

ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ จำเลยให้การรับสารภาพอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดไม่ได้ ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ โจทก์ฟ้องจำเลยความผิดฐานยักยอก จำเลยให้การรับสารภาพ การที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงว่าไม่ได้กระทำความผิดแต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงเพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เนื่องจากจำเลยสารภาพในศาลชั้นต้นแล้วข้อเท็จจริงยุติไป คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6899/2550 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอก จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แม้จำเลยจะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยดังกล่าวก็ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทธัชรวีร์ จำกัด ผู้เสียหาย ได้ครอบครองเงินสดค่าเช่าที่พักอาศัยของผู้เสียหายจำนวน 200,000 บาท แล้วเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวของผู้เสียหายเป็นของจำเลยโดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 200,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ระหว่างพิจารณา บริษัทธัชรวีร์ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ร่วม จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาในทำนองว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยดังกล่าวก็ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์ร่วมแต่กลับยักยอกเงินของโจทก์ร่วมจำนวนมากถึง 200,000 บาท โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมแล้วยังเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้เช่าอีก กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ทั้งพยายามหาเงินมาใช้คืนโจทก์ร่วมก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยให้เบาลงอีกและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติ ไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้ง จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง |