

ทุนทรัพย์ไม่เกินสามแสน | เขตอำนาจศาลแขวง เขตอำนาจศาลแขวงพิพากษาคดีแพ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกินสามแสนบาท ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกินสามแสนบาทการที่โจทก์ทั้งสองรวมฟ้องมาในสำนวนเดียวกันและศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณา ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์แต่ละคนมีมากกว่าที่จะยื่นฟ้องแยกกันมาเป็นแต่ละสำนวน เดิมโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเบื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด ต่อมาจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์จึงทำให้คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ดังนั้นการที่จะพิจารณาเขตอำนาจศาลก็ต้องพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ เมื่อทุนทรัพย์ในคดีนี้ไม่ถึง 300,000 บาท จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดแต่อยู่ในเขตอำนาจศาลแขวง คำพิพากษาฎีกาที่ 272/2550 โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท นาย ล. ได้ขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบ และมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13401 ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่มีชื่อ นาย ล. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว โดยเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณราคาเป็นเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีราคาไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) แม้โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นรวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ได้ความตามแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทแยกกันเป็นส่วนสัด การครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย โจทก์ทั้งสองจึงมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงชอบที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องจำเลยมาคนละสำนวน การที่โจทก์ทั้งสองรวมฟ้องมาในสำนวนเดียวกันและศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณา ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์แต่ละคนมีมากกว่าที่จะยื่นฟ้องแยกกันมาเป็นแต่ละสำนวน เมื่อคดีในสำนวนของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ 140,000 บาท อยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ ทั้งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย หาได้บังคับให้ศาลชั้นต้นต้องโอนคดีไปทั้งคดีดังที่ศาลแขวงสุรินทร์วินิจฉัยไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ และศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีดังกล่าวไว้พิจารณาจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว การที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดีและให้ส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดสุรินทร์เพื่อพิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบ คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ว่า เมื่อปี 2504 โจทก์ที่ 1 ครอบครองที่ดินนา 1 แปลง ตั้งอยู่ที่บ้านบุแกรง ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 27 ไร่เศษ โดยรับมรดกจากบิดา ต่อมาปี 2510 โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินทางด้านทิศเหนือให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 7 ไร่ โจทก์ที่ 2 เข้าทำนาตลอดมาถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 1 ได้ฝากที่ดินส่วนที่เหลือประมาณ 20 ไร่เศษให้นายลุน อุส่าห์ดี ครอบครองทำนา ต่อมาปี 2522 นายลุนคืนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และออกจากที่ดินไป โจทก์ที่ 1 เข้าทำนาตลอดมาถึงปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 1 ขอให้คืนที่ดินแก่จำเลย ครั้นวันที่ 9 มกราคม 2548 จำเลยบุกรุกเข้าไปไถนาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองตรวจสอบทางทะเบียนปรากฏว่า ขณะที่โจทก์ที่ 1 ฝากที่ดินไว้กับนายลุน นายลุนได้ลักลอบขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของตน โดยไม่ได้ครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่หมาย 2 เป็นของโจทก์ที่ 1 จำนวน 20 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา และเป็นของโจทก์ที่ 2 จำนวน 7 ไร่ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13401 ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่มีชื่อนายลุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่งให้คู่ความเสนอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินพิพาทต่อศาล จำเลยเสนอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินต่อศาล ศาลจังหวัดสุรินทร์ให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตรวจดู โจทก์ทั้งสองแถลงรับว่าเป็นราคาประเมินที่ดินจริง ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้โอนคดีเฉพาะโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2548 ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า การโอนคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย จะต้องเป็นการโอนคดีทั้งคดีจะโอนคดีเฉพาะส่วนไม่ได้ คำสั่งที่ให้รับโอนคดีเป็นคำสั่งโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดี ให้ส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดสุรินทร์เพื่อพิจารณาพิพากษา แต่ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่งไม่รับสำนวนคืนจากศาลแขวงสุรินทร์ โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลจังหวัดสุรินทร์ที่ให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุรินทร์ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า ศาลจังหวัดสุรินทร์ได้มีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุรินทร์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2548 หากโจทก์ที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โจทก์ที่ 2 ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 การที่โจทก์ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดสุรินทร์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและมีปัญหาว่าคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดสุรินทร์หรือศาลแขวงสุรินทร์ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท นายลุนได้ขอออกโฉนดในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบ และมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13401 ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่มีชื่อนายลุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว โดยเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีราคาไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) แม้โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสุรินทร์รวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ได้ความตามแผนที่ที่ดินพิพาทว่า โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทแยกกันเป็นส่วนสัด โดยโจทก์ที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทางทิศเหนือเนื้อที่ 7 ไร่ ส่วนโจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทางทิศใต้ต่อจากส่วนที่โจทก์ที่ 2 ครอบครอง เป็นเนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย โจทก์ทั้งสองจึงมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงชอบที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องจำเลยมาคนละสำนวน การที่โจทก์ทั้งสองรวมฟ้องมาในสำนวนเดียวกันและศาลจังหวัดสุรินทร์ยอมรับฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณา ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์แต่ละคนมีมากกว่าที่จะยื่นฟ้องแยกกันมาเป็นแต่ละสำนวน เมื่อคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ 140,000 บาท อยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลจังหวัดสุรินทร์จึงชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ ทั้งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย หาได้บังคับให้ศาลจำต้องมีคำสั่งให้โอนคดีไปทั้งคดีดังที่ศาลแขวงสุรินทร์วินิจฉัยไม่ ดังนั้น ที่ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่งให้โอนคดีเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ และศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีดังกล่าวไว้พิจารณาจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว การที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดี และให้ส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดสุรินทร์เพื่อพิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบ พิพากษายกคำสั่งศาลแขวงสุรินทร์ที่ให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดีและคำสั่งไม่รับโอนคดี ให้ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ.อกจากนี้ให้เป็นพับ. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดี เดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่า บุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้าม มิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่ง คดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดั่งนั้น โดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้น แทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 ศาลชั้นต้นมีเขตตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้น กำหนดไว้ ศาลแพ่งและศาลอาญา มีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี และศาล ยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้ ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญา และคดีนั้น เกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญา ศาลแพ่งหรือศาลอาญา แล้วแต่กรณี อาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง โอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้น ในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ให้ศาลจังหวัด นั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ มาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจ ทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตาม ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 24 และ มาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 18 ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมี อำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้ |