

สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ และให้โจทก์เข้าทำกินในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งหากมีการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจริง โจทก์น่าจะจัดการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของโจทก์นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกัน เนื่องจากโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แม้ต่อมาทางราชการเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นโฉนดที่ดิน โจทก์ก็มิได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่โจทก์เพียงแต่รับโฉนดที่ดินพิพาทมาเก็บรักษาไว้เท่านั้น การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเองและแม้ในกรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อนายติ่งและจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมีผลบังคับกันได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2556 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่า ต. และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้น ว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่า ต. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมด รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจาก ต. และจำเลยที่ 1 โดยมิได้จัดให้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในที่ดินพิพาททั้งสองซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องจึงเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน ทำให้นิติกรรมการซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แม้กรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ ต.และจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้อง เป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่าง ต. กับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้ การที่ ต. และจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่ ต. และจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์และให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย ต. และจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทน ต. หรือทายาทของ ต. และจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ให้แก่จำเลยที่ ๒ กับเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 32764 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1340 เลขที่ดิน 40 และเลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 หากไม่สามารถพิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้พิพากษาเพิกถอนชื่อของนายติ่งออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ 1340 เลขที่ดิน 40 และเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1341 เลขที่ดิน 41 จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้งโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยขอให้บังคับโจทก์กับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 32763 เลขที่ดิน 48 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ และให้โจทก์ส่งมอบที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา คืนแก่จำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่ารวมสองแปลง ซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1340 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อนายติ่งเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1341 ตำบลหนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 นายติ่งและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ ต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 32763 และ 32764 มีชื่อนายติ่งกับจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ คดีมีข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคำให้การชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง หรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนแรกว่านายติ่งและจำเลยที่ 1 ไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่สัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ที่นายติ่งและจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ 30,000 บาท โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน เป็นเงิน 18,000 บาท จึงเป็นคำให้การที่แสดงการปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ รวมทั้งอ้างเหตุแห่งการนั้นว่าสัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การตอนหลังว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงตกเป็นโมฆะ และตัดฟ้องโจทก์ว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ก็มิใช่ว่าเป็นคำให้การที่ยอมรับหรือถือว่านายติ่งและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จริง จึงมิได้ขัดแย้งกันเองหรือไม่ชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างในคำฟ้องโจทก์ คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแสดงโดยชัดแจ้งว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งหมดรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นแล้ว ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธินำพยานเข้าสืบหักล้างสัญญาซื้อขายตามฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า สัญญาซื้อขายตามฟ้องโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้หรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์นำสืบอ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเนื้อที่รวม 50 ไร่เศษ จากนายติ่งและจำเลยที่ 1 ในราคา 48,000 บาท นั้น คำนวณราคาได้ไร่ละประมาณ 900 บาท เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวนี้ นางสาวนกเอี้ยง นางสาวทองศรี และนางทองย้อย เบิกความเป็นพยานโจทก์ ในทำนองเดียวกันว่า ปี 2528 พยานทั้งสามมีที่ดินอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งมีราคาไร่ละ 2,000 ถึง 3,000 บาท จะเห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินพิพาทตามท้องตลาดสูงกว่าราคาที่โจทก์อ้างว่านายติ่งและจำเลยที่ 1 ขายให้แก่โจทก์มาก คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า โจทก์ให้นายติ่งและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องกับโจทก์ ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ โดยให้นายติ่งลงลายมือชื่อในฉบับที่ระบุจำนวนเงินต้นที่กู้ไปจากโจทก์ 30,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฉบับที่ระบุจำนวนเงินดอกเบี้ย 18,000 บาท และให้โจทก์เข้าทำกินในที่ดินพิพาทต่างดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายตลอดมา เมื่อคำนวณเงินดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนจากต้นเงิน 30,000 บาท แล้ว ในเวลา 1 ปี ก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นเงิน 18,000 บาท พอดี หากนายติ่งและจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ในปี 2528 จริง โจทก์น่าจะดำเนินการให้นายติ่งและจำเลยที่ 1 จัดการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของโจทก์นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกัน เนื่องจากโจทก์ทราบดีว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่โจทก์ก็ไม่ดำเนินการเช่นนั้น จนกระทั่งปี 2532 ทางราชการเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นโฉนดที่ดิน โจทก์ก็มิได้ให้ทายาทของนายติ่งและจำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เพียงแต่โจทก์รับโฉนดที่ดินพิพาทแปลงที่มีชื่อนายติ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเก็บรักษาไว้เท่านั้น จนกระทั่งปี 2536 และปี 2541 มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยที่ 2 และโอนมาเป็นของจำเลยที่ 3 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่อย่างใด การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 20 ปี นับแต่ที่อ้างว่าซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาจากนายติ่งและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ดำเนินการปกป้องสิทธิของตนเองเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อย่างยิ่ง ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์ทราบดีว่าตนมีสิทธิเพียงเข้าทำกินในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่างดอกเบี้ยเท่านั้นเอง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นนิติกรรมอำพรางนิติกรรมการกู้ยืมเงิน นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง และแม้ในกรณีเช่นนี้จะมิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อนายติ่งและจำเลยที่ 1 เป็นสำคัญต่างหากจากสัญญาซื้อขายก็ตาม ย่อมถือได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายติ่งกับโจทก์ จึงมีผลบังคับกันได้ เมื่อคดีรับฟังได้ว่านายติ่งและจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่นายติ่งและจำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ 30,000 บาท แล้วให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการทำกินต่างดอกเบี้ย นายติ่งและจำเลยที่ 1 มิได้สละการครอบครองให้แก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก็ไม่ได้ทำให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองหรือได้กรรมสิทธิ์ เพราะยังถือได้ว่าโจทก์ครอบครองแทนนายติ่งหรือทายาทของนายติ่งและจำเลยที่ 1 อยู่ตลอดไป เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายติ่งไม่ประสงค์ให้โจทก์และบริวารอยู่ในที่ดินพิพาทของนายติ่งอีกต่อไป โจทก์และบริวารจึงต้องออกไปจากที่ดินของนายติ่งนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายติ่งหรือทายาทของนายติ่งชำระเงินกู้ 30,000 บาท คืนแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ |