

การโอนที่ดินในระยะเวลาห้ามโอนเป็นโมฆะ การโอนที่ดินในระยะเวลาห้ามโอนเป็นโมฆะ นิติกรรมที่มีวัตถุประสงต์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ที่ดิน นส. 3 ก. มีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี การโอนที่ดินซึ่งมีกฎหมายกำหนดห้ามโอนภายในระยะเวลาที่ห้ามโอนหากมีการทำนิติกรรมฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงต์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและเป็นโมฆะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2537 ที่ดินพิพาท เป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ วรรคห้า โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและจะส่งมอบที่ดินภายในกำหนดห้ามโอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้จำเลยในราคา 63,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 43,000 บาทและโจทก์ได้มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยไว้ เงินที่ค้างอีก 20,000 บาท จำเลยตกลงชำระภายในวันที่ 5 กันยายน 2531เมื่อครบกำหนด จำเลยไม่ชำระตามสัญญาโจทก์จึงริบเงินจำนวน 43,000บาท และมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับให้จำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วก่อนครบกำหนดตามสัญญา และได้แจ้งให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยแล้วแต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามฟ้องให้จำเลยภายใน7 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่นำเงิน20,000 บาท ที่ค้างมาชำระให้โจทก์ภายในวันที่ 5 กันยายน 2531ตามที่ตกลงกัน ขอให้ยกฟ้องแย้ง คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน2522 ตาม มาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานของทั้งสองฝ่ายและวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นโมฆะพิพากษาให้จำเลยคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้ววินิจฉัยไปตามรูปคดี หลังจากอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว ปรากฏว่าโจทก์ได้ถึงแก่กรรม นางทาไชยสาร ซึ่งเป็นภริยาและทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 283 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายเนื้อที่ 1 งาน 98 ตารางวา ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2522 ตาม มาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา 63,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา43,000 บาท และโจทก์มอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ให้จำเลยไปแล้ว ส่วนเงินที่ติดค้างอีก 20,000 บาท จำเลยตกลงจะชำระให้ภายในวันที่ 5 กันยายน 2531 และจะส่งมอบที่ดินให้ในวันที่ 5 กันยายน 2531 ตามสำเนาหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารท้ายฟ้อง คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิวรรคห้า บัญญัติว่า "ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก" ปรากฏว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน10 ปี นับแต่วันที่ 4 เมษายน 2522 ดังนั้น ที่โจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้จำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2531 และจะส่งมอบที่ดินให้จำเลยในวันที่ 5 กันยายน 2531 ภายในกำหนดห้ามโอนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันจำเลยต้องคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ ส่วนเงินที่โจทก์รับไว้โจทก์ก็ไม่มีสิทธิริบ พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้ บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ (1) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (2) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี (3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ (วรรคสอง)เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินตามวรรคสอง (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครอบและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย (วรรคสาม)สำหรับบุคคลตามวรรคสอง (2) และ (3) ให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์
|