-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258
-ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th
-ไอดีไลน์ ID Line : leenont
บุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี, ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ - ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติถูกเพิกถอนให้เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ และให้ ส.ป.ก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมา ใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อครม. มีมติให้ปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว เมื่อ ส.ป.ก.จะนำที่ดินแปลงใดไปดำเนินการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ
คำพิพากษาฎีกาที่ 747/2550
การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ใดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ยังไม่มีผลทางกฎหมายเป็นการเพิกถอนที่ดินที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่นั้นทันที ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินจะถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติก็ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (4) คือเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นเพียงการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสมิง และ ส.ป.ก. จะนำที่ดินไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ดังกล่าวถูกเพิกถอนให้เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน จึงเป็นการลงโทษจำคุกต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษให้สูงขึ้นอีกได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี, 74 ทวิ บวกโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 762/2542 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษคดีนี้ ริบมีดของกลาง ให้จำเลยและบริวารออกไปจากป่าที่เกิดเหตุ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ศาลขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลยแดงที่ 762/2542 อีก 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่กำหนด 5 เดือน ริบมีดของกลาง และให้จำเลย บริวารของจำเลยออกไปจากป่าที่เกิดเหตุ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …การที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ใดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินนั้น ยังไม่มีผลทางกฎหมายเป็นการเพิกถอนที่ดินที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่นั้นทันที ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติในท้องที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินจะถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติก็ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (4) คือ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสมิง (ป่าคลองใหญ่และป่าเขาไฟไหม้) และ ส.ป.ก. จะนำที่ดินไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่อย่างใด ส่วนที่ดินที่มีการออก ส.ป.ก. 4-01 ให้ประชาชน รวมทั้งที่ดินของนางสุขนั้นเป็นคนละแปลงกับที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุ ตามคำเบิกความของนายประยูรก็ยืนยันว่า ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากนี้ตามที่จำเลยนำสืบมาก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีการปิดประกาศว่าเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จึงถือว่าประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทราบแล้วว่าที่ดินที่เกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะความผิดตามบทบัญญัติในมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การลงโทษจำคุกดังกล่าวจึงต่ำกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยให้สูงขึ้นอีกได้ อย่างไรก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยได้ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเนื้อที่ดินเพียงประมาณ 40 ตารางวา พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง และขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 63 ปีแล้ว ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยประพฤติตนเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษจำคุกให้ แต่เพื่อให้หลาบจำให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย เมื่อศาลรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยจึงบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 12,000 บาทอีกสถานหนึ่งด้วย จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอที่ให้บวกโทษจำคุกจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.
พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (4)
มาตรา 26 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดินใช้บังคับใน ท้องที่ใดแล้ว
(1) ถ้าในเขตปฎิรูปที่ดินนั้นมีที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับ พลเมืองใช้ร่วมกันแต่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น หรือได้เปลี่ยนแปลง สภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันก็ดี หรือพลเมืองยังใช้ ประโยชน์ในที่ดินนั้นอยู่หรือยังไม่เปลี่ยนสภาพจากการเป็นที่ดินสำหรับพลเมือง ใช้ร่วมกันเมื่อได้จัดที่ดินแปลงอื่นให้พลเมืองใช้ร่วมกันแทน โดยคณะกรรมการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ดี ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูป ที่ดินนั้นมีผล เป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับที่ดิน ดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน และให้ ส.ป.ก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้
(2) ถ้าในเขตปฎิรูปที่ดินนั้นมีที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้สงวนหรือหวง ห้ามไว้ตามความต้องการของทางราชการ เมื่อกระทรวงการคลังได้ให้ความ ยินยอมแล้วให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดินนั้นมีผลเป็นการถอนสภาพ การเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับที่ดินดังกล่าวโดยมิต้องดำเนินการ ถอนสภาพตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมา ใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้
(3) ถ้าในเขตปฎิรูปที่ดินนั้นมีที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่ง เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็น ของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดินและที่ดินนั้นอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรีให้ ส.ป.ก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรมได้
(4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ ดำเนินการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก.จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฎิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวน แห่งชาติ
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม(4) ให้ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และมีอำนาจในการให้เช่าที่ดินอันเป็นป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวได้ และให้ค่าเช่าที่ได้มาตกเป็นของกองทุนการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
มาตรา 31 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท
ในกรณีความผิดตาม มาตรา นี้ ถ้าได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินยี่สิบห้าไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่
(1) ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตาม กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือ
(2) ไม้อื่นเป็นต้นหรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง รวมกันเกินยี่สิบต้น หรือท่อน หรือรวมปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร หรือ
(3) ต้นน้ำลำธาร ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปี และ ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท
ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตาม มาตรา นี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ศาลมี อำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของผู้กระทำผิด ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ด้วย
ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258 * www.lawyerleenont.com * สำนักงานกฎหมายพีศิริ ทนายความ