

ออกเช็คไม่ลงวันที่ไม่มีความผิดทางอาญา? ออกเช็คไม่ลงวันที่ไม่มีความผิดทางอาญา? - ภริยานำไปเป็นประกันการซื้อสินค้า เจ้าของเช็คหรือผู้ออกเช็คได้ออกเช็คพิพาทโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายส่งมอบให้ภริยานำไปเป็นประกันการซื้อสินค้าโดยไม่ได้มีส่วนร่วมในธุรกิจของภริยา ถือได้ว่าเช็คดังกล่าวไม่มีวันที่ออกเช็คและวันที่ผู้ออกเช็คกระทำความผิด การที่ภริยานำเช็คมาสลักหลังและเป็นผู้ลงวันที่สั่งจ่ายเองตามที่ภริยาตกลงกับผู้รับเช็ค(ผู้ทรง)ในภายหลังก็เป็นเพียงแต่ให้เช็คมีรายการต่างๆ สมบูรณ์ตามกฎหมายเพื่อฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้นไม่ทำให้ผู้ออกเช็คมีความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2554 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตาม กฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและกรอกรายการต่างๆ ยกเว้นวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งเก้าฉบับ ส่วนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังและลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งเก้าฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อเช็คพิพาทแต่ละฉบับถึงกำหนดโจทก์ร่วมนำไปเข้าบัญชีเพื่อให้ธนาคารเรียกเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งแก่ธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า ยังตกลงเรื่องสินค้าไม่เรียบร้อยตามหนังสือลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2545 เอกสารหมาย จ.21 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมรู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน ต่อมาจำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 1 มาให้รู้จักและแนะนำเป็นหุ้นส่วนกัน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองเดินทางมาที่บ้านโจทก์ร่วมด้วยกันแทบทุกครั้งเพื่อเลือกสินค้าไปจำหน่าย และเมื่อซื้อสินค้าไปแล้วในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังไว้ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545 และวันที่ 3 มีนาคม 2545 จำเลยทั้งสองมาที่บ้านโจทก์ร่วมและซื้อสินค้าไปหลายรายการตามบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.24 ตามลำดับ จำเลยทั้งสองได้ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมเป็นเช็ครวม 13 ฉบับ เช็คดังกล่าวเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังทุกฉบับ ส่วนจำเลยทั้งสองมีตัวจำเลยทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันสามีภริยากัน แต่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวหรือเข้าหุ้นกันทำกิจการใดจำเลยที่ 2 ได้ขอยืมเช็คของจำเลยที่ 1 ไปเพื่อใช้ในการค้ำประกันการซื้อขายสินค้าของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันว่า โจทก์ร่วมได้ชักชวนจำเลยที่ 2 นำสินค้าของโจทก์ร่วมไปขาย โดยให้จำเลยที่ 2 นำสินค้าไปขายก่อน หากขายได้ก็นำเงินมาจ่ายโจทก์ร่วม หากขายไม่ได้ให้นำสินค้ามาคืน ต่อมาโจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 2 ไปเปิดบัญชีที่ธนาคารรัตนสิน จำกัด (มหาชน) สาขาราชปรารภ เพื่อให้จำเลยที่ 2 นำเช็คมาวางเพื่อค้ำประกันในการนำสินค้าจากโจทก์ร่วมไปจำหน่ายและโจทก์ร่วมจะนำเช็คของจำเลยที่ 2 ไปขายเพื่อหมุนเงินตามแบบขอเปิดบัญชีเอกสารหมาย ล.1 ส่วนหลักฐานการซื้อขายเมื่อจำเลยที่ 2 ไปที่บ้านของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจะฉีกกระดาษให้คนละ 1 ใบ เมื่อดูสินค้าและสอบถามราคากันแล้ว ต่างฝ่ายต่างจดรายละเอียดลงในกระดาษของตนแล้วต่างคนต่างเก็บไว้ตามหลักฐานการซื้อขายเอกสารหมาย ล.4 หลังจากนั้นบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 2 ถูกปิด โจทก์ร่วมจึงให้จำเลยที่ 2 นำเช็คของผู้อื่นมาค้ำประกันก็ได้ โดยให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันเช็คอีกทอดหนึ่งเพราะโจทก์ร่วมต้องการนำเช็คไปขายลดเพื่อหมุนเงิน จำเลยที่ 2 จึงขอยืมเช็คจากจำเลยที่ 1 เพื่อค้ำประกันการซื้อขายสินค้ากับโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 มิได้เป็นหุ้นส่วนหรือมีส่วนร่วมในการซื้อขายสินค้าระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ร่วม พฤติการณ์ในการซื้อขายในช่วงหลังโจทก์ร่วมจะโทรศัพท์มาบอกจำเลยที่ 2 ให้ไปดูสินค้าและตกลงราคากันโดยบางครั้งโจทก์ร่วมจะหาราคาสินค้าและบอกว่าต้องการเช็คกี่ฉบับ หลังจากนั้น 2 ถึง 3 วัน จำเลยที่ 2 จะไปขอยืมเช็คจากจำเลยที่ 1 ตามจำนวนที่โจทก์ร่วมต้องการ โดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จะไปเขียนวันที่สั่งจ่ายที่บ้านของโจทก์ร่วมตามที่โจทก์ร่วมกำหนด และจำเลยที่ 2 จะลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คให้ จำเลยที่ 2 ไปที่บ้านโจทก์ร่วมเพียงผู้เดียวไม่เคยไปกับจำเลยที่ 1 เห็นว่า แม้ตามบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.24 จะระบุชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ซื้อสินค้าไป ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ซื้อสินค้ากับโจทก์ร่วม แต่บิลเงินสดดังกล่าวเป็นหลักฐานที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ในเอกสารดังกล่าว ทั้งโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า บิลเงินสดทั้งสามฉบับเป็นของพยาน บิลเงินสดดังกล่าวมีคู่ฉบับโดยเป็นต้นฉบับ 1 ใบ และสำเนา 1 ใบ ตามปกติพยานจะให้ต้นฉบับเงินสดแก่จำเลยทั้งสองทุกครั้ง ซึ่งหากโจทก์ร่วมให้ต้นฉบับบิลเงินสดแก่จำเลยทั้งสองไปดังที่เบิกความ โจทก์ร่วมย่อมมีแต่เพียงสำเนาบิลเงินสดเท่านั้น แต่บิลเงินสดเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.24 ที่โจทก์อ้างส่งศาลเป็นต้นฉบับ ดังนั้น คำเบิกความของโจทก์ร่วมและบิลเงินสดเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.24 จึงเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้หากจำเลยที่ 1 ไปที่บ้านโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 2 เพื่อซื้อสินค้า จำเลยที่ 1 ก็น่าจะออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมและลงวันที่สั่งจ่ายตามที่ตกลงกับโจทก์ร่วมในวันที่รับสินค้าไปจากโจทก์ร่วม ไม่น่าจะต้องออกเช็คให้ในวันรุ่งขึ้น และแม้จะออกเช็คให้ในวันรุ่งขึ้นก็น่าจะตกลงกับโจทก์ร่วมได้ว่า โจทก์ร่วมจะให้จำเลยที่ 1 ลงวันที่สั่งจ่ายในเช็คแต่ละฉบับในวันใดบ้าง ไม่น่าจะต้องเว้นไม่ลงวันที่สั่งจ่ายไว้เช่นนั้น ทั้งๆ ที่ได้ลงจำนวนเงินสั่งจ่ายไว้แล้ว ตามพฤติการณ์อาจเป็นไปตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า การทำหลักฐานการรับสินค้าคือต่างฝ่ายต่างทำไว้ตามเอกสารหมาย ล.4 และจำเลยที่ 2 ขอยืมเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปเป็นหลักประกันในการรับสินค้ามาจากโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 1 มิได้ลงวันที่ไว้และจำเลยที่ 2 มาลงวันที่สั่งจ่ายตามที่ตกลงกับโจทก์ร่วมในภายหลังก็เป็นได้ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ซื้อสินค้าจากโจทก์ร่วมและออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 277 วรรคสอง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยทั้งสอง และคำแก้ฎีกาของโจทก์ร่วมอีกต่อไปการที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คคือจำเลยที่ 1 กระทำความผิด และการที่จำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังเป็นผู้ลงวันที่สั่งจ่ายตามที่ตกลงกับโจทก์ร่วมในภายหลังก็เป็นเพียงแต่ให้เช็คมีรายการต่างๆ สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง เท่านั้น หาทำให้กลับมาเป็นความผิดทางอาญาไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ออกเช็คกับจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังรับรองแม้จะร่วมกันออกเช็คนั้นตามฟ้องก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น” พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง |