ผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรสละมรดกของบุตรผู้เยาว์ไม่ได้
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ • คำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องมรดกและการสละมรดก • สิทธิในทรัพย์สินร่วมและการจัดการทรัพย์สินร่วม • ผู้จัดการมรดกและการขายทรัพย์สินของทายาท • อำนาจผู้ใช้อำนาจปกครองในการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ • ภาระติดพันในทรัพย์สินรวมตามกฎหมายแพ่ง • คำสั่งศาลในการเพิกถอนการขายที่ดิน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2567 เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้เยาว์ในการสละมรดก การที่โจทก์ทั้งสามถูกบิดาและจำเลยที่ 2 ขายที่ดินที่เป็นสินสมรสและทรัพย์มรดกของนายชาลีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งส่งผลให้การขายนั้นไม่มีผลผูกพันโจทก์ และฟ้องขอให้เพิกถอนการขายนี้ ศาลฎีกาพิจารณาว่าการสละมรดกของผู้เยาว์ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574(2)(4) ซึ่งกรณีนี้ไม่มีการอนุญาต จึงไม่มีผลผูกพัน ในประเด็นที่จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำไปจำนองเพื่อกู้เงิน โดยมอบเงินให้จำเลยที่ 3 ไถ่ถอนจำนองและโอนให้จำเลยที่ 1 การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการจัดการเพื่อประโยชน์ของทายาทร่วมทั้งหมด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการขายและการจำนอง ซึ่งถือเป็นการจัดการทรัพย์มรดกโดยไม่สุจริต และไม่มีผลผูกพันทรัพย์สินเฉพาะส่วนของผู้ตาย นอกจากนี้ โจทก์ยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นเช่าบ้านในที่ดินพิพาท โดยการให้เช่าทำให้เกิดภาระติดพันและขัดต่อสิทธิของเจ้าของรวม โจทก์สามารถเรียกค่าเสียหายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง คำพิพากษาศาลฎีกาสรุปให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนและต้องเพิกถอนการขายและการจำนองสำหรับส่วนที่เป็นทรัพย์มรดก หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคสอง มาตรานี้กำหนดว่าเจ้าของทรัพย์สินร่วมคนใดคนหนึ่งสามารถจัดการทรัพย์สินในส่วนของตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทรัพย์สินร่วมได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของร่วมคนอื่น ทั้งนี้ต้องไม่เกินขอบเขตที่จำเป็นเพื่อรักษาสิทธิในทรัพย์สินร่วม ซึ่งช่วยให้เจ้าของรวมสามารถดูแลทรัพย์สินได้โดยไม่ต้องพึ่งพาความยินยอมจากเจ้าของร่วมทุกคนในบางกรณีที่จำเป็น 2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง กฎหมายกำหนดว่าผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สินร่วม มีสิทธิใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นตามสัดส่วนของกรรมสิทธิ์ โดยต้องคำนึงถึงสิทธิของเจ้าของร่วมคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งหมายความว่าการใช้ทรัพย์สินร่วมต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่น 3. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง ในกรณีที่ต้องทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์สินรวม ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน การให้เช่าทรัพย์สินที่มีเจ้าของรวมจึงจำเป็นต้องมีความยินยอมจากเจ้าของร่วมทั้งหมดเพื่อความชอบธรรมในการจัดการทรัพย์สิน 4. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (2) (4) กำหนดให้ผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนทำการใด ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อทรัพย์สินของผู้เยาว์ เช่น การจำหน่ายทรัพย์สินของผู้เยาว์หรือสละสิทธิ์ในมรดก โดยกฎหมายนี้ออกแบบมาเพื่อป้องกันมิให้ทรัพย์สินของผู้เยาว์ถูกจัดการโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้เยาว์ 5. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 มาตรานี้กล่าวถึงกองมรดกว่าประกอบด้วยทรัพย์สิน หน้าที่ และหนี้สินทั้งหมดของผู้ตายที่เหลืออยู่ ซึ่งทายาทมีสิทธิจัดการกองมรดกตามสัดส่วนของสิทธิที่ตนมีอยู่ในกองมรดก การนำทรัพย์สินหรือเงินที่เรียกคืนมารวมในกองมรดกจึงเป็นสิทธิของทายาททุกคนที่มีส่วนร่วมในกองมรดก 6. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรานี้ให้ศาลฎีกามีอำนาจยกข้อกฎหมายขึ้นพิจารณาได้เอง แม้จะไม่มีการยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งแสดงถึงบทบาทของศาลในการรักษาความยุติธรรมที่ต้องมีความชัดเจนในข้อกฎหมาย 7. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 มาตรานี้กำหนดว่าเมื่อมีข้อโต้แย้งในคดีระหว่างคู่ความ ศาลต้องพิจารณาและวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้เสร็จก่อนพิจารณาปัญหาอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยเพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างเป็นลำดับ 8. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 252 มาตรานี้ให้สิทธิศาลสูงสุดในการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนใหม่แม้จะเป็นคดีที่ศาลชั้นล่างได้พิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้คดีสำคัญได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดและเป็นธรรมที่สุด 9. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 กำหนดให้ศาลสามารถสั่งให้คู่ความร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้เพื่อความยุติธรรมในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของทุกฝ่าย
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ตาย เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้สละมรดก ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงินจากธนาคาร ก. แล้วนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ยังได้ความว่า จำเลยที่ 2 มอบเงินให้จำเลยที่ 3 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ยังคงมีอำนาจสั่งการให้จำเลยที่ 3 จัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ตามความต้องการ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการถือที่ดินพิพาทไว้แทน ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายจึงยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย การที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 2 กับ ป. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยมีข้อความตอนหนึ่งให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. หรือแก่บุคคลที่ ป. กำหนด โดยทายาทคนอื่นไม่รู้เห็นยินยอมด้วย และทำไปเพื่อต้องการให้ ป. ไปถอนฟ้องคดีอาญาจำเลยที่ 2 ข้อหายักยอก เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การจัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะกระทำให้มีผลผูกพันทรัพย์มรดกได้ คงมีผลผูกพันที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โดยปลอดจากภาระจำนองที่ดินทั้งแปลง เพราะการจำนองที่ดินพิพาทต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง โจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 โดยยึดโยงจากการที่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นเช่าบ้านเลขที่ 262/1 อยู่บนที่ดินพิพาท ขณะฟ้องไม่ปรากฏว่าสัญญาเช่าเลิกกันแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาขายที่ดินพิพาท ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่า การที่จำเลยที่ 1 นำบ้านดังกล่าวออกให้บุคคลอื่นเช่า เป็นการจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 วรรคสอง ซึ่งเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นก่อน แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทเป็นก่อให้เกิดภาระติดพันบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาท ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1361 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสามแสดงออกชัดว่า ไม่ยินยอม การให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทจึงขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทของผู้ตาย จึงเป็นผู้เสียหายชอบที่จะใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดในส่วนของผู้ตายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนระยะเวลาการชดใช้ค่าเสียหายนั้นให้นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่มีการเช่าบ้านเลขที่ 262/1 หรือจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท หรือจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดระยะเวลาให้ถึงวันที่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมบ้านเลขที่ 262/1 หากไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากธนาคาร ซ. เป็นเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป และหากจำเลยทั้งสามไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนการขายและโอนที่ดินได้ก็ให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม กับให้กำจัดจำเลยทั้งสามมิให้มีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม กับให้โจทก์ทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีโดยวินิจฉัยปัญหาอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา และได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน โดยให้เสียค่าขึ้นศาลจำนวน 30,000 บาท ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามในที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมบ้านเลขที่ 262/1 ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายชาลี หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม กับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากธนาคาร ซ. ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 หากไม่ไถ่ถอนจำนองให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กรกฎาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น และให้กำจัดจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิให้มีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสามได้รับยกเว้นแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสามอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน โดยให้เสียค่าขึ้นศาลคนละจำนวน 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสามในที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมบ้านเลขที่ 262/1 คนละ 1 ใน 12 ส่วน ของครึ่งหนึ่งแห่งทรัพย์สินดังกล่าว หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม เดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กรกฎาคม 2559) จนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากธนาคาร ซ. ให้โจทก์ทั้งสามไถ่ถอนได้เอง โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ยกคำขอที่ขอให้กำจัดจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิให้มีสิทธิรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาคนละ 15,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา โดยโจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน โดยให้เสียค่าขึ้นศาลจำนวน 20,000 บาท ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต จำหน่ายคดีโจทก์ทั้งสามออกจากสารบบความศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสามบุตรเป็นของนายชาลี กับนางแสงอรุณ โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมของนายชาลี จำเลยที่ 1 และนายชาลีเป็นบุตรของนายประยูร กับนางสุดใจ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายชาลี มีบุตรด้วยกัน 6 คน จำเลยที่ 3 เป็นบุตรคนหนึ่งของบุคคลทั้งสอง จำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายชาลี นายชาลีถึงแก่ความตายวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 ขณะถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมบ้านเลขที่ 262/1 ปลูกอยู่บนที่ดินแปลงนี้ เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายชาลี จึงตกเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของนายชาลี ต่อมาที่ดินแปลงนี้มีการขอออกโฉนดเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 190849 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1109/2544 หมายเลขแดงที่ 1484/2544 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องนางแสงอรุณเรียกทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในคดีนี้ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 153/2545 หมายเลขแดงที่ 1448/2546 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 2 กับผู้ตาย เป็นทรัพย์มรดกให้ขับไล่นางแสงอรุณออกจากบ้านเลขที่ 262/1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และศาลฎีกาพิพากษายืนในประเด็นดังกล่าว ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว และคดีอยู่ในชั้นบังคับคดี วันที่ 17 สิงหาคม 2547 นางแสงอรุณในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสามทำบันทึกข้อตกลงในชั้นบังคับคดี ตามบันทึกข้อตกลง ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวอ้างว่า นางแสงอรุณผิดข้อตกลง ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกอุทธรณ์ของนางแสงอรุณ และเพิกถอนคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมิใช่คำพิพากษาตามยอม ไม่มีผลผูกพันคู่ความ ตามคำสั่งวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 นายประยูรยื่นคำร้องขอถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1109/2544 หมายเลขแดงที่ 1484/2544 ของศาลชั้นต้น วันที่ 9 มิถุนายน 2548 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายขายที่ดินพิพาทโฉนดตราจองเลขที่ 8026 ให้แก่จำเลยที่ 3 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองต่อธนาคาร ก. วันที่ 10 สิงหาคม 2548 จำเลยที่ 2 กับนายประยูรทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีที่นายประยูร ยื่นคำร้องขอถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามสัญญาประนีประนอมยอม วันที่ 15 สิงหาคม 2548 จำเลยที่ 3 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. วันที่ 1 ธันวาคม 2548 จำเลยที่ 3 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำโฉนดตราจองที่ดินพิพาทขอออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 190849 วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแล้วตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1109/2544 หมายเลขแดงที่ 1484/2544 ของศาลชั้นต้น ตามคำสั่ง วันที่ 26 ธันวาคม 2549 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในข้อหาเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล (ผู้จัดการมรดกของผู้ตาย) ยักยอกทรัพย์มรดกของผู้ตาย วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 354 ตามคำฟ้องและคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1544/2549 หมายเลขแดงที่ 1492/2550 ของศาลชั้นต้น วันที่ 16 ตุลาคม 2550 นายประยูรถึงแก่ความตาย วันที่ 13 มีนาคม 2551 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายประยูร วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 190849 ไว้ต่อธนาคาร ซ. ยกคำขอกำจัดจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิให้รับมรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสามมิได้ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ฎีกามีว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้ขายกับจำเลยที่ 3 ผู้ซื้อ ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 และสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 ผู้ขายกับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 หรือไม่ และจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองว่า โจทก์ทั้งสามสละมรดกที่ดินพิพาทโดยนางแสงอรุณมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ทั้งสามทำบันทึกตกลงสละมรดกของผู้ตายไว้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ขณะนางแสงอรุณทำบันทึกฉบับนี้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของนางแสงอรุณมารดาโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 และมาตรา 1574 ให้อำนาจผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมใด ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ได้เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทผู้ใช้อำนาจปกครองต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนจึงจะทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ได้ การสละมรดกของผู้เยาว์เป็นการกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และเป็นการจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพยสินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น นางแสงอรุณจึงต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนทำบันทึกข้อตกลง ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1574 (2) (4) ไม่ปรากฏว่า นางแสงอรุณได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำบันทึก ข้อตกลงแต่อย่างใด บันทึกข้อตกลง ที่นางแสงอรุณทำไว้ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามไม่เป็นการสละมรดกที่ดินพิพาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้สละมรดก ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เป็นตัวแทนของทายาทในการจัดการทรัพย์มรดก มีหน้าที่จัดการทรัพย์มรดกโดยทั่วไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, 1723, 1724 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ตามหนังสือสัญญาขาย เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันการกู้เงินจากธนาคาร ก. ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน แล้วนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ยังได้ความว่า จำเลยที่ 2 มอบเงินให้จำเลยที่ 3 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท แล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือสัญญาขาย พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 ตามหนังสือสัญญาขาย โดยมีความมุ่งหมายให้จำเลยที่ 3 นำที่ดินพิพาทไปเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคาร ก. แทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยังคงมีอำนาจสั่งการให้จำเลยที่ 3 จัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้ตามความต้องการ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการถือที่ดินพิพาทไว้แทน ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายจึงยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนการที่จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 3 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น เป็นการจัดการทรัพย์มรดกโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1109/2544 หมายเลขแดงที่ 1484/2544 ของศาลชั้นต้น นายประยูรร้องขอถอนจำเลยที่ 2 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จำเลยที่ 2 กับนายประยูรทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยมีข้อความตอนหนึ่งให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพาทให้แก่นายประยูรหรือแก่บุคคลที่นายประยูรกำหนด โดยทายาทคนอื่นไม่รู้เห็นยินยอมด้วย และทำไปเพื่อต้องการให้นายประยูรไปถอนฟ้องคดีอาญาจำเลยที่ 2 ข้อหายักยอก เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่การจัดการทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะกระทำให้มีผลผูกพันทรัพย์มรดกได้ คงมีผลผูกพันที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น และไม่อาจอ้างสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งทำโดยผู้ไม่มีอำนาจกระทำนิติกรรมผูกพันทรัพย์มรดกได้มาบังคับใช้ให้ต้องโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 กรณีที่ผู้พิพากษาลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลเพื่อรับรู้ว่ามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเท่านั้น ขณะจำเลยที่ 3 ตัวแทนของจำเลยที่ 2 โอนที่ดินพาทให้แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 1 ธันวาคม 2548 จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 และนายประยูรยังมีชีวิต (ถึงแก่ความตายวันที่ 16 ตุลาคม 2550) จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายและไม่มีหน้าที่อย่างใดในกองมรดกของผู้ตาย ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า โอนที่ดินพิพาทเพื่อให้จำเลยที่ 1 นำเข้ากองมรดกของผู้ตายเพื่อไปบริหารจัดการหนี้ของผู้ตาย และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองเดียวกันว่า เพื่อไปบริหารจัดการชำระหนี้ของผู้ตาย จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยที่ 3 ตัวแทนของจำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเป็นการจัดการทรัพย์มรดกโดยมิชอบ ไม่สุจริต และไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ จำเลยที่ 1 ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทไว้ก็ไม่มีสิทธิ ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของผู้ตายยังเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 โดยปลอดจากภาระจำนองที่ดินทั้งแปลง เพราะการจำนองที่ดินพิพาทต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินพาท ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนสัญญาขายที่ดินพิพาท ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ทั้งแปลงรวมถึงที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 2 ด้วยซึ่งมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เนื่องด้วยอำนาจกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 2 เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิจำหน่ายทรัพย์สินของตนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336, 1361 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกกึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาท ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามนับถัดจากวันฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 หรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสามเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 โดยยึดโยงจากการที่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นเช่าบ้านเลขที่ 262/1 อยู่บนที่ดินพิพาท ขณะฟ้องไม่ปรากฏว่าสัญญาเช่าเลิกกันแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาขายที่ดินพิพาท ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าวันที่ 25 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 นำบ้านดังกล่าวออกให้บุคคลอื่นเช่า เป็นการจัดการทรัพย์สินตามธรรมดาเพื่อรักษาทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1358 วรรคสอง ซึ่งเจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งมีสิทธิจัดการได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมคนอื่นก่อน แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทเป็นก่อให้เกิดภาระติดพัน บ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาท ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของรวมทุกคน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสามแสดงออกชัดว่า ไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทออกให้เช่า การให้เช่าบ้านเลขที่ 262/1 บนที่ดินพิพาทจึงขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทของผู้ตาย จึงเป็นผู้เสียหายชอบที่จะใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดในส่วนของผู้ตายเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรวมทุกคน เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และกรณีนี้ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ต้องนำค่าเสียหายที่ได้รับมาเข้าเป็นกองมรดกของผู้ตาย เนื่องจากกองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดจนสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ค่าเสียหายตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดให้เดือนละ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดให้สูงเกินไป ค่าเสียหายจึงเป็นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดไว้ ส่วนระยะเวลาการชดใช้ค่าเสียหายนั้นให้นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่มีการเช่าบ้านเลขที่ 262/1 หรือจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท หรือจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดระยะเวลาให้ถึงวันที่จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 และ 252 อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ทั้งสามดำเนินคดีโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล และพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งสามได้รับยกเว้นแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท แต่มิได้สั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 ศาลฎีกาจึงสั่งใหม่ให้ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนหนังสือสัญญาขายที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 8026 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนายชาลี กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายโดยนำเงินไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อนำเข้ากองมรดกของผู้ตายดำเนินการจัดการทรัพย์มรดกต่อไป นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กรกฎาคม 2559) เป็นต้นไปตลอดระยะเวลาที่มีการเช่าบ้านเลขที่ 262/1 หรือจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท หรือจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้น แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะเกิดขึ้นก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แต่ค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งสามจะต้องใช้แทนโจทก์ทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2567 |