

คู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้โอนทรัพย์สินให้บุตรได้ คู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้โอนทรัพย์สินให้บุตรได้-บันทึกหลังทะเบียนหย่า แม้ว่าบิดา มารดาจะทำสัญญาเป็นบันทึกหลังทะเบียนหย่ายกทรัพย์สินให้บุตร แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้บุตรตามข้อตกลง กรณีนี้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิฟ้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามข้อตกลงได้ และผู้ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรตามข้อตกลงหล้งทะเบียนหย่าด้วย เพราะฝ่ายที่ฟ้องคดีใช้สิทธิในฐานะคู่สัญญาฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ การยกทรัพย์สินให้บุตรดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตาม มาตรา 374 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2565/2536 แม้บันทึกท้ายทะเบียนการหย่าจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 โจทก์เป็นคู่สัญญาในบันทึกดังกล่าวโดยตรงกับจำเลยในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตร โจทก์ในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทรัพย์สินให้แก่บุตรได้ ตามบันทึกการหย่าเพียงให้จำเลยอุปการะบุตรเท่านั้น หาใช่ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียวไม่ อำนาจปกครองบุตรยังอยู่กับโจทก์ด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในนามตนเองได้ไม่จำต้องให้บุตรเรียกชำระหนี้จากโจทก์เพราะบุตรจะยอมรับทรัพย์สินหรือไม่ เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี การที่จำเลยฎีกาว่า รถยนต์และบ้าน จำเลยไม่เคยตกลงยกให้แก่บุตร บันทึกข้อตกลงที่เจ้าพนักงานทำขึ้นไม่ชอบเพราะไม่ตรงตามความประสงค์ของจำเลยเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-3053 นครปฐม และบ้านเลขที่ 34/1 หมู่ที่ 1ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แก่เด็กหญิงจารุณี ทุมทัน และเด็กหญิงจารุพรรณ ทุมทัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาให้จำเลยชำระเงินแก่เด็กหญิงจารุณี ทุมทัน และเด็กหญิงจารุพรรณ ทุมทัน จำนวน120,000 บาท แทนการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ง-8606กรุงเทพมหานคร หากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียนก-3053 นครปฐม และบ้านเลขที่ 34/1 หมู่ที่ 1 ตำบลบางแก้วอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมได้ก็ให้ชำระราคาแทนเป็นเงิน40,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยามีบุตรด้วยกันสองคนคือเด็กหญิงจารุณีทุมทัน และเด็กหญิงจารุพรรณ ทุมทัน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน และได้ทำบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าไว้ว่า โจทก์จำเลยตกลงให้จำเลยเป็นผู้อุปการะบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง และเกี่ยวกับทรัพย์สินได้ตกลงกันว่า จำเลยจะยกรถยนต์ 2 คัน และบ้านอีก 1 หลัง ให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนภายในกำหนด 1 ปี มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์จำเลยทำบันทึกยกทรัพย์สินให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนนั้น เป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นได้เห็นว่า แม้บันทึกดังกล่าวจะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 แต่โจทก์ก็เป็นคู่สัญญาในบันทึกโดยตรงกับจำเลย ในการยกทรัพย์สินให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสอง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทรัพย์สินนั้นให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้ ข้อที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ตามบันทึก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในนามของโจทก์เองได้ แต่เป็นเรื่องของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแล้วเห็นว่า ข้อความในข้อ 2 ดังกล่าวเพียงให้จำเลยอุปการะบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเท่านั้น หาใช่ให้จำเลยเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองแต่ผู้เดียวไม่ อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองยังอยู่กับโจทก์ด้วย โจทก์มีอำนาจฟ้องในนามของตนเองได้ไม่จำต้องให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองเรียกชำระหนี้จากโจทก์ เพราะบุตรผู้เยาว์ทั้งสองจะยอมรับทรัพย์สินหรือไม่เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ส่วนที่จำเลยฎีกาว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก-3053 นครปฐม และบ้านเลขที่ 34/1 หมู่ที่ 1 ตำบลบางแก้ว อำเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐม จำเลยไม่เคยตกลงยกให้แก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองบันทึกข้อตกลงที่เจ้าพนักงานทำขึ้นไม่ชอบเพราะไม่ตรงตามความประสงค์ของจำเลย เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษายืน |