การฟอกเงิน-ยกประโยชน์แห่งความสงสัย ความผิดฐานฟอกเงินเป็นคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบขปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นคดีอาญาที่โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเชื่อว่าโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่เมื่อพยานหลักฐานโจทก์นำสืบมาแล้วนั้นยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2267/2550 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 60 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในการกระทำความผิดดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบเพื่อให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดจริง เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองก่อนถูกจับกุมว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนมีรายได้นำไปซื้อทรัพย์สินของกลาง ลำพังจากการสอบสวนพบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบอาชีพ และจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง จะสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สินของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองรับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3, 5, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายและนับโทษจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4876/2544 ของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วตามฟ้องจริง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (1), 60 จำคุกคนละ 3 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกคนละ 4 ปี นับโทษต่อจากโทษของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4876/2544 ของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ร้อยตำรวจเอกเดชากับพวกจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีน 45,800 เม็ด เงินจำนวน 21,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง รถยนต์หมายเลขทะเบียน ฐฉ 1161 กรุงเทพมหานคร โทรทัศน์สี 1 เครื่อง เครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง และตู้เย็น 1 ตู้ เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานโอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 60 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่นำสืบในการกระทำความผิดดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ เมื่อคดีนี้เป็นคดีอาญาโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบ เพื่อให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดจริง แต่โจทก์มีเพียงร้อยตำรวจเอกเดชาผู้ร่วมจับกุมเบิกความเป็นพยานว่า เหตุที่ยึดทรัพย์สินของกลางเพราะฐานะของจำเลยทั้งสองไม่น่าที่จะมีทรัพย์สินของกลางได้ และสันนิษฐานว่าเงินจำนวน 21,000 บาท เป็นเงินที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นเพียงความเข้าใจของพยานโจทก์เอง แม้จ่าสิบตำรวจกิติศักดิ์ผู้ร่วมจับกุม และพันตำรวจโทณรงค์พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองรับว่าใช้เงินที่ได้จากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษซื้อทรัพย์สินของกลางก็ตาม แต่ร้อยตำรวจเอกเดชาก็มิได้เบิกความถึงคำรับของจำเลยทั้งสองและไม่มีการบันทึกคำรับของจำเลยทั้งสองไว้ในบันทึกการตรวจยึดทรัพย์สินเพื่อตรวจสอบเพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง ส่วนพันตำรวจโทณรงค์ก็เบิกความลอย ๆ โดยโจทก์มิได้อ้างส่งบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นพยาน คำเบิกความของจ่าสิบตำรวจกิติศักดิ์และพันตำรวจโทณรงค์จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองก่อนถูกจับกุมว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจนมีรายได้นำไปซื้อทรัพย์สินของกลางและเป็นเหตุให้มีการไปตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสองในวันเกิดเหตุ ลำพังจากการสอบสวนพบว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประกอบอาชีพและจำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง จะสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อทรัพย์สินของกลาง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสอง ทั้งจำเลยทั้งสองก็นำสืบว่าจำเลยทั้งสองมีรายได้จากการขายข้าวแกง การเล่นแชร์ การให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน รับจำนำรถยนต์และกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองรับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติ ไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ มาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยก ประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1 คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความ ฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์ จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว มาตรา 5 ผู้ใด
เจ้าอาวาสวัดเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินโดยทุจริตร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงิน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2565 จำเลยเป็นเจ้าอาวาสวัด ล. ซึ่งตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 บัญญัติให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความใน ป.อ. เมื่อจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ล. ร่วมกับ น. เบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินโดยทุจริต และร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการกระทำความผิด อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความในมาตรา 5 (1) (2) และมาตรา 9 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำเลยจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 5, 9, 10, 11, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีหมายเลขดำที่ อ.434/2561 ของศาลอาญา จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1) (2), 9, 10, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 39 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 26 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา มีสมณศักดิ์ชั้นพระครูชื่อพระครู ก. เป็นเจ้าอาวาสวัด ล. อำเภอ ช. และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ช. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนาส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนาและดูแลรักษาศาสนสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 46 (3) และมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 7 (4) มีผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการงานของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้เป็นไปตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 36 การแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงซึ่งกฎหมายกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 3 ให้แบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นราชการบริหารส่วนกลางและราชการบริหารส่วนภูมิภาค นายนพรัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระหว่าง พ.ศ. 2555 ถึง 2557 ในงบประมาณปี 2555 ถึงปี 2560 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโอนงบเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ดังนี้ 1. ให้วัด ล. ซึ่งมีจำเลยเป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 2. ให้วัด ล. 3,000,000 บาท เข้าบัญชีข้างต้น เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 3. ให้วัด ค. ซึ่งมีพระครู ศ. เป็นเจ้าอาวาส 3,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 4. ให้วัด ญ. ซึ่งมีพระอธิการ ถ. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 5. ให้วัด ย. ซึ่งมีพระครู ส. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 6. ให้วัด ง. ซึ่งมีพระอธิการ ห. เป็นเจ้าอาวาส เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 7. ให้วัด อ. ซึ่งมีพระครู ผ. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 8. ให้วัด ป. ซึ่งมีพระครู น. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 9. ให้วัด ร. ซึ่งมีพระครู ว. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 10. ให้วัด ห. ซึ่งมีพระอธิการ ล. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 11. ให้วัด ด. ซึ่งมีพระปลัด ป. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 12. ให้วัด ท. ซึ่งมีพระครู ฐ. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 13. ให้วัด บ. ซึ่งมีพระอธิการ ท. เป็นเจ้าอาวาส 2,000,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ได้นั้น จะต้องได้ความก่อนว่าเป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินของกลางที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมาเปลี่ยนสภาพเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยถูกต้อง กรณีจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า การอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินทั้ง 13 รายการข้างต้นไม่ชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความจากนายวิวัฒน์ นักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มบูรณะพัฒนาวัดและศาสนสงเคราะห์ สังกัดกองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พยานโจทก์เบิกความประกอบบันทึกคำให้การว่า ในช่วงปี 2555 ถึง 2560 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณประเภทงบอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดให้แก่วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีขั้นตอนคือ กลุ่มบูรณะพัฒนาวัดและศาสนสงเคราะห์ในสังกัดของกองพุทธศาสนสถานจะเสนอคำของบประมาณผ่านไปยังสำนักงานเลขาธิการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยส่วนแผนงานจะรวบรวมคำของบประมาณเสนอไปยังสำนักงบประมาณ เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติว่าด้วยงบประมาณแต่ละปีงบประมาณแล้ว กลุ่มบูรณะพัฒนาวัดและศาสนสงเคราะห์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะจัดทำแผนโครงการซึ่งประกอบด้วยกรอบวงเงินที่จะใช้บูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัดเสนอต่อผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดแรกเป็นคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การขอรับเงินอุดหนุน ประกอบด้วยพระเถระชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถระสมาคม 4 รูป รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ดูแลกองพุทธศาสนสถานเป็นประธาน มีผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการระดับกองทุกกองในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการกลุ่มบูรณะพัฒนาวัดและศาสนสงเคราะห์จะเป็นกรรมการและเลขานุการเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติในการที่จะจัดสรรงบอุดหนุนและบูรณปฏิสังขรณ์วัดให้แก่วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศและออกเป็นประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่องการขอรับเงินอุดหนุนและบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2 จะเป็นคณะทำงานพิจารณาการขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประกอบด้วยรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ดูแลกองพุทธศาสนสถานเป็นประธานผู้อำนวยการกองต่าง ๆ เป็นกรรมการ และมีผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาและศาสนสงเคราะห์เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณกรอบวงเงินที่จะจัดให้แก่วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศคณะกรรมการชุดนี้จะรวบรวมคำขอของวัดต่าง ๆ ที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนมา และตรวจสอบว่ามีเอกสารประกอบคำขอครบถ้วนหรือไม่ คำขอเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ และวัดมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เมื่อเห็นว่าวัดมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว คณะกรรมการจะมีมติจัดสรรเงินงบประมาณแก่วัดต่าง ๆ และเลขานุการจะทำหนังสือรายงานเสนอขออนุมัติโอนเงินให้แก่วัดโดยผ่านกลุ่มบริหารการเงิน บัญชี และงบประมาณเพื่อตรวจสอบวงเงิน เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้ว ก็จะเสนอผ่านรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่กำกับดูแลกองพุทธศาสนสถาน แล้วเสนอไปยังผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามลำดับ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว เรื่องดังกล่าวจะกลับมาที่กลุ่มบริหารการเงินบัญชีและงบประมาณเพื่อโอนให้แก่วัดโดยตรงหรือผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแล้วแต่กรณี นอกจากนี้งบประมาณอีกส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ที่ส่วนกลางที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อไว้จัดสรรเกี่ยวกับวัดที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร วัดที่ขออุดหนุนงบประมาณเป็นพิเศษ วัดพัฒนาตัวอย่างดีเด่น เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกรมการศาสนา พ.ศ. 2513 แสดงให้เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดจะต้องมีคำขอแสดงเหตุผลและความจำเป็นในการขอรับเงินอุดหนุน และการอนุมัติต้องกระทำในรูปแบบคณะกรรมการประกอบไปด้วยรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ดูแลกองพุทธศาสนสถานเป็นประธาน ผู้อำนวยการกองต่าง ๆ เป็นกรรมการและมีผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาศาสนสงเคราะห์เป็นเลขานุการล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งโดยหลักปฏิบัติราชการทางปกครอง คณะกรรมการดังกล่าวจะต้องพิจารณาคำขอของแต่ละวัดอย่างรอบคอบเพื่อให้เป็นตามความจำเป็นและใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วัดทั้งสิบสองวัดตามฟ้องไม่ได้ทำคำขอรับการสนับสนุนเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัด แต่เอกสารคำขอมีผู้จัดทำขึ้นและยื่นให้คณะทำงานเพื่อพิจารณาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดด้วยวิธีพิเศษคือยื่นตรงต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั่นเอง ในการประชุมอนุมัติก็ไม่ได้ประชุมอย่างแท้จริง ไม่มีการนำคำขอของแต่ละวัดมาพิจารณา หากแต่มีการเตรียมการประชุมมาล่วงหน้า คำขอระบุกว้าง ๆ แต่เพียงว่าบูรณะเสนาสนะเท่านั้น การกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถกระทำคนเดียวได้จะต้องร่วมรู้หลายคนอันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดให้ต้องปฏิบัติและเป็นการปฏิบัติราชการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นและเป็นการกระทำโดยทุจริตให้มีการเบิกเงินงบประมาณ ซึ่งในการแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวย่อมต้องมีการติดต่อกันกับวัดที่ไม่มีสิทธิรับเงินเพื่อขอรับเงินที่อนุมัติไปมิชอบคืนซึ่งต้องอาศัยความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวและความไว้เนื้อเชื่อใจและจะต้องตกลงถึงส่วนแบ่งเงินก่อนที่วัดจะรับเงินซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หากไม่มีข้อตกลงล่วงหน้าวัดที่รับเงินอาจไม่แบ่งเงินคืนให้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายนพรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระหว่าง พ.ศ. 2555 ถึง 2557 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่คุ้นเคยกับจำเลยมาตั้งแต่ยังเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานติดต่อจำเลยในเรื่องการโอนเงินงบประมาณซึ่งนายนพรัตน์เองเป็นผู้อนุมัติ จำเลยแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายรับเงินงบประมาณที่โอนมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คืนเงินส่วนใหญ่ให้นายนพรัตน์ ส่วนที่เหลือนำเข้าบัญชีส่วนตัวใช้จ่ายส่วนตัว โดยไม่นำเข้าบัญชีวัดและใช้เพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์หรือพัฒนาวัด โดยจำเลยรับโอนเงินที่โอนมายังวัด ล. ที่จำเลยเป็นเจ้าอาวาส 2 ครั้ง นอกจากนี้จำเลยยังเป็นผู้ดำเนินการชักจูงประสานงานให้วัดอื่นตามฟ้องอีก 11 วัด อยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ 2 วัด จังหวัดตาก 3 วัด จังหวัดนครสวรรค์ 3 วัด และจังหวัดชุมพร อีก 3 วัด เข้าแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยนำเงินไปใช้ส่วนตัวและให้นายนพรัตน์ หาได้มีการนำเงินไปบูรณปฏิสังขรณ์หรือพัฒนาวัดและจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายเพื่อเสนอสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเพื่อตรวจสอบแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นเจ้าคณะอำเภอย่อมทราบระเบียบดังกล่าวดี ซึ่งจำเลยก็เบิกความรับว่าจำเลยทราบถึงประเภทของงบประมาณและการทำบัญชี พฤติการณ์การกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นมีการวางแผนเป็นขั้นตอน มีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน และมีการแบ่งหน้าที่กันทำเริ่มตั้งแต่การติดต่อเจ้าอาวาสวัดที่ขอรับเงินคืนได้ การจัดทำคำขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนบูรณ์ปฏิสังขรณ์วัดหรือพัฒนาวัดขึ้นเอง โดยระบุกว้าง ๆ แต่เพียงว่าบูรณะเสนาสนะเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดในการของบประมาณโดยเจ้าอาวาสวัดที่จะโอนเงินดังกล่าวไปไม่ได้ทำคำขอและขอด้วยวิธีการพิเศษต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโดยตรง มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณดังกล่าว แต่ละเลยไม่พิจารณากันตามอำนาจและหน้าที่ตลอดจนไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายบัญญัติ แต่มีการจัดเตรียมรายงานการประชุมมาเสนอต่อที่ประชุม หลังจากนั้นกองพุทธศาสนสถานเสนอผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อพิจารณาอนุมัติ จากนั้นโอนเงินไปยังวัดที่ติดต่อไว้ แล้วไปขอรับเงินส่วนใหญ่คืน แบ่งเงินส่วนน้อยให้ ซึ่งเป็นการร่วมกันกระทำเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำและจะขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมิได้ มิฉะนั้นจะไม่สามารถโอนเงินงบประมาณและขอรับเงินส่วนใหญ่คืนได้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 ถึง 2557 นายนพรัตน์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ทั้งมีความสนิทสนมกับจำเลยเป็นผู้ติดต่อจำเลยเรื่องวัดที่จะรับโอนเงินและรับเงินเองหรือให้ลูกน้องมารับ แม้หลังจากนั้นนายนพรัตน์จะเกษียณอายุราชการ แต่ช่วงก่อนหน้านั้นนายนพรัตน์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นขบวนการล้วนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ร่วมขบวนการ มีการกระทำในลักษณะเดียวกันติดต่อมา และการดำเนินการจะสำเร็จได้จะต้องติดต่อเจ้าอาวาสวัดที่ยินยอมคืนเงินส่วนใหญ่ให้อันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้จักคุ้นเคยส่วนตัวและเป็นที่ไว้วางใจได้ซึ่งจะต้องอาศัยนายนพรัตน์ที่สนิทสนมกับจำเลยสามารถติดต่อเจ้าอาวาสที่ยินยอมคืนเงินส่วนใหญ่ได้ ดังนั้น แม้นายนพรัตน์จะเกษียณอายุราชการก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อย ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดสรรและอนุมัติงบประมาณเกี่ยวกับเงินอุดหนุนและบูรณปฏิสังขรณ์วัดในปีงบประมาณตามฟ้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (5) โดยจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องและรู้ว่าเงินงบประมาณทั้ง 13 รายการตามฟ้องเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกกฎหมาย สำหรับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่างบประมาณของวัด ล. เมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากของวัดแล้วจำเลยก็เบิกถอนและนำเงินบางส่วนคืนให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อนำไปให้นายนพรัตน์ ส่วนงบเงินอุดหนุนการปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัด งบประมาณปี 2558 ของวัด ล. วัด ค. และวัด ญ. เมื่อมีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากแล้วจำเลยก็รวบรวมเงินดังกล่าวของทั้งสามวัดบางส่วนส่งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อนำไปมอบให้นายนพรัตน์ และงบเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์และพัฒนาวัด งบประมาณปี 2559 ทั้ง 9 วัด เมื่อมีการเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวบางส่วนก็มีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของจำเลยหรือนำมาให้จำเลยและพวกของจำเลย มีทั้งที่จำเลยนำไปใช้จ่ายและคืนให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติโดยจำเลยรู้ว่าเงินงบประมาณที่โอนมาดังกล่าวนั้นได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังวินิจฉัยไว้ข้างต้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการโอน รับโอนทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด ทั้งมีการนำไปใช้เสมือนหนึ่งว่าเงินนั้นได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการปกปิด อำพรางลักษณะที่แท้จริงของการได้มาซึ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการสมคบกันกับพวกเพื่อกระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่มีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากแต่ละรายการและมีการมาอนุมัติออกจากบัญชีดังกล่าว ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอ อำเภอ ช. จึงถือว่าเป็นพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ จึงเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 และได้กระทำความผิดตามความในหมวด 1 บททั่วไป ในมาตรา 5 (1) (2) และมาตรา 9 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำเลยจึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันจะเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 11 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีฐานะเจ้าอาวาสวัด ล. ซึ่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 บัญญัติให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ล. ร่วมกับนายนพรัตน์เบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินโดยทุจริต และร่วมกระทำความผิดฐานฟอกเงิน จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการกระทำความผิด อันเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความในหมวด 1 บททั่วไป ในมาตรา 5 (1) (2) และมาตรา 9 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จำเลยจึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ส่วนกรณีการกระทำความผิดเกี่ยวกับวัด ค. วัด ญ. วัด ย. วัด ง. วัด อ. วัด ป. วัด ร. วัด ห. วัด ด. วัด บ. และวัด ท. ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดข้างต้น จำเลยไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเจ้าอาวาสวัด ล. หรือเจ้าคณะอำเภอ ช. กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน หากแต่จำเลยกระทำในฐานะส่วนตัวและอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของเจ้าอาวาสแต่ละวัดต่อ ๆ กันไป จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยในฐานะเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการกระทำความผิด อันเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตามความในหมวด 1 บททั่วไป ในมาตรา 5 (1) (2) และมาตรา 9 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งจะต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 11 แต่เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยซึ่งกระทำความผิดฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงไม่อาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เรียงกระทงลงโทษเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ฟ้องจะต้องระบุอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด การกระทำความผิดหลายกรรมซึ่งจะต้องเรียงการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หาใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดแต่อย่างใดไม่ จึงไม่จำต้องอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จึงมิใช่เรื่องพิพากษาเกินคำขอที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 แต่อย่างใด อนึ่ง ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.434/2561 ของศาลอาญา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลอาญาพิพากษายกฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.434/2561 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.1648/2562 จึงไม่มีโทษจำคุกในคดีดังกล่าวที่จะนำมานับโทษของจำเลยในคดีได้ดังนี้ จึงไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้นได้ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5 (1) (2), 9 วรรคสอง, 10 วรรคหนึ่ง, 11 วรรคหนึ่ง, 60 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ส่วนที่กำหนดโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก |