ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์โดยพิจารณาแล้วเห็นว่านายเงินไม่ได้ยกที่ดินให้โจทก์ๆ อุทธรณ์ว่านายเงินยกที่ดินให้ในวันแต่งงานโดยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้ให้เหตุผลโดยชัดแจ้งว่า ที่ศาลชั้นต้นยกเหตุต่าง ๆ ที่แสดงว่านายเงินไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์นั้นไม่ชอบอย่างไร ดังนั้น อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2936/2552 อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้ให้เหตุผลโดยชัดแจ้งว่า ที่ศาลชั้นต้นยกเหตุต่างๆ ที่แสดงว่า ง. ไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์นั้นไม่ชอบอย่างไร พยานหลักฐานอื่นที่แสดงว่าโจทก์ได้รับมอบที่ดินพิพาทในวันแต่งงานดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็ไม่ได้ระบุไว้ในอุทธรณ์ ดังนั้น อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์รับพิจารณาประเด็นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ดังนั้น ฎีกาโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อว่า ง. ได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์จริง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป และให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาทโดยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า นายเงินไม่เคยมอบเอกสารสิทธิของที่ดินพิพาทให้โจทก์รวมถึงยกที่ดินพิพาทให้ น่าเชื่อว่านายเงินเพียงอนุญาตให้โจทก์ในฐานะบุตรทำกินในที่ดินพิพาทเท่านั้น การครอบครองของโจทก์จึงเป็นการครอบครองแทนนายเงินซึ่งเป็นบิดา เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังนายเงินว่าไม่มีเจตนาที่จะยึดถือทรัพย์สินแทน ตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แม้ว่าโจทก์ทำกินมานานเท่าใดก็หาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไม่ แล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์เพียงว่า “ที่ดินพิพาทดังกล่าว นายเงินบิดาของโจทก์และจำเลย ยกให้ในวันแต่งงานโจทก์เป็นเวลา 27 ปีแล้ว และโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองโดยตลอด ไม่ได้ครอบครองแทนบิดาแต่อย่างใด” อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้ให้เหตุผลโดยชัดแจ้งว่า ที่ศาลชั้นต้นยกเหตุต่าง ๆ ที่แสดงว่านายเงินไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์นั้นไม่ชอบอย่างไร ดังนั้น อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับพิจารณาประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ดังนั้น ฎีกาโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อว่า นายเงินได้ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์จริง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีจึงต้องรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวมาข้างต้น... พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และยกฎีกาโจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8382/2561 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ร่วมทำสัญญาจ้างกับกรมทางหลวง โดยให้บริการรับเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบงานตามส่วนที่ได้รับมอบหมายให้โจทก์เพื่อส่งมอบให้กรมทางหลวงได้ภายในระยะเวลาตามสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายต้องชำระค่าปรับ ไม่สามารถรับค่าจ้างที่เหลือ รวมทั้งเงินประกันผลงาน ข้อหาตามฟ้องโจทก์จึงเป็นเรื่องผิดสัญญา ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นส่วนตัวในฐานละเมิด โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2563 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นครูกระทำอนาจารเด็กหญิงอายุ 6 ปีเศษ และเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล โดยระบุเวลาในการกระทำความผิดระหว่างเดือนใดถึงเดือนใด ปี พ.ศ. อะไร เวลากลางวัน เพราะไม่อาจทราบวันกระทำความผิดที่แน่ชัดได้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนตามปกติในเวลาราชการขณะที่จำเลยรับราชการอยู่ที่โรงเรียนนั้น จึงเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดดังที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติบังคับไว้ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยกลับฎีกาในปัญหาการกำหนดค่าสินไหมทดแทนขึ้นมาอีกจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279, 285 และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 143 ถึง 146/2561 และหมายเลขดำที่ 148 ถึง 154/2561 ของศาลชั้นต้น จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ระหว่างพิจารณาเด็กหญิง พ. ผู้เสียหาย โดยนาย ท. ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต กับยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกาย จิตใจและชื่อเสียง 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) (ที่ถูก มาตรา 279 วรรคสอง (เดิมและที่แก้ไขใหม่)) ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 598/2561, 635/2561, 657/2561, 661/2561, 671/2561, 689/2561 และ 699/2561 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 150/2561 และหมายเลขดำที่ 152 ถึง 154/2561 ของศาลชั้นต้นให้ยก เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี จำเลยกระทำความผิด 2 กระทง รวมจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังยุติในเบื้องต้นว่า เด็กหญิง พ. โจทก์ร่วม เป็นบุตรของนาย ท. และนาง ร. เรียนอยู่โรงเรียน บ. โดยเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลยซึ่งเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนดังกล่าว ขณะเกิดเหตุมีอายุระหว่าง 6 ปีเศษ ถึง 7 ปีเศษ อยู่ในความปกครองดูแลของนาง ส. ผู้เป็นย่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องระบุเวลากระทำความผิดของจำเลยว่า เหตุเกิดเมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 เวลากลางวัน ถึงเดือนมีนาคม 2560 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด และเมื่อระหว่างกลางเดือนพฤษภาคม 2560 เวลากลางวัน ถึงเดือนสิงหาคม 2560 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งรวมเอาวันเสาร์และวันอาทิตย์ และช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 กับรวมเอาวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ซึ่งมีคำสั่งให้ย้ายจำเลยไปช่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2 เข้าไปด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะโจทก์ไม่อาจทราบวันกระทำความผิดที่แน่ชัดของจำเลยได้ อย่างไรก็ดีถือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ว่า การกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นในวันที่โรงเรียนมีการเรียนการสอนตามปกติในเวลาราชการขณะที่จำเลยยังคงรับราชการอยู่ที่โรงเรียน พ. ในช่วงเวลาซึ่งบรรยายไว้ในฟ้องข้างต้น อันเป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอีกลักษณะหนึ่งของการกล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลากระทำความผิด ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) บัญญัติบังคับไว้ ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์บรรยายฟ้องรวมเอาวันปิดภาคเรียนที่ 2 ในช่วงวันที่ 11 ถึง 31 ตุลาคม 2560 เข้าไปในวันกระทำความผิดด้วยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องระบุวันกระทำความผิดถึงเดือนสิงหาคม 2560 ฟ้องที่แก้ไขจึงหาได้รวมช่วงเวลาที่จำเลยอ้าง กรณีย่อมไม่เป็นเหตุทำให้จำเลยสับสนหรือไม่เข้าใจข้อหาได้ดี และไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้องดังที่อ้าง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับข้อฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลดค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ร่วมให้น้อยกว่า 40,000 บาท นั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ การที่จำเลยกลับฎีกาในปัญหาการกำหนดค่าสินไหมทดแทนขึ้นมาอีก จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี นั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี และที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นครูบาอาจารย์สมควรประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กนักเรียน ยิ่งเฉพาะกับศิษย์ซึ่งอยู่ในความปกครองดูแลที่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งบิดามารดาให้ความไว้วางใจมอบหมายหน้าที่ให้จำเลยคอยให้การศึกษาและช่วยเหลือกล่อมเกลาอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดี แต่จำเลยฉวยโอกาสที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็ก มุ่งสนองอารมณ์ใคร่ของตนเองโดยอาศัยความอ่อนแอและไม่ประสาต่อโลกของเด็กนักเรียนผู้เป็นศิษย์ พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยอุทธรณ์และฎีกาต่อสู้คดีมาโดยตลอด หาได้สำนึกในความผิดที่ตนเองได้กระทำ จึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 9 ให้แก้ไขบทบัญญัติในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 11 โดยบัญญัติความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีและแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ไว้ในวรรคสามของมาตราดังกล่าวว่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หนักกว่าโทษในความผิดฐานเดียวกันที่กำหนดไว้ในมาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามกฎหมายซึ่งใช้บังคับในขณะจำเลยกระทำความผิดซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 ทั้งสองกระทง โดยให้จำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2838/2538 จำเลยฎีกาทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายสำหรับฎีกาในข้อเท็จจริงมีทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน50,000บาทจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา224วรรคหนึ่งอีกทั้งผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมิได้รับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงไม่อาจขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ได้ดังนั้นแม้ผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะได้รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงคดีก็ไม่อาจขึ้นมาสู่ศาลฎีกาได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าอุทธรณ์ของจำเลยได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์มิใช่บุตรของห.เพราะโจทก์ไม่มีเอกสารหลักฐานใดมาแสดงศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงเป็นการมิชอบนั้นเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งแต่อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพราะเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลคดีจึงไม่อาจขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ได้ ที่จำเลยฎีกาว่าการอ้างว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องมีเอกสารมาแสดงโดยจำเลยยกเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1555ว่าด้วยการฟ้องคดีขอให้รับรองบุตรมาอ้างนั้นเห็นว่าคดีนี้มิใช่เป็นคดีฟ้องขอให้รับรองบุตรจึงนำบทกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับมิได้และที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกของห. นั้นจำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้สืบสันดานของนายหา พรหมพินิจและนางพา พรหมพินิจ ซึ่งอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่นายหาได้รับรองจนเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าโจทก์เป็นบุตร ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. 2490 นายหาและนางพาได้เลิกร้างกัน และนายหาแต่งงานใหม่กับนางพร พรหมพินิจซึ่งมีบุตรติดมาด้วยคนหนึ่งคือจำเลย ครั้งเดือนมีนาคม 2534นายหาถึงแก่กรรม ก่อนนายหาถึงแก่กรรมได้เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ตำบลหนองลาดอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ดิน 1 ไร่เศษ พร้อมด้วยบ้าน 1 หลัง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตำบลคำบ่ออำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ 20 ไร่เศษ ซึ่งเป็นมรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับแต่เพียงผู้เดียว แต่ภายหลังจากที่นายหาถึงแก่กรรมแล้วจำเลยได้ครอบครองทรัพย์มรดก และไม่ยอมส่งมอบให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบทรัพย์มรดกของนายหาพรหมพินิจ ที่ครอบครองอยู่คืนโจทก์ทั้งหมด ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้จำเลยไปทำการโอนทางทะเบียนในทรัพย์มรดกของนายหาที่จำเลยได้รับโอนไปแล้วคืนให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตรของนายหาและนายหาไม่เคยรับรองว่าโจทก์เป็นบุตร จำเลยเป็นบุตรของนายหาและนางพร พรหมพินิจซึ่งได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย จำเลยเพียงผู้เดียวซึ่งเป็นบุตรมีสิทธิได้รับมรดกของนายหา โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับมรดกไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยส่งมอบหรือจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร และที่ดินตามหนังสือรับรอง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท จำเลย อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายก จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยฎีกาทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สำหรับฎีกาในข้อเท็จจริงตามฎีกาข้อ 2.1 นั้น จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนายหาเจ้ามรดก เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อีกทั้งผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็มิได้รับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงในคดีจึงไม่อาจขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ได้ดังนั้น ในชั้นศาลฎีกาแม้ผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะได้รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงแล้วก็ตาม ข้อเท็จจริงดังกล่าวในคดีก็ไม่อาจขึ้นมาสู่ศาลฎีกาได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากล่าวกันแล้วในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อ 2.2 ว่า อุทธรณ์ของจำเลยได้กล่าวโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าโจทก์มิใช่บุตรของนายหา เพราะโจทก์ไม่มีเอกสารหลักฐานใดมาแสดง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จึงเป็นการมิชอบนั้นเห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งแล้วแต่อย่างไรก็ตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวก็เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพราะการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลว่า ศาลไม่ควรเชื่อพยานโจทก์ว่าโจทก์เป็นบุตรของนายหาเมื่อข้อเท็จจริงในคดีไม่อาจขึ้นมาสู่ชั้นศาลอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การอ้างว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องมีเอกสารมาแสดงโดยจำเลยยกเอามาตรา 1555 ว่าด้วยการฟ้องคดีขอให้รับรองบุตรมาอ้างนั้น เห็นว่า คดีนี้มิใช่เป็นคดีฟ้องขอให้รับรองบุตรจึงนำบทกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับมิได้ และที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกของนายหานั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายหาหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อข้อนี้จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่เห็นควรยกขึ้นวินิจฉัย พิพากษายืน
|