

ขอให้ศาลแรงงานพิจารณาคดีใหม่ การขอพิจารณาคดีใหม่คดีแรงงานให้ยื่นคำร้องภายใน 7 วันส่วนคดีแพ่งภายใน 15 วันนับแต่ได้รับ "คำบังคับ" ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัด หากจำเลยได้มาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่มาศาลแรงงานไม่ได้ โดยต้องมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบภายในกำหนด 7 วันนับแต่ศาลแรงงานมีคำสั่งดังกล่าว ซึ่งศาลแรงงานก็จะทำการไต่สวนคำร้องของจำเลยถึงเหตุจำเป็นของจำเลยที่ไม่สามารถมาศาลแรงงานได้ และหากเห็นสมควรแล้ว ศาลแรงงานจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม และดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แต่สำหรับจำเลยในคดีนี้ จำเลยได้รับหมายเรียกพร้อมสำเนาคำฟ้องนัดให้จำเลยมาศาลโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาลแรงงานตามนัด จนกระทั่งจำเลยได้รับ "คำบังคับ" จำเลยจึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานพิจารณาคดีใหม่เมื่อล่วงพ้นเวลา 7 วันแล้ว จึงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากในคดีแรงงานนั้นมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ไม่เหมือนคดีแพ่งอื่น ๆ ทั่วไปที่จะขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ภายในเวลา 15 วัน นับแต่จำเลยได้รับคำบังคับไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกา-97/2550 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ เมื่อจำเลยไม่มาศาล และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง การที่จำเลยขอให้เพิกถอนคำสั่งขอศาลแรงงานกลางดังกล่าวและขอให้พิจารณาคดีใหม่ ย่อมไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา มาใช้บังคับได้ จำเลยจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 41 จำเลยยื่นคำร้องเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่พ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด จึงไม่ชอบ คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานขายและเก็บเงิน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงาน จำเลยที่ 1 เก็บเงินจากลูกค้าและรับสินค้าคืนจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 193,294 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองขาดนัด ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 189,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ได้รับหมายโดยชอบแล้วตามใบตอบรับเอกสารในสำนวนอันดับที่ 6 และตามที่จำเลยที่ 1 รับในคำร้องนี้ว่า ทราบว่าถูกฟ้องแล้วและศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาคดีว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดจึงเป็นการสั่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง การร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 จึงปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 โดยจะต้องร้องขอภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัด การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ในวันที่ 10 มีนาคม 2547 ซึ่งเกินกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัด จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คดีจึงไม่จำต้องไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ถึงเหตุแห่งความจำเป็นที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจมาศาลได้ ยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคสอง โดยไม่ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 เป็นการชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดสืบพยานโจทก์ คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้ส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 จำเลยที่ 1 ได้รับสำเนาคำบังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 ยังไม่พ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 รับคำบังคับ ยังอยู่ในกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เห็นว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา โดยกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ และออกหมายเรียกให้จำเลยที่ 1 มาศาลในวันนัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 โดยชอบ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวจึงเป็นการที่ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามมาตรา 40 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้ การที่จำเลยที่ 1 จะขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลแรงงานกลางดังกล่าวและขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นย่อมไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา มาใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 41 ว่า “ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง หากโจทก์หรือจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้ และหากเห็นเป็นการสมควร ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 และดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา 40 นั้นใหม่ เสมือนหนึ่งมิได้เคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น” คดีนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดแล้วพิจารณาพิพากษาคดีไปฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 พ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัด จึงล่วงเลยเวลาที่จำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ได้ ที่ศาลแรงงานมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ทำการไต่สวนก่อนนั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน มาตรา 37 เมื่อศาลแรงงานสั่งรับคดีไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงาน กำหนดวันเวลาในการพิจารณาคดีโดยเร็ว และออกหมายเรียกจำเลยให้มา ศาลตามกำหนด ในหมายนั้นให้จดแจ้งรายการแห่งข้อหาและคำขอบังคับให้ จำเลยทราบและให้ศาลแรงงานสั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลาเดียวกันนั้นด้วย จำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือ ก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มา ศาลก็ได้ มาตรา 40 เมื่อโจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลตาม มาตรา 37 แล้ว ไม่ มาตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา ให้ถือว่าโจทก์ไม่ ประสงค์จะดำเนินการคดีต่อไปให้ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดี ออกเสีย จากสารบบความ เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตาม มาตรา 37 แล้ว ไม่มาตาม กำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุที่ไม่มา ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว ในกรณีที่โจทก์หรือจำเลยได้แจ้งให้ศาลแรงงานทราบเหตุแล้ว และศาล แรงงานเห็นเป็นการสมควร ก็ให้กำหนดวันเวลานัดใหม่เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมา ศาล มาตรา 41 ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งจำหน่ายคดี ออกเสียจาก สารบบความตาม มาตรา 40 วรรคหนึ่ง หรือมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตาม มาตรา 40 วรรคสอง หากโจทก์หรือจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึง ความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้ และหากเห็นเป็น การสมควรให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตาม มาตรา 40 และดำเนิน กระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่ได้มีคำสั่งตาม มาตรา 40 นั้นใหม่ เสมือนหนึ่งมิได้เคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น
|