

มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษ อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ กระทำความผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเข้าใจผิดว่าหากมีลำไยสดในความครอบครองของตนไม่ว่าจะเป็นของญาติพี่น้องก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จึงเป็นการกระทำความผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอดสมควรรอการลงโทษ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2550 จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในความครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเมื่อถูกดำเนินคดีก็ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนึกในความผิดแห่งตน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยเคยทำคุณงามความดี ทั้งเมื่อคำนึงถึงโทษจำคุกที่ได้รับเพียง 2 เดือน การให้จำเลยรับโทษจำคุกไปเสียเลย ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกซึ่งได้แยกดำเนินคดีต่างหากร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ผู้มีหน้าที่รับแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ปี 2547 ว่าจำเลยมีพื้นที่ปลูกลำไยให้ผลผลิตแล้วจำนวน 14 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 944 กิโลกรัมต่อไร่ รวมผลผลิตทั้งสิ้น 13,216 กิโลกรัม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 137, 267 จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในประการแรกว่าจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในทำนองว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำความผิด และการกระทำของจำเลยมิได้ทำให้นางจรัสศรีและรัฐได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลฎีการับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อที่จำเลยยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่รับว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ชอบแล้ว และเมื่อจำเลยยกปัญหาข้อเท็จจริงนี้ขึ้นโต้แย้งในชั้นฎีกาอีก จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในความครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเมื่อถูกดำเนินคดีจำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนึกในความผิดแห่งตนและไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยมีเอกสารประกอบท้ายฎีกาว่า จำเลยเคยได้กระทำคุณงามความดีโดยเข้าร่วมทำงานเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยรับการฝึกอบรมไทยอาสาป้องกันชาติของจังหวัดลำพูน เป็นทหารกองประจำการเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรโครงการกองหนุนเพื่อความมั่นคงของชาติ ฝึกอบรมหลักสูตรแจ้งข่าวอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งหัวช้าง หลักสูตรการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน กระทรวงมหาดไทย หลักสูตรราษฎรอาสาสมัครตำรวจชุมชนรุ่นที่ 1 ของตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน และเป็นผู้ประสานพลังแผ่นดินของศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ เมื่อคำนึงถึงโทษจำคุกที่จำเลยได้รับเพียง 2 เดือน ซึ่งมีระยะเวลาอันสั้นแล้ว การให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกไปเสียเลยนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษให้จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยรู้สึกหลาบจำจึงเห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติจำนวน 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หมายเหตุ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร จำเลยให้การรับสารภาพจึงต้องฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง การที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นั้น จะเห็นได้ว่า ข้อความดังกล่าวแสดงว่าจำเลยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงเป็นฎีกาที่ขัดกับคำรับสารภาพของจำเลย ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นควรที่ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยให้ คดีนี้ต้องห้ามฎีกา แต่ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ให้อำนาจผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา มีข้อน่าสังเกตว่าการที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดหรือไม่ จะเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้เป็นจำคุก 2 เดือน ถือเป็นโทษเล็กน้อย การรอการลงโทษหรือไม่ไม่ใช่ปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยแต่อย่างใด ซึ่งคดีประเภทนี้ในต่างประเทศไม่สามารถที่จะขึ้นสู่ศาลสูงสุดได้ เหตุที่รับรองฎีกาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คดีขึ้นสู่ศาลฎีกามากจนกระทั่งล้นศาลอยู่ทุกวันนี้ การกระทำความผิดในคดีนี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีทุจริตลำไย ซึ่งเกิดจากการกระทำของพ่อค้า นายทุน และนักการเมือง โดยมีประชาชนร่วมกระทำความผิดด้วยนับเป็นจำนวนหลายพันคดี แต่ได้มีการจับกุมเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดในเบื้องต้น ส่วนผู้ที่อยู่เบื้องหลังไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด คงมีข้อพิจารณาว่าสมควรลงโทษจำคุกผู้ที่กระทำความผิดในเบื้องต้นนี้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าไม่ สมควรลงโทษจำคุกเสียทีเดียว แต่ให้รอการลงโทษและคุมความประพฤติไว้เท่านั้น โดยศาลฎีกาวินิจฉัยคดีดังกล่าวเหมือนอย่างคดีทั่ว ๆ ไป มิได้พิจารณาในภาพรวมในเรื่องการทุจริตลำไยว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ปัจจุบันประเทศไทยมีการทุจริตมากขึ้นจนติดอันดับว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่ทุจริตมาก ศาลยุติธรรมก็เป็นหน่วยงานหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนในการแก้ไขและปราบปรามการทุจริตได้ การที่มีการทุจริตกันเป็นจำนวนหลายพันคดี แต่ศาลกลับเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย รอการลงโทษให้ ทำให้คนกระทำความผิดไม่เกรงกลัว หากพ่อค้า นายทุน หรือนักการเมือง ใช้ให้ประชาชนกระทำความผิดแล้วประชาชนผู้กระทำความผิดต้องติดคุกก็จะไม่มีบุคคลใดกล้าที่จะร่วมมือกระทำความผิดต่อบุคคลดังกล่าวอีก การที่มีบุคคลร่วมกระทำความผิดด้วยและได้รับการรอการลงโทษก็ยิ่งจะเป็นตัวอย่างให้มีการกระทำความผิดในรายอื่นอีกต่อไป โดยนำเกณฑ์ในคดีนี้มาเป็นบรรทัดฐาน การพิจารณาคดีในชั้นฎีกาน่าจะพิจารณาภาพรวมว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นปกติหรือเกิดขึ้นเพราะเหตุมีการทุจริตระดับประเทศ น่าจะศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมของประเทศด้วย ศิริชัย วัฒนโยธิน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจ ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 267 ผู้ใดแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมาย อื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษ ที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบา ปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึก ความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อ เจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นผลประโยชนแก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน มาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิดหรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว เห็นเป็นการสมควร ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้น มีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แล้วปล่อยตัวไป เพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้ เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้ (3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก (4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด (6) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคก่อนนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใด ตามที่กล่าวในวรรคก่อนที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติ ไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ มาตรา 225 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็น ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใด ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะ พฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์ คู่ความ ที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้(ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ) มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้ง จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวน พิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ) มาตรา 176 ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มี ข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตรา โทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาล เห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้นเป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ |