

เช็คที่มีการแก้ไขวันที่มีผลอย่างไรกับผู้ออกเช็ค เช็คที่มีการแก้ไขวันที่มีผลอย่างไรกับผู้ออกเช็ค การออกเช็คชำระหนี้เมื่อถึงกำหนดได้มีการขอผัดผ่อนวันชำระหนี้กันตลอดมา ต่อมาเจ้าหนี้ได้ส่งเช็คไปให้ผู้สั่งจ่ายแก้ไขวันที่ เมื่อถึงกำหนดเจ้าหนี้ได้นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินให้เหตุผลว่าระงับการจ่ายเงิน เมื่อคดีมาสู่ศาลผู้สั่งจ่ายเช็คปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงแก้ไขวันที่ด้วยตนเอง แต่ทางพิจารณาเห็นว่าผู้ทรงเช็คโดยชอบไม่มีส่วนรู้เห็นกับการแก้ไข ผู้สั่งจ่ายเช็คจึงต้องรับผิดตามเช็คนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2554 โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คฉบับพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก และต่อมาฝ่ายจำเลยขอผัดการชำระเงิน ทั้งบุตรสาวจำเลยได้นำเช็คพิพาทไปแก้ไขวันที่และมีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ แม้จะไม่ใช่การแก้ไขของจำเลยเองก็ตาม การแก้ไขวันที่ในเช็คเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์จะมีส่วนรู้เห็นด้วยอีกทั้งลายมือชื่อกำกับการแก้ไขดังกล่าวคล้ายคลึงกับลายมือชื่อสั่งจ่ายของจำเลยที่ปรากฏในเช็คพิพาทมาก ยากที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจะทราบได้ว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงอันไม่ประจักษ์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบย่อมเอาประโยชน์จากเช็คฉบับพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1007 วรรคสอง จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คยังคงต้องรับผิดตามเช็คฉบับพิพาทอยู่ แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้ กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ได้รับเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาน้ำพอง ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 จำนวนเงิน 350,000 บาท ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อเช็คใกล้ถึงกำหนดชำระเงิน นางกัลยา บุตรสาวจำเลยแก้ไขวันที่ลงในเช็คใหม่เป็นวันที่ 10 เมษายน 2543 หลังจากนั้นโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้ตามเช็คให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คฉบับพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่แรก และต่อมาฝ่ายจำเลยขอผัดการชำระเงิน ทั้งได้นำเช็คพิพาทไปแก้ไขวันที่และมีการลงลายมือชื่อกำกับไว้ แม้จะไม่ใช่การแก้ไขของจำเลยเองก็ตาม การแก้ไขวันที่ในเช็คเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์จะมีส่วนรู้เห็นด้วย อีกทั้งลายมือชื่อกำกับการแก้ไขดังกล่าวคล้ายคลึงกับลายมือชื่อสั่งจ่ายของจำเลยที่ปรากฏในเช็คพิพาทมาก ยากที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจะทราบได้ว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงอันไม่ประจักษ์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบย่อมเอาประโยชน์จากเช็คฉบับพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคสอง จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คยังคงต้องรับผิดตามเช็คฉบับพิพาทอยู่ ข้อเท็จจริงที่จำเลยอ้างว่าได้นำเงินไปชำระหนี้ตามเช็คให้แก่นางกัลยาแล้ว แต่นางกัลยาไม่คืนเช็คให้นั้น ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อกล่าวอ้างต่อโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท |