ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




ผลของการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม

ผลของการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนไม่มีการทำนิติกรรม

การชำระหนี้อันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายนั้น คู่สัญญาจะต้องชำระหนี้ในลักษณะสัญญาต่างตอบแทนภายหลังจากสัญญาเลิกกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม แล้วการกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมหมายความว่าอย่างอย่างไร ก็ให้คู่สัญญากลับไปเสมือนไม่มีการทำนิติกรรมกันมาก่อนเลย เช่นผู้ซื้อที่ดินต้องคืนที่ดินให้ผู้ขาย และผู้ขายต้องคืนเงินที่ผู้ซื้อได้ชำระหนี้ไปแล้วหรือได้ชำระหนี้ไปเพียงบางส่วนก็ตาม ในคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน แต่ไม่ได้มีคำพิพากษาให้ผู้ขายคืนเงินมัดจำและคืนเช็คค่าที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งเป็นการตอบแทนอันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญา จึงไม่ใช่กรณีที่ให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3235/2554

      การให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการเลิกสัญญาจะซื้อจะขายเป็นการชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดจากการเลิกสัญญา คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องปฏิบัติต่อกันในลักษณะสัญญาต่างตอบแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 392 ประกอบมาตรา 391 และมาตรา 369 เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ให้จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่าง ๆ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินที่เคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป โดยมิได้ให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินมัดจำและเช็คที่ได้รับไว้จากจำเลย อันเป็นการชำระหนี้ต่างตอบแทนที่เกิดจากการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิมให้แก่จำเลยด้วยนั้นจึงไม่ชอบ

มาตรา 369  ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
 
มาตรา 391  เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น
การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่
 
มาตรา 392  การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369
 
      โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นเงาะ ต้นลองกองและต้นไม้ต่างๆ ที่ปลูกไว้ในที่ดินที่จำเลยเคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสองตามคำฟ้อง และขนย้ายออกไปจากที่ดินนั้น ห้ามเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินนั้นอีกต่อไป ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์ทั้งสองทางด้านทิศเหนือที่จำเลยขออนุญาตทำถนนผ่านเข้าที่ดินแปลงที่ซื้อขายและขนย้ายออกไปจากที่ดินดังกล่าว ห้ามยุ่งเกี่ยวในที่ดินนั้นอีกต่อไป และให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวนเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกับต้นไม้และขนย้ายออกไปจากที่ดินดังกล่าวเสร็จสิ้น

  จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

     ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นเงาะ ต้นลองกอง และต้นไม้ต่างๆ ที่จำเลยปลูกไว้ในที่ดินที่จำเลยเคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จำเลยขออนุญาตโจทก์ทั้งสองทำถนนผ่านเข้าที่ดินแปลงที่ซื้อขายกับขนย้ายออกจากที่ดินดังกล่าว ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินนั้น และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวนเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันที่ 11 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่างๆ ที่จำเลยและบริวารปลูกไว้ออกจากที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท

  จำเลยอุทธรณ์

  ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง

   จำเลยฎีกา

 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวนเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันที่ 11 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่าง ๆ ที่จำเลยและบริวารปลูกไว้ออกจากที่ดินดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 โจทก์ทั้งสองตกลงขายที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 25 ตำบลเกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด บางส่วนให้จำเลย เป็นการขายเหมาในราคา 4,000,000 บาท ที่ดินที่ขายทิศตะวันออกจดที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 30 ทิศเหนือจดที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 30 และจดแนวคลอง จำเลยวางมัดจำค่าที่ดินจำนวน 500,000 บาท โดยออกเช็คสั่งจ่ายเงินให้โจทก์ทั้งสองจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้รับเงินตามเช็คทั้งสองฉบับแล้ว ส่วนที่เหลือจำเลยออกเช็คลงวันที่ 5 มกราคม 2543 สั่งจ่ายเงินจำนวน 3,500,000 บาท มอบให้โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบที่ดินพิพาทที่ตกลงขายให้จำเลยเข้าปรับปรุงได้ตั้งแต่วันทำสัญญาและอนุญาตให้จำเลยทำถนนในที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จำเลยไม่ได้ซื้อเพื่อให้ออกสู่ถนนสาธารณะได้ด้วย โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันว่า โจทก์ทั้งสองต้องยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เมื่อได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว โจทก์ก็จะโอนให้จำเลยโดยจำเลยจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือให้จำเลยเป็นผู้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เองก็ได้ ในการทำสัญญาจำเลยให้ระบุชื่อนางสาวสายฝน และนางสุเพ็ญ เป็นผู้ซื้อร่วมกับจำเลยด้วย ตามหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินลงวันที่ 8 ธันวาคม 2537 ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2538 นางสาวสายฝนได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทตาม เจ้าพนักงานที่ดินออกไปทำการรังวัดพิสูจน์สอบสวนแล้ว ปรากฏว่าที่ดินที่ขอไม่ตรงกับหลักฐาน ส.ค. 1 เลขที่ 25 นางสาวสายฝนจึงขอถอนคำขอนั้นออกไป ต่อมาเดือนตุลาคม 2538 จำเลยให้ทนายความมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองแจ้งว่าที่ดินพิพาทที่ตกลงจะซื้อขายไม่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้เพราะไม่มี ส. ค. 1 จำเลยจึงไม่ประสงค์จะซื้ออีกต่อไป ให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาท และเช็คฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2543 ที่สั่งจ่ายเงินจำนวน 3,500,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาทตามหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2538 ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ทั้งสองให้ทนายความมีหนังสือแจ้งจำเลยว่า โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะขายที่ดินพิพาทให้ต่อไปแล้วและขอริบเงินมัดจำ กับให้จำเลยรื้อถอนเสาไฟฟ้าออกไปจากที่ดินโดยโจทก์ทั้งสองถือว่าการบอกเลิกสัญญาของจำเลยดังกล่าวเป็นการผิดสัญญา ส่วนจำเลยนำสืบว่า การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทมีเงื่อนไขว่าโจทก์ทั้งสองจะไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วโอนให้จำเลยหรือจะให้จำเลยเป็นผู้ไปขอออกหนังสือนั้นเองก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 นางสาวสายฝนมอบอำนาจให้จำเลยไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตามหนังสือมอบอำนาจ คำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และหนังสือเรื่องการระวังชี้แนวเขต แต่ปรากฏว่าที่ดินที่นำชี้ให้รังวัดมีเขตติดทะเลและมีคลองผ่านกลางซึ่งไม่ตรงตามที่ตกลงซื้อขายกันว่าเป็นที่ดินไม่ติดทะเลและไม่มีคลอง แต่จำเลยได้ยืนยันว่าเป็นที่ดินตามที่ตกลงซื้อขายกัน เจ้าพนักงานที่ดินจึงยกเลิกการรังวัด ต่อมาจำเลยแจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินพิพาทที่ตกลงซื้อขายกันนั้นไม่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ และจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 แจ้งให้โจทก์ทั้งสองลดราคาที่ดินลงและให้นำเช็คที่สั่งจ่ายเงินจำนวน 3,500,000 บาท มาเปลี่ยนเป็นเช็คที่สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท โดยจำเลยได้แจ้งถึงสิทธิครอบครองของจำเลยด้วย ส่วนที่ทนายความจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2538 ตามแจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยจึงบอกเลิกสัญญานั้นเป็นเพราะทนายความเข้าใจผิดเนื่องจากจำเลยแจ้งแก่ทนายความทางโทรศัพท์ ทนายความจำเลยยังไม่เคยเห็นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยแต่จำเลยก็ยังคงครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาโดยได้ปลูกต้นไม้ต่าง ๆ และปลูกบ้านในที่ดินนั้นด้วย โจทก์ทั้งสองไม่เคยคัดค้าน เมื่อเดือนธันวาคม 2538 และเดือนเมษายน 2539 บุตรโจทก์ทั้งสองเข้าไปลักมะพร้าวในที่ดินที่จำเลยครอบครองจนถูกดำเนินคดีอาญา ในการดำเนินคดีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ไปให้การในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาลว่า โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว ตามคำให้การในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1692/2540 ของศาลชั้นต้น จำเลยไม่เคยปฏิบัติผิดสัญญาและไม่เคยสละการครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งไม่เคยส่งมอบการครอบครองที่ดินนั้นแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่ได้คืนเงินจำนวน 500,000 บาท แก่จำเลย เห็นว่าจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองและจำเลยดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2538 ฝ่ายจำเลยได้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองจะขายให้จำเลยนางสาวสายฝนและนางสุเพ็ญตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทได้ ดังนี้ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ฝ่ายจำเลยได้ จำเลยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งปรากฏต่อมาว่าเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2538 จำเลยให้ทนายความมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองแจ้งว่าที่ดินพิพาทที่ตกลงจะซื้อขายไม่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้เพราะไม่มี ส.ค. 1 จำเลยจึงไม่ประสงค์จะซื้ออีกต่อไป ให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาท และเช็คฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2543 ที่สั่งจ่ายเงินจำนวน 3,500,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท โจทก์ทั้งสองมิได้โต้แย้งการบอกเลิกสัญญาของจำเลยดังกล่าวว่าโจทก์ทั้งสองสามารถขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทได้แต่อย่างใดจำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่าที่ดินพิพาทที่ตกลงซื้อขายกันนั้นไม่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ จึงขอให้โจทก์ทั้งสองลดราคาที่ดินลงและให้นำเช็คที่สั่งจ่ายเงินจำนวน 3,500,000 บาท มาเปลี่ยนเป็นเช็คที่สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ส่วนที่ทนายความจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2538 แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่าโจทก์ทั้งสองผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาเป็นเพราะทนายความเข้าใจผิด เนื่องจากจำเลยแจ้งแก่ทนายความทางโทรศัพท์ ทนายความจำเลยไม่เคยเห็นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาโดยปลูกต้นไม้ต่าง ๆ และปลูกบ้านในที่ดินพิพาทด้วยนั้น ก็ไม่ปรากฏว่านายจำรัส ทนายความจำเลยซึ่งเป็นบุคคลเดียวกันที่ทำหนังสือ ถึงโจทก์ทั้งสองได้ระบุในหนังสือลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 ว่า ที่ทนายความจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2538 ไปบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองนั้นเป็นความเข้าใจผิดของทนายความจำเลยและขอยกเลิกหนังสือบอกเลิกสัญญา นั้นเสียแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่การที่ทนายความจำเลยส่งหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองมีระยะเวลาห่างจากการส่งหนังสือถึง 4 เดือน 16 วัน ข้อนำสืบของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเกิดจากความเข้าใจผิดของทนายความจำเลย การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท จึงยังคงมีผลผูกพันจำเลยและโจทก์ทั้งสอง หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงคำเสนอขึ้นมาใหม่ของฝ่ายจำเลยที่จะขอลดราคาที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้มีคำสนองรับคำเสนอของฝ่ายจำเลยดังกล่าวแต่โจทก์ทั้งสองกลับให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2540 แจ้งบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะขายที่ดินพิพาทต่อไปและขอริบเงินมัดจำ เช่นนี้ การขอลดราคาที่ดินพิพาทของฝ่ายจำเลยจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลย เมื่อการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2538 ของจำเลยโดยจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ คู่สัญญาฝ่ายโจทก์ทั้งสองต้องคืนเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 7 และคืนเช็คลงวันที่ 5 มกราคม 2543 