

ตรวจค้น-จับกุมมิชอบด้วยกฎหมาย ตรวจค้น-จับกุมมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป การตรวจค้นและจับกุมจะชอบหรือไม่ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป ตำรวจค้นบ้านและจับโดยไม่มีหมายค้นแม้เป็นการตรวจค้น-จับกุมมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเรื่องที่จะต้องไปฟ้องร้องว่ากล่าวเป็นคดีเรื่องใหม่ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการสอบสวน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2550 โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 58, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง บวกโทษของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 947/2545 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ และนับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1120/2546 และ 1136/2546 ของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 947/2545 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุก 8 ปี 6 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ริบของกลาง (ที่ถูก ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง) โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การตรวจค้นบ้านของจำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานตำรวจกระทำโดยไม่มีหมายค้น และไม่มีเหตุที่จะเข้าค้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 (2) และ (5) เนื่องจากการกระทำความผิดในคดีนี้มิได้กระทำโดยซึ่งหน้า ทั้งมิใช่กรณีที่ผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับ เห็นว่า การตรวจค้นและการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวนไม่มีผลกระทบไปถึงการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์ ทั้งหามีผลทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจที่ชอบเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่ การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎาไม่รับวินิจฉัย” พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 หมายเหตุ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2550 วินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายว่า "การตรวจค้นบ้านจำเลยและการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน ไม่มีผลกระทบไปถึงการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งหามีผลทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจที่ชอบเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่" จึงเป็นการยืนยันหลักกฎหมายที่ว่า ความชอบด้วยกฎหมายของขั้นตอนการค้นและการจับกุมไม่มีความสัมพันธ์ในการส่งผลให้การสอบสวนชอบหรือไม่ ส่วนการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 15 นั้น" หมายความว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าการตรวจค้นบ้านของจำเลยทั้งสอง เจ้าพนักงานตำรวจกระทำโดยไม่มีหมายค้นและไม่มีเหตุที่จะเข้าค้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 (2) และ (5) เนื่องจากการกระทำความผิดในคดีนี้มิได้กระทำโดยซึ่งหน้า ทั้งมิใช่กรณีที่ผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้านและการจับนั้นมีหมายจับ ศาลฎีกาจึงบอกว่า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวว่า การค้นก็ดีการจับก็ดีจะชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยอ้างหรือไม่เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีผลต่อคดี (กล่าวคือ ไม่ส่งผลให้การสอบสวนชอบหรือไม่ชอบ) ศาลฎีกาจึงเห็นว่าเรื่องที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย พรเพชร วิชิตชลชัย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้ |