

ผลของการไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวัน
ต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับใน 30 วันจะต้องถูกยึดทรัพย์หรือต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้ว แม้จะมีอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดี จะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4895/2550 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 4, 42, 84 และปรับจำเลยอีกวันละ 500 บาท รวม 317 วัน เป็นเงิน 158,500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 84 ปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2546 จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2546 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท และปรับอีกวันละ 50 บาท นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2546 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าจำเลยมีสิทธิที่จะชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 246, 247 และ 248 เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ดังนั้นการบังคับคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น เมื่อคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุดศาลจะบังคับให้จำเลยชำระค่าปรับตามคำพิพากษาไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ดังนั้นหากการบังคับชำระค่าปรับกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กฎหมายย่อมบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยตรง นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงมาตรการชั่วคราวก่อนการบังคับชำระค่าปรับ ถ้าศาลเห็นสมควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา แต่การกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนนั้นกฎหมายยังให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้ว แม้จะมีอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับคดีไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2546 จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้จำเลยชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ปรับจำเลยเป็นรายวันรวม 317 วัน อันเป็นคุณแก่จำเลยแล้วจึงให้ปรับจำเลยเป็นรายวันตามขอ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้ปรับจำเลยเป็นรายวันนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2546 รวม 380 วัน จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 4,000 บาท และปรับเป็นรายวันวันละ 40 บาท รวม 317 วัน เป็นเงิน 12,680 บาท รวมปรับเป็นเงิน 16,680 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 8,340 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือ มิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัย ว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่ง ให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ ความในวรรคสองของ มาตรา 24 มิให้นำมาใช้บังคับแก่การกักขัง แทนค่าปรับ มาตรา 24 ผู้ใดต้องโทษกักขัง ให้กักตัวไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่า การกักขังผู้ต้องโทษกักขังไว้ในสถานที่กักขังตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้นั้น หรือทำให้ผู้ซึ่งต้องพึ่งพาผู้ต้องโทษกักขังในการดำรง ชีพได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร หรือมีพฤติการณ์พิเศษประการอื่นที่แสดงให้เห็นว่า ไม่สมควรกักขังผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่ดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งให้กักขังผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่อื่นซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของผู้นั้นเองโดยได้รับความ ยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อน ไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ต้องโทษกักขังปฏิบัติ และหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวยินยอม ศาลอาจมีคำสั่งแต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้ควบคุม ดูแลและให้ถือว่าผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาล โดยเปิดเผยเป็นต้นไป มาตรา 245 ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 246 มาตรา 247 และ มาตรา 248 เมื่อ คดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหาร ชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์ คำพิพากษานั้น และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน |