

การจราจรติดขัดไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ยื่นอุทธรณ์เลยกำหนดเวลา-การจราจรติดขัดเป็นเหตุที่สามารถป้องกันได้กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัย เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2550 ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 3 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ จำเลยมีทนายความและรูปคดีไม่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน ย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่ การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปอีก 3 วัน โดยอ้างว่า ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้นแต่ระหว่างทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดนั้น ล้วนเป็นเหตุที่สามารถป้องกันและคาดหมายได้ล่วงหน้า กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 10, 12, 15 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 3 เดือน ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ครั้นวันที่ 20 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งเป็นวันศุกร์ ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้น แต่ระหว่างเดินทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนด ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 3 วัน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เหตุที่จำเลยอ้างไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า กรณีมีเหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 ในเบื้องต้นจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนด 1 เดือน คือวันที่ 3 มิถุนายน 2548 ต่อมาในวันครบกำหนดอุทธรณ์ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 จำเลยมีทนายความและรูปคดีของจำเลยไม่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน จำเลยย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่ การที่ทนายจำเลยอ้างว่า ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้น แต่ระหว่างทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดนั้น ล้วนเป็นเหตุที่สามารถป้องกันและคาดหมายได้ล่วงหน้า กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน. หมายเหตุ การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จะยื่นคำร้องภายหลังสิ้นกำหนดระยะเวลาได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุสุดวิสัย คำว่า "เหตุสุดวิสัย" ดังกล่าวมิได้ถือตามความหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 แต่หมายถึง เหตุที่ทำให้คู่ความไม่สามารถยื่นคำขอก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลา ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลานั้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 8659/2548) คดีนี้ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้นในวันสุดท้ายแต่ศาลปิดทำการไปเกือบ 30 นาทีแล้ว เนื่องจากการจราจรติดขัดเพราะมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน เป็นเหตุให้ทนายจำเลยไม่สามารถเดินทางไปถึงศาลทันเวลาทำการได้ ย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ แต่ศาลปิดทำการแล้วทั้งวันถัดมาเป็นวันเสาร์อาทิตย์ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันจันทร์ที่ศาลเปิดทำการ จึงถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าวได้ตามมาตรา 23 ศาลน่าจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไป 3 วันตามขอ แม้จะมิใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ก็ตาม ไพโรจน์ วายุภาพ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2550 ทนายนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลแต่ระหว่างเดินทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่ ทำให้ทนายเดินทางไปถึงศาลเลยเวลาทำการจึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ศาลพิจารณาแล้วสั่งว่า เหตุที่จำเลยอ้างไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2563 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 แล้วศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้โจทก์และทนายจำเลยฟังวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ต้องถือว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ไม่ใช่วันที่อ่านให้ทนายจำเลยฟัง จำเลยมีอำนาจยื่นฎีกาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง จึงต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย โดยไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟัง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 283 ทวิ, 318 จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานาย บ. ผู้เสียหายที่ 2 และนางสาว พ. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนาย บ. บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสองคนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องทั้งสอง จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83, 283 ทวิ วรรคแรก, 318 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารกับฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร (ที่ถูก โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย) จำคุก 8 ปี รวมจำคุก 28 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 จำนวน 100,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลจังหวัดกำแพงเพชรอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 และศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้โจทก์และทนายจำเลยฟังวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 จึงต้องถือว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ไม่ใช่วันที่อ่านให้ทนายจำเลยฟังเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 และในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้านหลังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต่อท้ายรายงานกระบวนพิจารณาวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ ทนายจำเลยย่อมต้องทราบว่าศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 จำเลยมีอำนาจยื่นฎีกาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องยื่นฎีกาภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาในวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย โดยไม่มีพฤติการณ์พิเศษและไม่ใช่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟัง ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อทนายจำเลยยื่นฎีกาเข้ามาวันที่ 11 กันยายน 2562 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยย่อมไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยและยกฎีกาของจำเลย |