

การใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ
ติดต่อเรา โทร. 085-9604258 การใช้ดุลพินิจของคณะอนุญาโตตุลาการ สิทธิของผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะอนุญาโตตุลาการรับคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งของตนและหยุดดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการได้นั้นต้องเป็นกรณีที่ พระราชบัญญัตอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ให้อำนาจไว้ การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งไม่รับคำคัดค้านหรือข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้คัดค้านในชั้นอนุญาโตตุลาการ เป็นกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง ที่ให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในเมื่อไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายอนุญาโตตุลาการนั้นบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งเมื่อคณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งดังกล่าวแล้วคู่พิพาทจะใช้สิทธิทางศาลมายื่นคำร้องขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ก็ต้องมีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ให้สิทธิคู่พิพาทยื่นคำร้องขอได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ให้สิทธิคู่พิพาทยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับกรณีนี้ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้มีคำสั่งให้คณะอนุญาโตตุลาการรับคำคัดค้านและข้อเรียกร้องแย้งของตน และหยุดการดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการในกรณีนี้ได้ มาตรา ๒๕ ในการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และให้มีโอกาสนำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทนั้น ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงด้วย เพื่อประโยชน์แห่งหมวดนี้ คณะอนุญาโตตุลาการอาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม
|