

ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดติดจำนองโดยมิได้เป็นลูกหนี้ ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดติดจำนองโดยมิได้เป็นลูกหนี้ ผู้รับโอนที่ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและการขายทอดตลาดมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วยโดยผู้ซื้อมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับ ถ้าผู้รับโอนเสนอราคาน้อยกว่าราคาที่แท้จริงแก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิบอกปัดไม่รับคำเสนอและต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่คำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาชำระเจ้าหนี้ตามสัญญาจำนองเมื่อจำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินหรือซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดมีหนังสือเสนอขอไถ่ถอนทรัพย์จำนองในต้นเงิน 52,000 บาทไปยังโจทก์ซึ่งอาจน้อยกว่าราคาที่แท้จริงก็ได้ หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมีสิทธิไม่รับข้อเสนอ โดยโจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินตามสัญญาจำนองเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองจึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น สิทธิจำนองจึงย่อมครอบเพียงต้นเงิน 52,000 บาท คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2566 ผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วยโดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินซึ่งหมายถึงราคาทรัพย์จำนองในเวลาที่ผู้รับโอนขอไถ่ถอนจำนอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 736 และมาตรา 738 แต่เจ้าหนี้มีสิทธิบอกปัดไม่รับคำเสนอและต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นตามมาตรา 739 เมื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินโดยติดจำนองซึ่งมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนอง และไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้แทน บ. ลูกหนี้ และ จ. ผู้จำนอง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น กรณีนี้จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ตามวงเงินจำนองกับดอกเบี้ยของวงเงินจำนองและค่าอุปกรณ์อื่นตามมาตรา 715 ด้วย เมื่อปรากฏว่าหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันระบุว่า จ. จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมของ บ. อันเป็นการจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระตามมาตรา 709 ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้าเป็นต้นทุนขั้นสูงสุด 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี สิทธิจำนองจึงย่อมครอบเพียงต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองเท่านั้น กรณีจึงไม่จำต้องกำหนดราคาอันสมควรกับทรัพย์จำนองพิพาทเพราะไม่เกิดประโยชน์แก่รูปคดี โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 459,646.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 399,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้สั่งขายทอดตลาดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 3120 พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยปลอดจำนองแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากขายทอดตลาดได้เงินสุทธิล้ำจำนวน 52,000 บาท ให้จำเลยเป็นผู้ออกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในการขายทอดตลาด จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งบังคับโจทก์รับเงิน 52,000 บาท กับจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามคำฟ้องแก่จำเลย มิฉะนั้นขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 ตุลาคม 2562) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3120 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิล้ำ 52,000 บาท ให้จำเลยเป็นผู้ออกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในการขายทอดตลาด ถ้าได้ไม่ถึงล้ำจำนวนให้โจทก์เป็นผู้ออก หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดแก่โจทก์อีก แต่หากขายทอดตลาดแล้วเหลือเงินสุทธิเท่าใดให้คืนแก่จำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำทรัพย์สินซึ่งจำนอง คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3120 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง และให้โจทก์ปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 739 แล้วนำเงินชำระแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.625 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิล้ำ 52,000 บาท ให้จำเลยเป็นผู้ออกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในการขายทอดตลาด และถ้าได้ไม่ถึงล้ำจำนวนให้โจทก์เป็นผู้ออก เงินสุทธิที่เหลือให้คืนมาแก่จำเลย คำขออื่นตามคำฟ้องนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนคำฟ้องทั้งสองศาลให้เป็นพับ สำหรับฟ้องแย้งให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลส่วนฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ 2,178 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้เถียงแย้งกันว่า นายจิตธง ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3120 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 นายจิตธงจำนองที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมของนางบัณฑิตา ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้าเป็นต้นเงินขั้นสูงสุด 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากนั้นนางบัณฑิตากู้ยืมเงินจากโจทก์ 6 รายการ ดังนี้ (1) วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 จำนวน 70,000 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.625 ต่อปี หากผิดนัดคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ยอดหนี้ ณ วันฟ้องเป็นต้นเงิน 69,900 บาท ดอกเบี้ย 9,155.22 บาท รวม 79,055.22 บาท (2) วันที่ 2 มีนาคม 2558 จำนวน 120,000 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี หากผิดนัดคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ยอดหนี้ ณ วันฟ้องเป็นต้นเงิน 119,900 บาท ดอกเบี้ย 9,103.89 บาท รวม 129,003.89 บาท (3) วันที่ 23 มีนาคม 2558 จำนวน 100,000 บาท กำหนดชำระ 10 งวด งวดแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี หากผิดนัดคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ยอดหนี้ ณ วันฟ้องเป็นต้นเงิน 80,000 บาท ดอกเบี้ย 21,466.09 บาท รวม 101,466.09 บาท (4) วันที่ 24 สิงหาคม 2558 จำนวน 50,000 บาท กำหนดชำระภายในวันสิ้นเดือนก่อนเดือนที่ได้รับเงินกู้ของปีถัดไป ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี หากผิดนัดคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ยอดหนี้ ณ วันฟ้องเป็นต้นเงิน 50,000 บาท ดอกเบี้ย 5,637.32 บาท รวม 55,637.32 บาท (5) วันที่ 31 มีนาคม 2559 จำนวน 40,000 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี หากผิดนัดคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ยอดหนี้ ณ วันฟ้องเป็นต้นเงิน 40,000 บาท ดอกเบี้ย 7,242.19 บาท รวม 47,242.19 บาท (6) วันที่ 10 มีนาคม 2560 จำนวน 40,000 บาท กำหนดชำระภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี หากผิดนัดคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ยอดหนี้ ณ วันฟ้องเป็นต้นเงิน 40,000 บาท ดอกเบี้ย 7,242.19 บาท รวม 47,242.19 บาท นายจิตธงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 7832/2551 ของศาลแขวงพระนครใต้ ระหว่างธนาคาร ท. โจทก์ นางฉวีวรรณ กับพวก จำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาด โดยประกาศว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างติดจำนองแก่โจทก์ ยอดหนี้ ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2561 เป็นเงิน 445,675.25 บาท ราคาประเมินทรัพย์ 145,900 บาท จำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยติดจำนองจากการขายทอดตลาดในราคา 30,000 บาท วันที่ 11 กันยายน 2562 หลังจากโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยแล้ว จำเลยมีหนังสือขอทราบยอดหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองมายังโจทก์ ซึ่งโจทก์มีหนังสือแจ้งระบุยอดหนี้ ณ วันดังกล่าวเป็นต้นเงิน 399,800 บาท ดอกเบี้ย 57,207.69 บาท รวมเป็นเงิน 457,007.69 บาท วันที่ 12 กันยายน 2562 จำเลยมีหนังสือขอไถ่ถอนจำนองในต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไปยังโจทก์ และวันที่ 24 กันยายน 2562 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไม่ยอมรับคำเสนอไปยังจำเลย วันที่ 10 ตุลาคม 2562 โจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังนายจิตธงและลูกหนี้เดิมว่าโจทก์ไม่รับข้อเสนอของจำเลยผู้ซื้อทรัพย์แล้วโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นภายในหนึ่งเดือน (วันที่ 11 ตุลาคม 2562) นับแต่วันมีคำเสนอเป็นหนังสือขอไถ่ถอนจำนองจากจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองจากทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นประกันหนี้แก่โจทก์ไว้ได้เพียงใด เห็นว่า ผู้รับโอนโดยซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาด ซึ่งมีเงื่อนไขให้ติดจำนองมาด้วยโดยมิได้เป็นลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ย่อมมีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินซึ่งหมายถึงราคาทรัพย์จำนองในเวลาที่ผู้รับโอนขอไถ่ถอนจำนอง ถ้าผู้รับโอนเสนอราคาน้อยกว่าราคาที่แท้จริงแก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิบอกปัดไม่รับคำเสนอและต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่คำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนวนนั้นโดยเจ้าหนี้ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 739 (1) ถึง (3) เพื่อนำเงินมาชำระเจ้าหนี้ตามสัญญาจำนองตามมาตรา 736, 738 และมาตรา 739 เมื่อจำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองมีหนังสือเสนอขอไถ่ถอนทรัพย์จำนองในต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยไปยังโจทก์ซึ่งอาจน้อยกว่าราคาที่แท้จริงก็ได้ดังที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินจำนวน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยขอไถ่ถอนจำนองนั้น ไม่เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์พิพาท โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมีสิทธิไม่รับข้อเสนอ โดยโจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินตามสัญญาจำนองเท่านั้น เมื่อจำเลยมิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามข้อตกลงต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนอง ทั้งไม่มีข้อตกลงในการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวจำเลยมาเป็นลูกหนี้ แทนนางสาวบัณทิตาและนายจิตธง จึงไม่เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นหรือลูกหนี้ร่วมได้ ความรับผิดของจำเลยย่อมมีเพียงทรัพย์สินซึ่งจำนองที่ตนรับโอนมาซึ่งตราเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เท่านั้น กรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินที่จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย (2) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ (3) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง” กล่าวคือ จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ตามวงเงินจำนองกับดอกเบี้ยของวงเงินจำนองและค่าอุปกรณ์อื่นตามมาตรา 715 ด้วย เมื่อปรากฏว่าหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกันระบุว่านายจิตธง จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมของนางบัณฑิตา อันเป็นการจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระตามมาตรา 709 ที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหรือเวลาหนึ่งเวลาใดในภายหน้าเป็นต้นทุนขั้นสูงสุด 52,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี สิทธิจำนองจึงย่อมครอบเพียงต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้และค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองเท่านั้น กรณีจึงไม่จำต้องกำหนดราคาอันสมควรกับทรัพย์จำนองพิพาทเพราะไม่เกิดประโยชน์แก่รูปคดี ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า โจทก์มีสิทธิเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นจำนวนเท่าไร เห็นว่าตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองเพียงต้นเงิน 52,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยซึ่งตามสัญญาจำนองกำหนดไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ ดอกเบี้ย...” ดอกเบี้ยย่อมหมายถึงดอกเบี้ยของต้นเงินตามวงเงินจำนองและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงไว้ในสัญญาจำนอง โจทก์นำพยานหลักฐานมาสืบถึงการค้างชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.625 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และอัตราร้อยละ 13 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 อันเป็นวันผิดนัดตามสัญญากู้ยืมเงินจนถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้ง โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเพื่อชำระต้นเงินและอัตราดอกเบี้ยได้ตามสัญญาจำนอง แต่โจทก์ขออัตราดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ในกรณีผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดและต่ำกว่าข้อตกลงในสัญญาจำนอง จึงสมควรกำหนดให้ตามคำขอ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนคำฟ้องทั้งสองศาลให้เป็นพับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้นำทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและให้ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของฟ้องทั้งสองศาลให้เป็นพับ...ต่างจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย มิฉะนั้นให้ยึดทรัพย์ที่จำนองขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์พร้อมกำหนดค่าทนายความ...นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุด สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมรวมทั้งค่าทนายความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียม อย่างไรก็ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียม ซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ให้นำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่วนของตนโดยสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคำฟ้องทั้งสองศาลให้เป็นพับ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของโจทก์และจำเลยได้ การใช้ดุลพินิจสั่งในเรื่องความรับผิดชั้นที่สุดในค่าฤชาธรรมเนียมของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าว จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ |