

การริบทรัพย์สินของกลาง ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด การริบทรัพย์สินของกลาง ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด การริบทรัพย์สินของกลาง รถกระบะเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดหรือไม่? นำรถกระบะเป็นพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารไม่ถือว่ารถกะบะเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง โดยสภาพรถกระบะก็เอาไว้บรรทุกคนได้อยู่แล้ว จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด การที่จำเลยกระทำความผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ เพื่อให้พ้นจากการจับกุม โดยใช้รถกระบะของกลางเป็นพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาด้วยนั้น ถือไม่ได้ว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวโดยตรงตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ทั้งตามปกติรถกระบะของกลางโดยสภาพมีไว้เพื่อบรรทุกคนและสิ่งของจากที่หนึ่งไปยังที่อื่นอันเป็นวัตถุประสงค์ทั่วไป จึงริบรถกระบะของกลางไม่ได้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และริบรถกระบะของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ริบรถกระบะของกลาง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 6 เดือน เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน ไม่ริบรถกระบะของกลาง แต่ให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษายืน หมายเหตุคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลฎีกาวางแนวมาตลอดว่า ทรัพย์สินที่ศาลจะสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) จะต้องเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ก็เดินตามหลักดังกล่าวข้างต้น ตามกฎหมายอาญาเยอรมัน ฝ่ายนิติบัญญัติได้จัดให้การริบทรัพย์สินเป็นมาตรการบังคับอย่างหนึ่ง (Massnahme) อย่างไรก็ตาม การริบทรัพย์สินมีไว้เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ค่อนข้างจะหลากหลาย และด้วยเหตุนี้เองจึงไม่มีหลักในทางกฎหมายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (keine eingeitliche rechtsnatur) การริบทรัพย์สินมีลักษณะคล้ายโทษทางอาญา (strafaehnlichen Charakter) ในกรณีที่บังคับเอากับผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินอยู่ในขณะที่มีคำพิพากษา (มาตรา 74 ll Nr. 1 ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) หรือในกรณีที่เป็นการริบทรัพย์สินของบุคคลที่สาม (มาตรา 74a ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) ทั้งสองกรณีดังกล่าว การริบทรัพย์สินในขณะเดียวกันก็มีไว้เพื่อเป็นการคุ้มครองสังคม เพื่อเป็นการป้องกันทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดของการสูญเสียกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดและเพื่อให้มีผลแก่ตัวผู้กระทำผิด อันจะเป็นผลให้วัตถุประสงค์ในการป้องกันพิเศษบรรลุผล ดังนั้น ผู้กระทำผิดที่ถูกริบทรัพย์สิน เช่น ถูกริบรถบรรทุกที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงอาจที่จะได้รับผลร้ายที่มากกว่าการได้รับโทษทางอาญา ด้วยเหตุนี้ การริบทรัพย์สินจึงไม่ได้อยู่ภายใต้หลักความน่าตำหนิ (Schuldprinzip) ตามมาตรา 46 ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน หากแต่อยู่ภายใต้หลักสัดส่วน (Grundsatz der Verhaeltnismaessigkeit) ดังนั้น ตามมาตรา 74b l ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน หากตามกฎหมายไม่ได้บัญญัติบังคับให้ต้องริบทรัพย์สินแล้ว ก็ไม่อาจที่จะริบทรัพย์สินได้ หากว่าเมื่อเทียบกับคุณค่าของตัวทรัพย์สินแล้วจะเป็นการขัดต่อหลักสัดส่วน (เช่น ไม่มีการริบรถบรรทุกที่ใช้ในการกระทำความผิดในกรณีที่เป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของความผิดศุลกากร) นอกจากนี้ในกรณีตามมาตรา 74, 74a ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน ศาลสามารถที่จะกำหนดให้การริบทรัพย์สินเป็นเงื่อนไขไว้ในคำพิพากษาและแทนที่ด้วยมาตรการอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า หากมาตรการดังกล่าวได้ผลเช่นเดียวกับกรณีของการริบทรัพย์สิน เช่น การสั่งให้ทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวใช้ไมได้ เป็นต้น (มาตรา 74b ll ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) ในทางตรงกันข้าม การริบทรัพย์สินถือว่าเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัย (Sicherungsmassnahme) ในกรณีที่มีการริบทรัพย์สินดังกล่าวมีไว้เพื่อที่จะคุ้มครองสังคม เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อสังคม (เช่น กล่องใส่วัตถุระเบิด) หรือจะมีอันตรายเกิดขึ้นหากว่าได้นำเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในการกระทำความผิด (เช่น เครื่องมือที่ใช้ลักทรัพย์) (มาตรา 74b ll Nr.2, lll ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) ในการริบทรัพย์สินนั้นมีเงื่อนไขสองประการกล่าวคือ ในประการแรก จะต้องมีการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา ซึ่งการที่จะทำการริบทรัพย์สินของผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดนั้น การกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาดังกล่าวจะต้องเป็นการกระทำความผิดอาญาที่สามารถตำหนิตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการริบทรัพย์สินที่เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยนั้น การกระทำความผิดอาญาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องสามารถตำหนิตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิด (มาตรา 74 l, lll ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้วหากว่าการกระทำความผิดอาญาดังกล่าวได้กระทำถึงขั้นพยายามกระทำความผิดหรือถึงขั้นตระเตรียมกระทำความผิดที่สามารถจะลงโทษในทางอาญาได้ (BGH 13, 311 มาตรา 49a ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมันตามกฎหมายเดิม) อย่างไรก็ตาม การริบทรัพย์สินแม้จะเป็นกรณีของมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยก็ยังอยู่ในดุลพินิจของศาลว่าจะริบทรัพย์สินดังกล่าวหรือไม่ ในประการที่สองการริบทรัพย์สินนั้น ทรัพย์สินที่จะถูกริบได้นั้น ต้องเป็นทรัพย์ที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำความผิดอาญาร้ายแรง (ein Verbrechen) หรือความผิดอาญาธรรมดาที่ทำโดยเจตนา (ein Vosaetzliches Vergehen) (producta sceleris) หรือต้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้หรือได้ใช้เพื่อจะกระทำความผิด ตลอดถึงการตระเตรียมการกระทำความผิด (instrumenta sceleris) การริบทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในมาตรา 74 l ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน ไม่ได้จำกัดเฉพาะทรัพย์ที่มีรูปร่าง (koerperliche Sachen) อย่างในกฎหมายเดิม แต่รวมถึงสิทธิต่าง ๆ (Rechte) ด้วย (vgl. มาตรา 74e l, 74f l ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) การริบทรัพย์สินในฐานะที่เป็นมาตรการบังคับที่คล้ายโทษทางอาญา (strafaehnliche Massnahme) สามารถกระทำได้หากว่าตัวทรัพย์สินดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือสิทธิดังกล่าวเป็นของผู้กระทำผิดหรือของผู้ร่วมกระทำผิดในขณะที่มีคำพิพากษา ผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดที่เป็นเจ้าของทรัพย์ในขณะที่มีคำพิพากษาไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพย์ดังกล่าวในการกระทำความผิดด้วยตนเอง ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้วหากว่าผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น ๆ ได้ใช้ทรัพย์ดังกล่าวโดยความรู้เห็นของผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดที่เป็นเจ้าของทรัพย์ ตัวทรัพย์ที่จะถูกริบนั้นจะต้องมีความชัดเจนเพียงพอว่าจะมีการนำไปใช้ในการกระทำความผิดในกรณีที่จะมีการกระทำความผิดดังกล่าวในอนาคต (RG 59, 250) ตัวอย่าง : ทรัพย์ที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำความผิด (producta sceleris) คือเอกสารที่ทำปลอมขึ้น (มาตรา 267 ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) และเงินปลอม (มาตรา 150 ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) ในทางตรงกันข้าม ไม่อาจที่จะริบทรัพย์สินได้ในกรณีของสิ่งที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญา อย่างเช่น เงินที่ได้มาจากการขายทรัพย์ที่เป็นผลมาจากการกระทำความผิดฐานรับของโจร (RG 54, 223) ในส่วนของสิ่งที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อกระทำความผิด (instrumenta sceleris) เช่น เครื่องมือที่ใช้ในการลักทรัพย์ เครื่องมือที่ใช้ในการปลอมแปลง (มาตรา 150 ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน) อาวุธที่ใช้ในการกระทำความผิด (RG 44, 140 (142) ; BGH 31, 80) เงินที่เก็บสำรองไว้ให้แก่สมาชิกขององค์กรการก่อการร้ายที่สามารถนำไปใช้ในการก่อการร้ายครั้งใหม่ได้ (BGN NStZ 1985, 262) รถบรรทุกที่ได้ใช้ในการลักลอบขนส่งสินค้าหนีภาษี (BGH 3, 355) รถจักรยานยนต์ที่ผู้กระทำผิดใช้ในการนำผู้เสียหายไปยังสถานที่ที่จะข่มขืนกระทำชำเรา (BGH NJW 1955, 1327) ในทางตรงกันข้าม หากสิ่งดังกล่าวเป็นแต่เพียงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่กับการกระทำความผิดอาญาแล้วก็ไม่อาจที่จะริบได้ตามมาตรา 74 ประมวลกฎหมายอาญาเยอรมัน เช่น รถบรรทุกที่ถูกใช้โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้นำไปใช้ขับขี่ได้ (OLG Karlsruhe VRS 9, 549) รวมทั้งอาวุธปืนที่บุคคลมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (OLG Hamm NJW 1954, 1169) ในทางตรงกันข้าม รถบรรทุกที่ผู้กระทำผิดใช้ในการหลบหนีจากที่เกิดเหตุ (BGN 10, 337) หรือพาทรัพย์ที่ลักมาหลบหนีไป (BGH NJW 1952, 892) ถือว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอาญา (Jescheck, Lehrbuch des Strafrechts : Allgemeiner Teil, 4 Auflage 1988, 718-720) ในการริบทรัพย์สินหลักจึงอยู่ตรงที่ว่าทรัพย์ดังกล่าวได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่ ถ้าใช่ก็น่าที่จะริบได้ ในทางตรงกันข้าม หากทรัพย์ดังกล่าวเป็นแต่เพียงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอยู่กับการกระทำความผิดแล้วก็ไม่น่าที่ศาลจะสั่งริบทรัพย์ดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้จึงมีข้อที่น่าคิดว่าเหตุใดรถกระบะดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในเมื่อข้อเท็จจริงก็ยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวโดยใช้รถกระบะดังกล่าวในการกระทำความผิด สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตาม กฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้อีกด้วยคือ |