ที่จำเลยสั่งจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 3,500,000 บาท แก่จำเลย และคู่สัญญาฝ่ายจำเลยต้องออกจากที่ดินที่จำเลยเคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสอง โดยทำให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิมด้วยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่าง ๆ ที่จำเลยปลูกไว้ออกไปกับต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จำเลยขออนุญาตโจทก์ทั้งสองทำถนนผ่านเข้าที่ดินแปลงที่ซื้อขายและขนย้ายออกจากที่ดินดังกล่าว รวมทั้งต้องชดใช้ค่าใช้ที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2537 อันเป็นวันที่จำเลยได้รับมอบการครอบครองที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดเป็นค่าเสียหายฐานละเมิดที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทในอัตราเดือนละ 10,000 บาท หรือจำนวนปีละ 120,000 บาท นั้น เมื่อคำนึงถึงสภาพที่ตั้งของที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่จำนวนประมาณ 10 ไร่ และเป็นที่ดินที่ยังไม่สามารถขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทั้งโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าจะสามารถหาผลประโยชน์จากที่ดินด้วยวิธีใดเป็นเงินจำนวนเท่าใดแล้ว เห็นว่า ค่าเสียหายจำนวนปีละ 120,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดนั้น ยังสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดค่าใช้ที่ดินพิพาทให้เหมาะสมกับสภาพและที่ตั้งที่ดินนั้น เป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท การให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญา คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องปฏิบัติต่อกันในลักษณะสัญญาต่างตอบแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 392 ประกอบมาตรา 391 และมาตรา 369 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายโจทก์ทั้งสองมิได้ให้จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการคืนเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวและคืนเช็คลงวันที่ 5 มกราคม 2543 ที่จำเลยสั่งจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 3,500,000 บาท แก่จำเลย จำเลยจึงยังไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนโจทก์ทั้งสองด้วยการออกไปจากที่ดินที่จำเลยเคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสองพร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่าง ๆ ที่จำเลยปลูกไว้ออกไปกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จำเลยขออนุญาตโจทก์ทั้งสองทำถนนผ่านเข้าที่ดินแปลงที่ซื้อขายและขนย้ายออกไปจากที่ดินดังกล่าว รวมทั้งต้องชดใช้ค่าที่ดินพิพาทในอัตราเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2537 จนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินดังกล่าว การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายเพื่อละเมิดแก่โจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่าง ๆ ที่จำเลยปลูกไว้ในที่ดินที่จำเลยเคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่จำเลยขออนุญาตโจทก์ทั้งสองทำถนนผ่านเข้าที่ดินแปลงที่ซื้อขายกับขนย้ายออกจากที่ดินดังกล่าว ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองจำนวนเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันที่ 11 ธันวาคม 2541 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ต่าง ๆ ที่จำเลยและบริวารปลูกไว้ออกจากที่ดินดังกล่าวนั้น โดยมิได้ให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ต่างตอบแทนอันเกิดจากการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะเดิมให้แก่จำเลยด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้นเงาะ ต้นลองกอง และต้นไม้ต่าง ๆ ที่ปลูกไว้ในที่ดินที่จำเลยเคยตกลงซื้อจากโจทก์ทั้งสองตามคำฟ้องกับขนย้ายออกไปจากที่ดินนั้น และให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกับเสาไฟฟ้าในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทางด้านทิศเหนือที่จำเลยขออนุญาตทำถนนผ่านเข้าที่ดินแปลงที่ซื้อขายกับขนย้ายออกไปจากที่ดินดังกล่าว รวมทั้งชดใช้ค่าใช้ที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองในอัตราเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2537 จนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินนั้นไปต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองได้คืนเงินมัดจำแก่จำเลยจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวและคืนเช็คเลขที่ 3894251 ลงวันที่ 5 มกราคม 2543 ที่จำเลยสั่งจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 3,500,000 บาท แก่จำเลยแล้ว ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
 
การบอกเลิกสัญญาให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมให้คิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันใด?

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6543/2562

ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับไว้ถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 20,701,095.88 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 16,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558) ต้องไม่เกิน 542,465.75 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เพิ่มอีก 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6893 เลขที่ 9777 และเลขที่ 16361 โดยที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง เป็นที่ดินเลขที่ 47 เลขที่ 48 และเลขที่ 102 ตามลำดับ ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นผืนเดียว ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 โจทก์ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง เนื้อที่ 28 ไร่ 347 ตารางวา กับจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงิน 115,470,000 บาท โดยวางมัดจำส่วนที่ 1 ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 4,000,000 บาท และส่วนที่ 2 ในวันที่ 12 มิถุนายน 2558 เป็นเงิน 16,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 15 ตุลาคม 2558 หลังจากนั้น วันที่ 14 ตุลาคม 2558 โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายไปยังจำเลยทั้งสอง โดยอ้างเหตุว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าที่ดินของผู้อื่นที่อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองที่จะขายแก่โจทก์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองฉ้อฉลโจทก์เป็นเหตุให้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำเป็นโมฆียะหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของคู่ความได้ความว่า ก่อนเกิดข้อพิพาท โจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองและไม่เคยทราบตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินพิพาทที่แท้จริง กรณีจึงไม่มีเหตุจูงใจให้โจทก์ต้องกลั่นแกล้งกล่าวหาจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะตรวจสอบที่ตั้งของที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง ได้จากสำเนาโฉนดที่ดิน แต่หากโจทก์ไปดูที่ดินติดถนนบางนา-ตราด กม. 52 ในพื้นที่จริง โจทก์ย่อมไม่อาจทราบได้ว่าที่ดินพิพาทคือที่ดินแปลงใดและมีแนวเขตเริ่มจากจุดใด เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวมีอาณาเขตติดต่อกันเป็นที่ดินผืนใหญ่ผืนเดียวโดยไม่มีป้ายหรือสิ่งใดบ่งบอกว่าที่ดินส่วนใดเป็นของจำเลยทั้งสองและที่ดินส่วนใดเป็นของบุคคลอื่น ฉะนั้นการที่โจทก์เชื่อมั่นและปักใจมาตลอดว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์จะซื้อตั้งอยู่ติดถนนบางนา-ตราด กม. 52 โดยมีแนวเขตที่ดินเริ่มจากแนวรั้วลวดหนามด้านซ้ายไปจนจรดแนวลำรางด้านขวา จึงไม่น่าจะเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง แต่น่าจะเกิดจากการที่นางสาวภาวินันท์และจำเลยที่ 1 นำชี้และยืนยันจนทำให้โจทก์สำคัญผิดว่า ที่ดินเลขที่ 49 ของนายธงชัย ซึ่งอยู่ติดกับแนวรั้วลวดหนามเป็นที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสอง โดยความในข้อนี้เห็นได้ชัดจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากนายสาธิต เจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินที่ยืนยันว่า ในวันรังวัดที่ดินวันที่ 10 สิงหาคม 2558 พยานสอบแนวเขตที่ดินพิพาทจากนางสาวภาวินันท์ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยทั้งสองแล้ว นางสาวภาวินันท์ชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองว่า เริ่มจากแนวรั้วลวดหนาม ซึ่งเป็นการชี้แนวเขตที่ผิดไปจากความจริง ทั้งเมื่อพิจารณา ในรายละเอียดลึกลงไปก็พบว่า จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง เมื่อปี 2538 จากนั้นจำเลยทั้งสองได้เคยรังวัดสอบที่ดินของตนเมื่อปี 2549 โดยนายธงชัยผู้เป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงเลขที่ 49 ได้ลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินไว้ด้วยและในส่วนที่ดินเลขที่ 49 ของนายธงชัยดังกล่าว นายธงชัยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ให้ข้อมูลมีใจความว่า นายธงชัยซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2548 โดยขณะนั้นแนวรั้วลวดหนามและเสาตอม่อได้มีอยู่ก่อนแล้ว รูปคดีตามถ้อยคำของนายสาธิตและนายธงชัยจึงชี้ชัดว่า จำเลยทั้งสองทราบตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินพิพาทเป็นอย่างดี แต่ตั้งใจปกปิดความจริงแก่โจทก์โดยไม่สุจริต เมื่อข้อนำสืบของโจทก์ที่วินิจฉัยเป็นลำดับมามีพยานหลักฐานเชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผล จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือดีกว่าข้อนำสืบต่อสู้ของจำเลยทั้งสอง โดยกรณีรับฟังได้ว่า โจทก์แสดงเจตนาทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและวางมัดจำ เพราะถูกจำเลยทั้งสองใช้กลฉ้อฉลโดยมอบหมายให้นางสาวภาวินันท์ซึ่งเป็นนายหน้าฝ่ายขายนำชี้และยืนยันทำเลที่ตั้งของที่ดินพิพาทผิดจากความจริงไปประมาณ 90 เมตร ซึ่งหากโจทก์ทราบความจริงตั้งแต่ต้นว่าที่ตั้งของที่ดินพิพาทไม่ได้มีแนวเขตจากแนวรั้วลวดหนามด้านซ้าย แต่อยู่ในแนวโค้งของถนนบางนา-ตราด ไปตลอด โจทก์ย่อมจะไม่ซื้อที่ดินพิพาทเพราะไม่เหมาะแก่ประโยชน์ในทางธุรกิจตามคำยืนยันของโจทก์ การแสดงเจตนาทำสัญญาของโจทก์เพราะถูกกลฉ้อฉลถึงขนาดเช่นนี้ จึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 และเมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมด้วยการบอกเลิกสัญญา ย่อมถือว่านิติกรรมเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรกและเป็นผลให้คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000,000 บาท โดยต้องคืนมัดจำทั้งหมดแก่โจทก์ ทั้งหากจำเลยทั้งสองเห็นว่า โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทด้วยความสมัครใจโดยไม่ได้ถูกจำเลยทั้งสองใช้กลฉ้อฉลและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองก็ควรที่จะปกป้องรักษาสิทธิและพิสูจน์ความสุจริตของตนด้วยการฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมกับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 95,470,000 บาท แก่จำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองไม่กระทำเช่นนั้น ประกอบกับเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 16,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นอกจากจำเลยทั้งสองจะไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้แล้ว จำเลยทั้งสองยังนำเงิน 16,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่งรวมเป็นเงิน 17,745,753.50 บาท ไปวางต่อศาลชั้นต้นในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพื่อชำระให้แก่โจทก์ ซึ่งทำให้เห็นได้โดยปริยายว่า จำเลยทั้งสองยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับมัดจำคืนไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินมัดจำแก่โจทก์เพิ่มเติมอีก 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 20,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 16,000,000 บาท นับแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2558 และของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 อันเป็นการให้ดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับเงินแต่ละครั้งจากโจทก์นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง คงบัญญัติให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยไม่ได้บัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ แตกต่างกับกรณีกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนดอกเบี้ย จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 และการที่จำเลยทั้งสองรับเงินของโจทก์ไว้ดังกล่าวย่อมเป็นหนี้เงิน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยทั้งสองจะตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวทวงถาม แล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 โดยโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 20,000,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2558 ครบกำหนด 15 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามดังกล่าววันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000,000 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ




