ภาระจำยอมโดยอายุความ-ใช้ทางในลักษณะปรปักษ์
ภาระจำยอมโดยอายุความ-ใช้ทางในลักษณะปรปักษ์ ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตกลงกันว่าให้ใช้ถนนเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้ แต่ไม่ได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาทำให้นิติกรรมหรือสัญญาที่ตกลงกันเป็นโมฆะไม่ แต่ยังมีผลผูกพันใช้บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญา เพราะก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ์ขึ้นแล้ว เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขที่ดินของแปลงของผู้ขายย่อมตกอยู่ภายใต้ภาระจำยอมของที่ดินแปลงของผู้ซื้อ ภาระจำยอมจะสิ้นไปด้วยเหตุตามกฎหมายคือภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมด หรือไม่ได้ใช้ภาระจำยอมเป็นเวลา 10 ปี การที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่นนอกจากนี้จึงไม่ใช่เหตุตามกฎหมายที่จะทำให้ภาระจำยอมสิ้นไป ภาระจำยอมโดยอายุความ-ใช้ทางในลักษณะปรปักษ์ การใช้ทางแบบปรปักษ์เพื่อให้ได้ภาระจำยอมจะต้องใช้ทางโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอม แต่การอยู่ร่วมกันของคนในชนบทจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านโดยถือวิสาสะ โดยเจ้าของไม่หวงกันเป็นการเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการปรปักษ์ แม้จะได้ใช้นานกว่า 10 ปีก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอม การอยู่ร่วมกันของคนในชนบทตามปกติจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้โดยถือวิสาสะ อันเป็นการเอื้อเฟื้ออาทรต่อกัน การใช้ทางพิพาทของโจทก์ในลักษณะเช่นว่านี้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้จะใช้นานกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่โจทก์โดยอายุความตามมาตรา 1401 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบ ครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ มาตรา 1401 ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติ ว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2550 การได้ภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิดังกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลมกล่าวคือจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์นั้นโดยความสงบและโดยเปิดเผยและด้วยเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แต่การอยู่ร่วมกันของคนในชนบทตามปกติแล้วจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้โดยถือวิสาสะ อันเป็นการเอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อกันของคนในสังคม การใช้ทางพิพาทของโจทก์ก็เข้าอยู่ในลักษณะเช่นว่านี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยนานกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยอายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทตามรูปแผนที่ท้ายฟ้องตกเป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยซ่อมแซมคันดินพิพาทให้อยู่ในสภาพเดิมหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแล้วให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทตามเส้นสีฟ้าในแฟนที่วิวาทหมาย จ.1 ซึ่งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5414 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้นนา จังหวัดนครนายกของจำเลย ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 11305 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้นนา จังหวัดนครนายก ของโจทก์ ให้จำเลยซ่อมแซมทางพิพาทที่จำเลยขุดออกให้ทางมีความกว้าง 80 เซนติเมตร ตามสภาพเดิมตลอดทาง ตั้งแต่ทางสาธารณะไปจนถึงที่ดินโจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการก็ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11305 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยซื้อมาตั้งแต่ปี 2513 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดินโฉนดเลขที่ 5414 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยซื้อมาตั้งแต่ปี 2534 ที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยอยู่ติดต่อกันโจทก์ใช้ทางพิพาทซื่งเป็นคันนาแบ่งเขตที่ดินของจำเลยกับที่ดินของนายทองคำ ธรรมปัญญา เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะตลอดมา ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยอายุความหรือไม่ โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ตามปกติประเพณีของท้องถิ่นสามารถใช้นาเป็นทางเดินได้ทั่วถึงกันโดยไม่มีการหวงห้ามเห็นว่า การได้ภาระจำยอมโดยอายุความนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิดังกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์นั้นโดยความสงบและโดยเปิดเผย และด้วยเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แต่จากข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การอยู่ร่วมกันของคนในชนบทตามปกติแล้วจะใช้ที่ดินข้างเคียวงเป็นทางผ่านได้โดยถือวิสาสะ อันเป็นการเอื้อเฟื้อเอื้ออาทร ต่อกันของคนในสังคม การใช้ทางพิพาทของโจทก์ก็เข้าอยู่ในลักษณะเช่นว่านี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยนานกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มรตรา 1401 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน หมายเหตุ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2550 คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ ตัดสินแตกต่างไปจากคำพิพากษาศาลฎีกาเดิม เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2485 คันนาซึ่งผู้อื่นเดินผ่านมานานกว่า 10 ปี ย่อมเกิดเป็นภารจำยอมขึ้น. ภารจำยอมย่อมเกี่ยวเนื่องกับที่ดิน มิใช่เป็นการส่วนตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ. เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้แตกต่างกัน ย่อมมีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับหนึ่งถูกต้องด้วยหลักกฎหมายและความเป็นธรรม อีกฉบับหนึ่งย่อมคลาดเคลื่อนไป จึงต้องค้นหาเหตุผลว่าคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับใดถูกต้อง ที่ดินในประเทศไทยส่วนใหญ่จะไม่ติดทางสาธารณะ ในการเดินทางเข้าออกสู่ทางศาธารณะจึงจำเป็นต้องอาศัยที่ดินของบุคคลอื่นเช่นเดียวกับชาวนา ในการเดินเข้าออกที่นาจะเดินไปตามคันนาซึ่งอยู่ในที่ดินของบุคคลอื่นเป็นการดำเนินวิถีชีวิตของบุคคลในท้องถิ่นและของชาวนาไทย ถือเป็นจารีตประเพณีที่ดีงามอย่างหนึ่งของคนไทย การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ซึ่งเป็นชาวนาใช้คันนาเป็นทางเดินแม้จะไม่มีคนหวงห้ามและใช้นานเพียงใดก็ไม่ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ย่อมทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตตามวิถีชาวนาและประเพณีท้องถิ่น การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินขุดคันนาออกไปครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ในโฉนดที่ดินตของตน ถ้าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากเจ้าของคันนาอีกฝั่งหนึ่งก็มีการขุดเช่นกัน โจทก์จะเดินไปทำนาอย่าวไร เช่น ที่ดินที่โจทก์เดินผ่านทำนามาตลอดชีวิตถูกขายให้สร้างโรงงานหรือบ้านจัดสรรทำให้โจทก์ไม่สามารพเข้าออกทำนาได้ ผลที่ตามมาก็คือโจทก์ต้องยอมขายที่นาในราคาถูก ๆ ให้แก่นายทุน หรือไม่ก็เลิกทำนาไปประกอบอาชีพอื่นปล่อยที่นาให้เป็นที่รกร้างไป ดังนั้น หากวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่ หมายเหตุ จะทำให้วิถีชีวิตของชาวนาเปลี่ยนไป จะถูกกระทบกระเทือนในการประกอบอาชีพ จึงไม่น่าจะชอบ นอกจากจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2485 แล้วยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับอื่นที่น่าสนใจอีกเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2479 เจ้าของหัวคันมาปล่อยให้ผู้ทำนาใช้หัวคันนาเป็นประโยชน์ในการทำนามาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วหัวคันนาย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมตาม ม.1387 ปกครองต้นตาลแลที่ดินที่ปลูกต้นตาลมาเป็นเวลากว่า 10 ปีย่อมได้กรรมสิทธิตาม ม.1382 ยกให้ เจตนา พฤตติการณ์ที่ฟังว่าบิดายกต้นตาลให้บุตรถือว่ายกกรรมสิทธิในที่ดินที่ปลูกต้นตาลให้ด้วย คดีได้ความว่าเดิมนาแลต้นตาลซึ่งปลูกอยู่บนคันนาในที่รายพิพาทนี้เป็นของ ม.ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของสามีโจทก์แลจำเลย ม.ได้ยกต้นตาลให้แก่สามีโจทก์ซึ่งเป็นบุตร์ขาย แลยกนาให้แก่ฝ่ายจำเลยต่างก็เข้าทำในสิ่งที่ตนได้รับมา 30-40 ปีแล้วเมื่อ 10 ปีมาแล้วจำเลยลงชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของที่ดินรายนี้ทั้งหมด ศาลฎีกาเห็นว่าการที่บิดามารดายกทรัพย์ให้บุตร์นั้น เห็นได้ว่าเป็นการยกให้เป็นกรรมสิทธิเด็ดขาด ไม่ใช่ให้เก็บกินชั่วครั้งคราว ต้องถือว่าได้ยกให้ตลอดถึงกรรมสิทธิในที่ดินส่วนที่ปลูกต้นตาลด้วย สามีโจทก์ได้ครอบครองมากว่า 10 ปีแล้วย่อมได้กรรมสิทธิในต้นตาลแลที่ดินที่ปลูกต้นตาลตามประมวลแพ่งฯ ม.1382 แต่เห็นว่าที่ดินที่ปลูต้นตาลนี้เป็นหัวคันนา ฝ่ายจำเลยได้ใช้หัวคันนาเป็นประโยชน์ในการทำนามาหลายสิบปีแล้ว หัวคันนานี้ย่อมตกอยู่ในภาระจำยอมตาม ม.1387 จะห้ามจำเลยโดยเด็ดขาดมิให้เกี่ยวข้องแก่ที่ดินที่เป็นหัวคันนานั้นมิชอบ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อที่ห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้อแก่ที่ดินปลูกต้นตาลว่าให้ห้ามโดยไม่ให้เสื่อมเสียสิทธิแห่งภาระจำยอมของจำเลย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2505 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อ รักษาและใช้ภารจำยอม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองในการนี้เจ้าของ สามยทรัพย์จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภารยทรัพย์ได้ก็แต่น้อยที่สุดตาม พฤติการณ์ เจ้าของสามยทรัพย์ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองรักษาซ่อมแซมการที่ได้ ทำไปแล้วให้เป็นไปด้วยดี แต่ถ้าเจ้าของภารยทรัพย์ได้รับประโยชน์ด้วยไซร้ ท่านว่าต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่ได้รับ มาตรา 1401 ภารจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติ ว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า ด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมี คำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือ คำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่ บุคคลภายนอก ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาล ด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก เว้นแต่ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 142(1) มาตรา 245 และ มาตรา 274 และในข้อต่อไปนี้ คำพิพากษาที่ให้บุคคลหนึ่งเปิดทางภาระจำยอมผ่านที่ดินนั้น ย่อมไม่ผูกพัน เจ้าของที่ดินข้างเคียงคนอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แม้ขณะทำแผนที่พิพาทจะปรากฎเส้นทางภาระจำยอมผ่านที่ดินของบุคคลนั้น และบุคคลนั้นได้มาอยู่รู้เห็นในการทำแผนที่พิพาทอยู่ด้วยก็ตาม ผู้ที่ได้ทางภาระจำยอมมาโดยอายุความแล้วนั้น ย่อมมีสิทธิขุดโค่นหัวคันนาซึ่งอยู่ในเส้นทางอันเป็นภาระจำยอมนั้นได้เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมนั้น โดยไม่จำเป็นต้องให้มีคำพิพากษาว่าที่ดินนั้นตกเป็นภาระจำยอมเสียก่อน โจทก์ฟ้องว่า เป็นเจ้าของที่นาโฉนด 1157 เมื่อ 6 มิถุนายน 2503 จำเลยกับพวกบุกรุกเข้าขุดโค่นหัวคันนาหลายอัน ทำทางกว้างประมาณ 6 ศอกผ่านที่นา ห้ามก็ไม่เชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์ทำนาไม่ได้ เสียหาย 2,000 บาท ขอศาลห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องที่ดินโจทก์และใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นทางภาระจำยอมที่จำเลยกับนายทำสามีจำเลยได้สิทธิเดินผ่านมาประมาณ 20 ปีเศษแล้ว และศาลพิพากษาถึงที่สุดให้นายทำได้ภาระจำยอม ปรากฏตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุทัยธานี คดีแพ่งแดงที่ 75/2502 ระหว่างนายทำ โจทก์ นายเหลือง จำเลย โจทก์เป็นภริยานายเหลือง มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ร่วมกัน นายทำสั่งให้คนอื่นไปทำลายคันนา ส่วนจำเลยเพียงแต่ไปดูแลความเรียบร้อยเท่านั้น แม้จำเลยจะทำลายคันนา ก็เพื่อจำเลยกับสามีจะได้ใช้เส้นทางเดินไปทำนาอันเป็นอาชีพของจำเลย ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ทางพิจารณาได้ความว่า คดีแพ่งแดงที่ 75/2502 นั้น ถึงที่สุดแล้ว โดยศาลพิพากษาให้นายเหลืองและบริวารเปิดเส้นทางภาระจำยอมกว้าง 6 ศอก ตลอดที่นานายเหลืองตามเส้นสีน้ำเงินประดู่และเส้นสีน้ำเงินประดู่สีเหลือง แต่ปรากฎว่าตามแผนที่พิพาทซึ่งศาลบังคับนายเหลืองนี้ ทางบางส่วนอยู่ในที่ดินโฉนดมีชื่อนางตลับโจทก์คดีนี้กับบุตรสาว หัวคันนาที่ขุดนี้อยู่ในที่ดินของนางตลับ ซึ่งตามแผนที่พิพาทว่าเป็นทางภาระจำยอมด้วย นางตลับจึงฟ้องจำเลยในคดีนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีแพ่งแดงที่ 75/2502 ได้เปิดทางภาระจำยอมทอดไปในที่ดิน นางตลับซึ่งเป็นภริยาและนางลูกจันทร์บุตรนายเหลืองด้วย เพราะคำฟ้องคดีนั้นระบุทางภาระจำยอมตลอดที่ดินนายเหลืองจำเลยติดต่อกันไปจากบ้านไปสู่นาของนายทำโจทก์ไม่มีเว้นระยะ ขณะทำแผนที่พิพาท นางตลับและนางลูกจันทร์ ก็อยู่รู้เห็นว่านายทำชี้เส้นทางภาระจำยอมผ่านที่ของตน แต่ก็ไม่ได้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับนาเหลืองสามี การที่มาฟ้องคดีนี้จึงมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ คำพิพากษาคดีก่อนจึงผูกพันว่ามีเส้นทางภาระจำยอมอยู่ในที่ดินที่มีชื่อนางตลับโจทก์เป็นเจ้าของด้วย การกระทำของจำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชยื มาตรา 1391 พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในการทำแผนที่พิพาท โจทก์ทราบก็ไม่ดำเนินทางคดีอย่างไรแสดงว่ามิได้ขัดขวางสิทธิภาระจำยอมของจำเลย ครอบครัวจำเลยใช้เส้นทางพิพาทผ่านที่ดินโจทก์ด้วยมากว่า 20 ปี จึงได้ทางภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 โจทก์ปิดเส้นทางนี้ไม่ได้ จำเลยทำลายคันนาทำทางกว้าง 6 ศอก เป็นการทำไปเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอม และก่อให้เสียหายน้อยที่สุดอันเป็นสิทธิของจำเลย โจทก์เรียกค่าเสียหายไม่ได้ พิพากษายืน โจทก์ฎีกาว่า ตราบใดยังไม่มีคำพิพากษาให้ที่ดินของโจทก์ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่ชอบที่จะอ้างความคุ้มครองใด ๆ ในการทำอันเป็นละเมิดได้ ศาลอุทธรณ์จะรับฟังข้อนำสืบมาวินิจฉัยมีความเห็นเอาเองว่าที่ดินโจทก์ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยก็ไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีแพ่งแดงที่ 75/2502 ซึ่งนายทำฟ้องนายเหลืองขอให้เปิดทางภาระจำยอมนั้น เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินของโจทก์ในคดีนี้ คำที่พิพากษาในคดีนั้นจึงไม่ผูกมัดโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทตกอยู่ในภาระจำยอม ประเด็นในเรื่องที่พิพาทตกเป็นภาระจำยอมหรือไม่ โจทก์จำเลยมีโอกาสนำสืบพิสูจน์ได้ ซึ่งจำเลยก็นำสืบได้ว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดของโจทก์นั้น ตกอยู่ในภาระจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 14701 ประกอบมาตรา 1387 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในภาระจำยอม นายทำสามีจำเลยจำเลยและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ก็มีสิทธิทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1391 ฉะนั้น การที่จำเลยขุดโค่นหัวคันนาของโจทก์ซึ่งอยู่ในเส้นทางอันเป็นภาระจำยอมนั้นจำเลยกับสามีจำเลยจะได้ใช้เส้นทางเดินไปทำนาของจำเลย และได้ทำไปเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 โดยไม่จำเป็นต้องมีคำพิพากษาให้ที่ดินของโจทก์ตกเป็นภาระจำยอมเสียก่อน พิพากษายืน ผู้หมายเหตุจึงเห็นด้วยความเคารพว่า คำพิพากษาศาลฎีกที่ 335/2485 น่าจะวินิจฉัยถูกหลักกฎหมายและเป็นธรรม อันสอดคล้องกับขนบธรรมเนึยมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนาไทย ศิริชัย วัฒนโยธิน
ภาระจำยอม เป็น ทรัพยสิทธิชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดภาระจำยอมในที่ดินแปลงใด ของใคร ย่อมทำให้เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นต้องยอมรับกรรมบางอย่าง หรือแบกรับภาระบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนถึงการใช้สิทธิในที่ดินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่น (ภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิ ติดไปกับตัวที่ดินที่แม้เปลี่ยนเจ้าของที่ดินก็ติดไปกับที่ดินเสมอ) |