับคดีในการรังวัดแบ่งแยก การยื่นคำร้องของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ดังข้อฎีกาของโจทก์ทั้งสอง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อหลังว่า การกำหนดวิธีการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นเดิมศาลฎีกาวินิจฉัยว่า รูปแผนที่พิพาทที่รองจ่าศาลในศาลชั้นต้นจัดทำขึ้นตามคำสั่งศาลกับรูปแผนที่พิพาทที่ช่างรังวัดจัดทำขึ้นมีสภาพใกล้เคียงกัน โดยรูปแผนที่รังวัดเนื้อที่ได้ 326 ตารางวา จึงสมควรกำหนดให้ถูกต้อง ในชั้นบังคับคดีนี้ เมื่อพิจารณารูปแผนที่พิพาทแล้ว รูปแผนที่นี้แสดงถึงที่ดินแปลงใหญ่ของจำเลยทั้งสองตามโฉนดที่ดินเลขที่ 5624 และโฉนดที่ดินเลขที่ 5339 ซึ่งอยู่ติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 5624 อยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ส่วนแปลงโฉนดที่ดินเลขที่ 5339 อยู่ทางฝั่งขวามือ มีบ้านปลูกอยู่ในที่ดิน 4 หลัง คือบ้านเลขที่ 41 ปลูกอยู่ทางฝั่งซ้ายมือตอนบน บ้านเลขที่ 45/1 ปลูกอยู่ทางฝั่งซ้ายมือตอนล่าง บ้านเลขที่ 43 ปลูกอยู่ทางฝั่งขวามือตอนบน และบ้านเลขที่ 45 ปลูกอยู่ทางฝั่งขวามือตอนล่าง ซึ่งบ้านและที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยบ้านเลขที่ 43 และบ้านเลขที่ 45 ต่างอยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 5339 รูปแผนที่นี้ยังได้แสดงจำนวนเนื้อที่ของตัวบ้านและบริเวณของบ้านแต่ละหลังในรูปแผนที่นั้นเอง และนำมากล่าวสรุปในตอนล่างของรูปแผนที่อีกครั้ง กล่าวคือ ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5624 มีเนื้อที่ 2 งาน 23 ตารางวา (ระบุในโฉนดที่ดินมีเนื้อที่ 2 งาน 23.2 ตารางวา) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5339 มีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา (ระบุในโฉนดที่ดินมีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 73.8 ตารางวา) รวมเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 89 ตารางวา อันเป็นที่ดินแปลงใหญ่ของจำเลยทั้งสอง ส่วนบ้านทั้งสี่หลังนั้น บ้านเลขที่ 41 ตัวบ้านมีเนื้อที่ 83 ตารางวา บริเวณของบ้านมีเนื้อที่ 1 งาน 69 ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ 2 งาน 52 ตารางวา บ้านเลขที่ 45/1 ตัวบ้านมีเนื้อที่ 61 ตารางวา บริเวณของบ้านมีเนื้อที่ 1 งาน 72 ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ 2 งาน 33 ตารางวา บ้านเลขที่ 43 ตัวบ้านมีเนื้อที่ 1 งาน 95 ตารางวา ไม่มีการระบุบริเวณของบ้านมีเนื้อที่เท่าใด แต่มีปรากฏในรูปแผนที่ว่าบริเวณของบ้านมีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 61 ตารางวา บ้านเลขที่ 45 ตัวบ้านมีเนื้อที่ 1 งาน 9 ตารางวา บริเวณของบ้านมีเนื้อที่ 2 งาน 17 ตารางวา (แต่ในรูปแผนที่ระบุเป็น 1 งาน 92 ตารางวา) รวมเป็นเนื้อที่ 3 งาน 26 ตารางวา ตามข้อฎีกาของโจทก์ทั้งสอง เมื่อนำเนื้อที่ของบ้านทั้งสี่หลังที่ปลูกอยู่บนที่ดินแปลงใหญ่ของจำเลยทั้งสองมารวมเข้าด้วยกันแล้วจะได้เนื้อที่ 4 ไร่ 72 ตารางวา ซึ่งยังไม่รวมทางภาระจำยอมในที่ดินอีก 33 ตารางวา จะเห็นได้ว่ามีจำนวนเนื้อที่เกินไปกว่าเนื้อที่ของที่ดินแปลงใหญ่อันมีจำนวน 2 ไร่ 89 ตารางวา เกือบถึงเท่าตัว นอกจากนี้ ยังปรากฏอีกว่ามีต้นปาปาปิยากับบันไดอยู่ในเขตที่ดินของบ้านเลขที่ 43 หรืออีกนัยหนึ่งอยู่นอกแนวเขตที่ดินของบ้านเลขที่ 45 ที่โจทก์ทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์โดยนายกอปรลาภ ทนายโจทก์ทั้งสอง ซึ่งร่วมไปนำชี้ในการทำแผนที่พิพาทของรองจ่าศาลในศาลชั้นต้นที่ระบุตำแหน่งของบันไดตรงกับที่ปรากฏตามแผนที่พิพาท ก็เบิกความในชั้นเดิมตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่า เป็นบันไดทางลงข้างบ้านของบ้านเลขที่ 43 สู่สนามหญ้าหน้าบ้าน ซึ่งสามารถเดินต่อไปยังบ้านเลขที่ 45 ได้ด้วย โดยบ้านทั้งสองหลังไม่มีรั้วกั้นกลางระหว่างกัน แต่หากยอมให้ถือเอาเนื้อที่ 326 ตารางวา ดังที่ระบุในแผนที่พิพาทมาเป็นเกณฑ์ในการรังวัดแบ่งแยกแล้ว ก็จะปรากฏรูปแผนที่ต่างไปจากเดิม กล่าวคือ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ช่างรังวัด สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ได้ไปทำการรังวัดโดยมีโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายนำชี้ให้ได้เนื้อที่ 326 ตารางวา ตามคำพิพากษา แต่ได้รูปแผนที่และระยะไม่ตรงกับรูปแผนที่พิพาท ตามรูปแผนที่นี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะผนวกเอาต้นปาปาปิยาและบันไดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของฝ่ายโจทก์แล้ว เขตของที่ดินยังได้ล้ำเข้าไปถึงส่วนหนึ่งของตัวบ้านเลขที่ 43 อีกด้วย ซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมแก่จำเลยทั้งสองเพราะไม่ใช่พื้นที่ที่โจทก์ทั้งสองครอบครองปรปักษ์ตามที่ทั้งสองฝ่ายนำชี้ไว้ จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำนวนเนื้อที่ต่าง ๆ ที่ระบุมาในรูปแผนที่พิพาทมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก จำนวนเนื้อที่ของที่ดินของบ้านเลขที่ 45 ขัดแย้งกับขนาดความกว้างและความยาวที่ระบุไว้ ไม่อาจถือเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทต้องมีจำนวนเนื้อที่ 326 ตารางวา ดังฎีกาของโจทก์ทั้งสอง กรณีเช่นนี้ ต้องบังคับคดีให้ถูกต้องตรงความเป็นจริง คือพื้นที่ที่โจทก์ทั้งสองครอบครองจริงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งก็คือระยะความกว้างยาวของพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายนำชี้แนวเขตไว้ในการจัดทำรูปแผนที่พิพาทของรองจ่าศาลในศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2541 ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดวิธีการบังคับคดีโดยให้รังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทไปตามขนาดความกว้างยาวที่ระบุในรูปแผนที่พิพาท ซึ่งไม่ระบุถึงจำนวนเนื้อที่นั้น จึงถูกต้องชอบแล้ว ทั้งการบังคับคดีให้เป็นไปโดยถูกต้องตรงความเป็นจริงเช่นนี้ก็ไม่ใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดในสาระสำคัญซึ่งจะเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป แม้คดีนี้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ในชั้นบังคับคดี ศาลย่อมมีอำนาจที่จะตัดสินชี้ขาดบังคับคดีไปตามที่ถูกต้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
|