นิติกรรม

องค์ประกอบของนิติกรรม article
สัญญารับเหมาก่อสร้างเลิกกัน คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม article
การโอนที่ดินในระยะเวลาห้ามโอนเป็นโมฆะ
สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน
ทำสัญญากู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของสมาคมไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
แม้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะแต่ยังต้องรับผิดต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด
ข้อตกลงให้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ชำระค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ขายที่ดินห้ามโอนภายใน 10 ปีเป็นการสละการครอบครอง
สิทธิได้รับค่าตอบแทนก่อนบอกเลิกสัญญาตัวแทนประกันชีวิต
ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประกันชีวิต-อ้างถูกฉ้อฉลให้ทำสัญญา
ผู้รับประกันภัยได้รับประกันวินาศภัยไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ
ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินอัตราเป็นโมฆะต้องนำมาหักเป็นต้นเงิน
สัญญาเช่าบ้านภายหลังการซื้อขาย
ผู้จะขายไม่ได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดินผู้จะซื้อไม่รู้สัญญาไม่เป็นโมฆะ
ผู้แทนโดยชอบธรรมทำสัญญาขายไม้มรดกส่วนของผู้เยาว์-ไม่ต้องขออนุญาตศาลก่อน
คู่สัญญามีอำนาจฟ้องให้โอนทรัพย์สินให้บุตรได้
การฟ้องคดีแพ่งมิใช่เป็นการทำนิติกรรม
การกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในสัญญาถือว่าเป็นเบี้ยปรับ
จดทะเบียนจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของตน
สิทธิในการเช่าซื้อเป็นมรดกหรือไม่?
ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่นโดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมีเจ้าหนี้อื่นมาขอเฉลี่ยหนี้
สัญญาเช่าที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของรวม
สิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด
สัญญเช่าตึกแถว ผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของตึกแถวที่ให้เช่า
สัญญาจะซื้อจะขายมีผลอย่างไรกับสัญญาซื้อขาย
หนังสือมอบอำนาจ พิมพ์ลายนิ้วมือ
กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยฝ่าฝืนเป็นโมฆะ | ดอกเบี้ยผิดนัด
สิทธิของผู้รับจำนองเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้เรียกว่า"บุริมสิทธิ"
สัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงให้ผูกพันกัน
นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย, ฝ่าฝืนกฎหมาย
การขายอสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน
นิติกรรมอำพรางคู่กรณีต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม