เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ, สิทธิในการขอพิจารณาใหม่
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ • คำพิพากษาศาลฎีกา 1714/2567 • คดีมีมูล มาตรา 170 • เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ • สิทธิในการขอพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้น • มาตรา 27 วิธีพิจารณาความแพ่ง • การยื่นคำร้อง คดีแพ่งและอาญา สรุปคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2567 มีสาระสำคัญดังนี้: คำสั่งให้คดีมีมูลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 ถือว่าเป็นคำสั่งที่เด็ดขาด คู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ยกเว้นหากมีการกระทำผิดกระบวนการ คู่ความที่เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอเพิกถอนได้ โดยศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาเพิกถอนกระบวนการที่ผิดระเบียบนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาลแขวงและศาลจังหวัด กรณีนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิตามกฎหมายในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในคดีนี้ โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 83, 341 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีมีมูลและรับฟ้อง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนการพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณา พร้อมนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ แต่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ทำให้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การไม่มีพยานในวันนัดแสดงให้เห็นว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มีมูล การที่โจทก์ไม่สามารถนำนักพยานเข้าสืบได้ในวันนัดถือเป็นความบกพร่องของโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว สำหรับค่าขึ้นศาล 60,000 บาทที่โจทก์เรียกร้องคืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าค่าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคดีแพ่งซึ่งยังคงดำเนินการอยู่ในศาลชั้นต้นและไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา จึงไม่สามารถคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ได้ ดังนั้น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 มีสาระสำคัญดังนี้: ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 มาตรา 170 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วางหลักเกี่ยวกับการพิจารณาว่าคดีมีมูล โดยเมื่อศาลไต่สวนพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์แล้วเห็นว่าคดีมีมูลก็จะมีคำสั่งรับฟ้อง คำสั่งนี้ถือเป็นคำสั่งเด็ดขาด ซึ่งหมายความว่าคู่ความไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งนี้ต่อไปได้อีก อย่างไรก็ตาม หากมีการคัดค้านกระบวนการที่ไม่ชอบ เช่น การไม่ส่งหมายหรือสำเนาคำฟ้องให้คู่ความครบถ้วน การผิดระเบียบต่างๆ ก็อาจถือว่ากระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย คู่ความที่ได้รับความเสียหายสามารถยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนี้ได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 มาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กล่าวถึงสิทธิคู่ความที่ได้รับความเสียหายจากกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนการที่ผิดระเบียบนั้นได้ เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม มาตรา 27 ยังระบุให้การยื่นคำร้องเพื่อขอเพิกถอนกระบวนพิจารณานี้ต้องดำเนินการภายในแปดวันนับตั้งแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบถึงการกระทำที่ผิดระเบียบ หรือมีพฤติการณ์ให้เข้าใจได้ว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น การใช้มาตรา 27 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา เช่น การส่งหมายผิดพลาด หรือการไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ ถือว่ามีผลให้กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นถูกเพิกถอนไป ซึ่งในกรณีบทความข้างต้น การที่ศาลสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบส่งผลให้คำสั่งคดีมีมูลถูกยกเลิกไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1714/2567 คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตามบทบัญญัติมาตรา 170 แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ฎีกา หมายถึงเฉพาะคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเท่านั้น แต่หากเป็นการคัดค้านเรื่องผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่ได้รับความเสียหายอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ และศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 จึงไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแต่อย่างใด และไม่ทำให้คดีในส่วนอาญาถึงที่สุด โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2563 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้ว คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ไม่อาจขอให้พิจารณาใหม่ได้ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ใหม่ และนัดไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ครั้นถึงวันนัดโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีในส่วนอาญาถึงที่สุดแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 ซึ่งบัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด คู่ความไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้ ดังนั้นศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้เฉพาะคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาให้ยกฟ้องโจทก์ด้วยจึงไม่ชอบ เห็นว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาดตามบทบัญญัติมาตรา 170 ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ฎีกา หมายถึงเฉพาะคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเท่านั้น แต่หากเป็นการคัดค้านเรื่องผิดระเบียบ คู่ความฝ่ายที่ได้รับความเสียหายอาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ และศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 จึงไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแต่อย่างใด และไม่ทำให้คดีในส่วนอาญาถึงที่สุดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทราบว่าถูกฟ้องเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 แต่กลับยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เกินกำหนดแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์แห่งข้ออ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง และเกินกำหนดสิบห้าวันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง จึงไม่ชอบนั้น ในข้อนี้ได้ความตามคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องการถูกฟ้องเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 เนื่องจากโจทก์ส่งข้อความและสำเนาคำฟ้องมาทางแอปพลิเคชันไลน์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบและแจ้งให้เดินทางไปศาลวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่ามีการส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้นมาถึงตน กระทั่งวันที่ 25 เมษายน 2565 จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ทนายความไปตรวจสำนวนที่ศาลชั้นต้น จึงทราบว่าโจทก์นำพยานเข้าไต่สวนเสร็จแล้วและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประทับรับฟ้องจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ทนายจำเลยที่ 1 ไปตรวจสำนวนที่ศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 จึงไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 ส่วนที่อ้างว่า จำเลยยื่นเกินกำหนดสิบห้าวันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 207 ประกอบมาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่งนั้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติการขอให้พิจารณาคดีใหม่ในคดีแพ่ง ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงเป็นคนละกรณีกับคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 โดยไม่รับฟังคำพยานของโจทก์สองปากที่ไต่สวนมูลฟ้องมาแล้วเป็นการไม่ชอบนั้น เมื่อพิจารณารายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ทนายโจทก์แถลงว่า ประสงค์จะนำนายเทียรชัยกับนางสาววรรณธิดามาเป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่พยานทั้งสองปากเห็นว่าได้เบิกความแล้วเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 และศาลมีคำสั่งให้คดีมีมูลไปแล้ว จึงไม่เดินทางมาศาล และจะไม่มาเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องอีก ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า การนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งนี้เนื่องจากส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ชอบ จึงกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ขึ้นมาใหม่ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมาเบิกความเท่ากับโจทก์ไม่มีพยานมาไต่สวนให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ถือว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มีมูล และพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ทำให้กระบวนพิจารณาเดิมตั้งแต่การส่งหมายนัดไต่สวนและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 ตลอดจนคำสั่งที่ให้คดีมีมูลสำหรับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นอันยกเลิกไป ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่เฉพาะจำเลยที่ 1 โจทก์ยังต้องนำพยานมาไต่สวน แม้ว่านายเทียรชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และนางสาววรรณธิดา จะมาเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ทนายโจทก์ยังมีหน้าที่นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อให้ได้ความว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 1 มีมูล หากพยานทั้งสองไม่มาศาลในวันนัดดังกล่าว ทนายโจทก์อาจแถลงขอให้ศาลชั้นต้นเลื่อนการไต่สวนออกไปก่อนเพื่อติดตามพยานทั้งสองมาไต่สวนในนัดหน้า หรือแถลงขอให้ศาลชั้นต้นนำคำเบิกความของพยานทั้งสองที่เคยเบิกความมาแล้วในชั้นไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรกมาเป็นคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในครั้งนี้ โดยคู่ความตกลงกันก็ย่อมทำได้ แต่ทนายโจทก์หาทำเช่นนั้นไม่ กลับแถลงยืนยันว่าพยานทั้งสองจะไม่มาเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องอีก จึงถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์เองที่ไม่มีพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยฟังว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ฟังได้ว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 1 มีมูล จึงเป็นการพิพากษาโดยชอบแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในส่วนแพ่ง 60,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 โดยไม่คืนเงินค่าขึ้นศาลดังกล่าวให้แก่โจทก์ย่อมขัดต่อกฎหมายนั้น คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ด้วย ค่าขึ้นศาลดังกล่าวจึงเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ต้องชำระในคดีส่วนแพ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับในคดีส่วนอาญาแต่อย่างใด อีกทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อไปด้วย ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่มีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาล 60,000 บาท แก่โจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาปลีกย่อยของโจทก์ในประเด็นอื่นไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่วินิจฉัยให้ พิพากษายืน |