

การกระทำต่อเนื่อง-ความผิดฐานบุกรุก
เหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหน้าบ้านผู้เสียหายและติดพันจนเข้าไปในบ้านจะถือว่ามีเจตนาบุกรุกหรือไม่?? เหตุทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นหน้าบ้านผู้เสียหายและติดพันจนเข้าไปในบ้านจะถือว่ามีเจตนาบุกรุกหรือไม่?? ในคดีนี้ผู้ก่อเหตุเข้าไปชกต่อยบุตรของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่บริเวณหน้าบ้าน บุตรของผู้เสียหายวิ่งเข้าไปในบ้าน จากนั้นนั้นผู้ก่อเหตุตามเข้าไปชกต่อยบุตรของผู้เสียหายในบ้านอีก ดังนี้ถือว่าผู้ก่อเหตุเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงมีความผิดฐานบุกรุก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2550 จำเลยที่ 1 และที่ 4 เข้าไปชกต่อย น. บริเวณแคร่หน้าบ้านของ นางลัดดา ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของ นายนาวี โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีอาวุธมีดเข้าไปช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 4 นายนาวี วิ่งเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่วิ่งตามเข้าไปโดยมีเจตนาทำร้าย นายนาวี แม้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสี่ทำร้าย นายนาวี มาก่อน แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้าน จำเลยทั้งสี่ก็ออกจากบ้านทันที จะถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขยังไม่ได้ แต่ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในบ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ และโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จึงมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 และมาตรา 365 (1) (2) โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2544 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของนางลัดดา --- ผู้เสียหาย โดยไม่มีเหตุอันสมควร และโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายร้ายชกต่อยต่อนายนาวี --- โดยมีอาวุธมีดไม่ทราบขนาด 4 เล่ม ติดตัวไปด้วย อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข โดยใช้กำลังประทุษร้าย มีอาวุธ และร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365, 83 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ โจทก์อุทธรณ์ โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 เข้าไปชกต่อนายนาวี บริเวณแคร่หน้าบ้านของนางลัดดา-- ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของนายนาวี โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีอาวุธมีดเข้าไปช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 4 นายนาวี วิ่งเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสี่วิ่งตามเข้าไปชกต่อนายนาวี ผู้เสียหายไล่ให้นายนาวีและจำเลยทั้งสี่ออกไปชกต่อยกันนอกบ้าน จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้านของผู้เสียหายไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปในบ้านของผู้เสียหายเป็นการเข้าไปโดยมีเจตนาทำร้ายนายนาวี แม้เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสี่ทำร้ายนายนาวีมาก่อน แต่เมื่อผู้เสียหายไล่ให้จำเลยทั้งสี่ออกจากบ้าน จำเลยทั้งสี่ก็ออกจากบ้านทันที อันจะถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขยังไม่ได้ แต่การกระทำของจำเลยทั้งสี่ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธ และโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เข้าองค์ประกอบแห่งความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 และมาตรา 365 (1) (2) แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า จำเลยทั้งสี่ไม่มีความผิดฐานบุกรุกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 364, 83 ปรับคนละ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไป หรือซ่อนตัวอยู่ใน เคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครอง ของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะ ห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 365 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 362 มาตรา 363 หรือ มาตรา 364 ได้กระทำ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 29 ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือ มิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัย ว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่ง ให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ มาตรา 30 ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวันและไม่ว่า ในกรณีความผิดกระทงเดียวหรือหลายกระทงห้าม กักขังเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีก็ได้ ในการคำนวณระยะเวลานั้น ให้นับวันเริ่มกักขังแทนค่าปรับรวมเข้าด้วยและให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่คำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังนั้นออกจากจำนวนเงินค่าปรับ โดยถืออัตราสองร้อยบาท ต่อหนึ่งวันเว้นแต่ผู้นั้นต้องคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ในกรณีเช่นว่านี้ถ้าจะต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากเวลาจำคุกตาม มาตรา 22 ก็ให้หักออกเสียก่อนเหลือเท่าใดจึงให้หักออก จากเงินค่าปรับ เมื่อผู้ต้องโทษปรับถูกกักขังแทนค่าปรับครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด ถ้านำเงินค่าปรับมาชำระครบ แล้ว ให้ปล่อยตัวไปทันที |