

ควบคุมหรือขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ควบคุมหรือขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที ตำรวจจับเจ้าของร้านอินเตอร์เน็ตข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ โดยไม่มีหมายจับ โดยอ้างว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ต่อมาผู้ต้องหาขอประกันตัวออกมาและยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 ศาลยกคำร้อง เพราะตามกฎหมายผู้ถูกคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายจะยื่นคำร้องได้ในขณะที่ยังถูกคุมหรือขังเท่านั้น หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายข้างต้น สิทธิของผู้ถูกคุมขังในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 นั้น มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ตามคำร้องปรากฏว่าภายหลังจากผู้ร้องถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ร้องชั่วคราวไปแล้ว โดยให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ กรณีจึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ร้องในขณะยื่นคำร้องแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอตามมาตรา 90 ได้ หากการจับไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้องด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลตามกฎหมายเรื่องนั้น ๆ ต่อไป ทรัพย์สินซึ่งผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจคืนแก่ผู้ร้องนั้น ก็มิใช่กรณีที่จะยื่นคำขอมาพร้อมกับคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 เช่นกัน ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2550) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4827/2550 คดีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ร้อยตำรวจโทไตรรัตน์ กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน จับกุมนางรุ่งทิวา ผู้ร้อง ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์และยึดเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์จำนวน 8 ชุด และต่อมาพันตำรวจโทสุรวุฒิ พนักงานสอบสวน ได้ควบคุมตัวผู้ร้องไว้ทำการสอบสวน ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ร้องโดยไม่มีหมายจับโดยอ้างว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า ผู้เสียหายเรียกค่าเสียหายเพื่อยอมความ 150,000 บาท และยอมลดลงเหลือ 30,000 บาท ผู้ร้องไม่ยอมชำระจึงถูกควบคุม แต่ผู้ร้องได้ขอปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ขณะผู้ร้องถูกจับยังไม่มีผู้ใดเล่นเกมของผู้เสียหาย จึงมิใช่ความผิดซึ่งหน้าที่จะจับโดยมิต้องขอหมายจับจากศาล การจับไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจควบคุมและยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยผู้ร้องและมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคืนเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลางแก่ผู้ร้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยผู้ร้องจากการควบคุมของเจ้าพนักงานตำรวจและปล่อยทรัพย์ของกลางที่ยึดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า สิทธิของผู้ถูกคุมขังในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 นั้น มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ตามคำร้องปรากฏว่าภายหลังจากผู้ร้องถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ร้องชั่วคราวไปแล้ว โดยให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ กรณีจึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ร้องในขณะยื่นคำร้องแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจจะร้องขอตามมาตรา 90 ได้อีกต่อไป หากการจับเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้อง ด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องนั้น ๆ ต่อไป สำหรับทรัพย์สินซึ่งผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจคืนแก่ผู้ร้องนั้น ก็มิใช่กรณีที่จะยื่นคำขอมาพร้อมกับคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ได้เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
มาตรา 90 เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้อง ถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ เมื่อได้รับคำร้องดั่งนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดง ให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที |