

สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก การที่เจ้ามรดกระบุให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รับเงินจากคู่สัญญา แต่บุคคลภายนอกนั้นยังไม่ได้แสดงเจตนาแก่คู่สัญญาของเจ้ามรดก ดังนั้นบุคคลภายนอกก็ยังไม่อาจถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2515 (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า ผู้ตายได้ระบุให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รับเงินจากคู่สัญญา เมื่อเจ้ามรดกตาย ปรากฎว่า บุคคลภายนอกยังไม่ได้แสดงเจตนาแค่สัญญาที่ทำสัญญากับเจ้ามรดกไว้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น บุคคลภายนอกก็ไม่อาจถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นได้ ตามมาตรา 374 วรรคสอง ผู้รับประโยชย์จะพึงได้รับเงินจากสัญญาต่อเมื่อเจ้ามรดกตายแล้ว หาใช่เป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ผู้ตายถึงแก่ความตายไม่ จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย แต่อย่างไรก็ตามแม้เงินจำนวนนี้จะมิใช่ทรัพย์มรดก แต่ตาม ป.พ.พ. บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็น กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับต่อเงินจำนวนนี้ ดังนี้ ศาลฎีกาจึงมีคำวินิจฉัยให้จ่ายเงินตามสัญญาแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก เสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดก ผู้ตายเป็นสมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขระบุชื่อ ส. บิดาเป็นผู้รับประโยชน์เงินสังขารานุเคราะห์ไว้ ตามข้อบังคับ ย่อมมีผลว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข โดยองค์การดังกล่าวได้ทำสัญญาว่า จะชำระหนี้แก่ ส. บุคคลภายนอกสิทธิของ ส. จะเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น เมื่อ ส. ตายเสียก่อนโดยมิได้แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาสิทธิของ ส.ในเงินสังขารานุเคราะห์จึงยังไม่เกิดขึ้นและไม่อาจตกทอดเป็นทรัพย์มรดกไปยังทายาทของ ส. เงินสังขารานุเคราะห์เป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับหลังจากที่สมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขถึงแก่ความตายแล้ว มิใช่ทรัพย์สินที่สมาชิกผู้ตายมีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 132/2507) ตามข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อสมาชิกตาย ให้จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์แก่ผู้รับประโยชน์ซึ่งสมาชิกผู้ตายได้ระบุชื่อไว้ แต่เมื่อผู้รับประโยชน์นั้นตายก่อนสมาชิก ย่อมไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ที่จะรับเงินสังขารานุเคราะห์ได้ตามข้อบังคับ แม้เงินสังขารานุเคราะห์จะมิใช่ทรัพย์มรดกของสมาชิกผู้ถึงแก่ความตาย แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดกเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับ เงินสังขารานุเคราะห์ดังกล่าวจึงควรจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของสมาชิกผู้ตาย เสมือนหนึ่งทรัพย์มรดก กรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยให้การว่า ได้จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่ทายาทของผู้รับประโยชน์เป็นการถูกต้องตามข้อบังคับแล้ว เท่ากับรับว่าองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่ในความรับผิดชอบของกรมไปรษณีย์โทรเลข จะมายกข้อโต้แย้งขึ้นในชั้นฎีกาว่ากรมไปรษณีย์โทรเลข ไม่ ต้องรับผิดจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ หาได้ไม่ (วรรคหนึ่งถึงสามวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่23/2515) โจทก์ฟ้องว่า นายวิทยาสามีโจทก์ที่ 1 บิดาโจทก์ที่ 2 เป็นสมาชิกองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข (อ.ส.ค.) ซึ่งจำเลยที่ 1 จัดตั้งและจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ นายวิทยาระบุนายสมบุญบิดาเป็นผู้รับประโยชน์ แต่นายสมบุญตายไปก่อน บัดนี้นายวิทยาตาย จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ (ส.ข.น.) ให้โจทก์ ขอให้บังคับ จำเลยต่อสู้ว่า สิทธิที่จะรับประโยชน์รายนี้ตกทอดไปยังทายาทของนายสมบุญ คือ นางสุวรรณภริยาของนายสมบุญ ซึ่งจำเลยได้จ่ายไปแล้ว คู่ความรับข้อเท็จจริงกัน ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า นายสมบุญผู้รับประโยชน์ตายก่อนนายวิทยา ข้อกำหนดนี้จึงตกไป แต่ข้อบังคับไม่กำหนดไว้ว่าจะจัดการอย่างไรในกรณีไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ จึงไม่อาจมีคำสั่งให้จำเลยจัดการตามที่โจทก์ขอพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ควรได้รับการสงเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของ อ.ส.ค. คือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีนางสุวรรณมารดานายวิทยาผู้ตาย และโจทก์ทั้งสองคนละส่วน พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 13,426 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2, 3 เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้กระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาคดีนี้โดยมติที่ประชุมใหญ่ ปัญหาที่ว่า การที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่นางสุวรรณภริยานายสมบุญไปนั้น เป็นการชอบด้วยข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลขว่าด้วยองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขฯ หรือไม่ ตามข้อบังคับระบุไว้ว่า เมื่อสมาชิกผู้ใดถึงแก่กรรม อ.ส.ค.จะจ่ายเงิน ส.ข.น. ให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่สมาชิกผู้ถึงแก่กรรมได้ระบุชื่อไว้แก่ อ.ส.ค. เมื่อปรากฏว่านายสมบุญซึ่งนายวิทยาผู้ถึงแก่กรรมได้ระบุชื่อไว้นั้น ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนนายวิทยา ดังนี้ จึงไม่มีตัวผู้รับประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้ตามข้อบังคับการที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่นางสุวรรณไป จึงเป็นการมิชอบด้วยข้อบังคับ การที่นายวิทยา ได้ระบุชื่อนายสมบุญ เป็นผู้รับประโยชน์ไว้ในใบสมัครเป็นสมาชิกขององค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขตามข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลขมีผลว่า กรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 1 โดยองค์การดังกล่าวได้ทำสัญญาว่าจะชำระหนี้แก่นายสมบุญ บุคคลภายนอก สิทธิของนายสมบุญ จะเกิดมีขึ้นก็ต่อเมื่อตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก่อนนายสมบุญ ถึงแก่กรรม นายสมบุญ ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญา สิทธิของนายสมบุญ ในเงินสังขารานุเคราะห์รายนี้จึงยังมิได้เกิดมีขึ้นในระหว่างที่นายสมบุญ มีชวิตอยู่ ฉะนั้น เมื่อนายสมบุญ ถึงแก่กรรมลงเงินสังขารานุเคราะห์รายนี้จึงไม่อาจตกทอดเป็นทรัพย์มรดกไปยังทายาทของนายสมบุญ ตามความเข้าใจของจำเลยที่ 1 ได้อยู่นั่นเอง ตามข้อเท็จจริงในสำนวน เงินสังขารานุเคราะห์นี้เป็นเงินที่ผู้รับประโยชน์จะได้รับหลังจากที่นายวิทยา สมาชิกองค์การสงเคราะห์ถึงแก่กรรมแล้ว หาใช่ทรัพย์สินที่นายวิทยา มีอยู่ในขณะที่นายวิทยา ถึงแก่กรรมไม่ จึงไม่เป็นมรดกของนายวิทยา เช่นกัน ทั้งนี้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 132/2507 ระหว่างนายหล้า หรือ โจทก์ นายสมชัย กับพวก จำเลย เนื่องจากตามข้อบังคับกรมไปรษณีย์โทรเลขดังกล่าวนั้น มิได้ระบุไว้ว่า ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์ถึงแก่กรรมก่อนสมาชิกองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข จะพึงจัดการแก่เงินสังขารานุเคราะห์อย่างใดต่อไป จึงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยว่า เงินสังขารานุเคราะห์จำนวน 21,139 บาทรายนี้จะพึงจ่ายให้แก่ผู้ใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่า "อันกฎหมายนั้น ท่านว่าต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ เมื่อใดไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ท่านให้วินิจฉัยคดีนั้นตามคลองจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าและไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ท่านให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนี้ก็ไม่มีด้วยไซร้ ท่านให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป" ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แม้เงินสังขารานุเคราะห์รายนี้จะมิใช่ทรัพย์มรดกของนายวิทยา ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก เป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในอันที่จะใช้บังคับแก่เงินสังขารานุเคราะห์รายนี้ และโดยเฉพาะก็คือ ตามบทบัญญัติมาตรา 1599, 1620 วรรคแรก, 1629 และ 1635 ดังนั้น เงินสังขารานุเคราะห์รายนี้จึงควรจ่ายให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายวิทยา เสมือนหนึ่งทรัพย์มรดก กล่าวคือ นางสุวรรณ มารดานางพรรณี โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นภริยาและเด็กชายวีระพงษ์ โจทก์ที่ 2 ผู้เป็นบุตร คนละหนึ่งส่วน สำหรับส่วนของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 นั้น ปรากฏว่าจำเลยได้จ่ายเงินช่วยค่าทำศพนายวิทยา เป็นเงิน 2,000 บาทให้แก่โจทก์แล้ว คงเหลือส่วนที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับอีกเป็นเงิน 13,426 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า องค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขมิได้อยู่ในสังกัดหรือเป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงองค์การซึ่งข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขจัดตั้งขึ้นเอง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่โจทก์นั้น ปรากฏจากคำให้การของจำเลยเองว่า จำเลยได้จ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่ทายาทของนายสมบุญเป็นการถูกต้องตามข้อบังคับของกรมไปรษณีย์โทรเลขจำเลยที่ 1ว่าด้วยองค์การสงเคราะห์ข้าราชการกรมไปรษณีย์โทษเลขแล้ว จึงเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าองค์การนี้อยู่ในความรับผิดของชอบของจำเลยที่ 1 นั้นเอง จำเลยที่ 1 องค์การนี้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 นั้นเอง จำเลยที่ 1จะยกความข้อนี้ขึ้นโต้แย้งในชั้นฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินสังขารานุเคราะห์ให้แก่โจทก์หาได้ไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในผล คำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น (ฎ.2401/2515) คล้ายกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2516 แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2516 ผู้รับประโยชน์แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว สิทธินั้นจึงเป็นของผู้รับประโยชน์ ต่อมาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4397/2547 วินิจฉัยทำนองเดียวกับคดีตราคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวทั้งสองคดีนั้นอีก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1174/2508 คำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ ได้นำมาตรา 1646 มาปรับแก่คดี โดยวินิจฉัยว่า การทำพินัยกรรมยกศพ เป็น การต่าง ๆ ที่ผู้ตายพึงกระทำได้ มิได้วินิจฉัยโดยตรางว่า ศพเป็นทรัพย์สินหรือไม่ คำว่า การต่าง ๆ ตามมาตรา 1646 ได้แก่มาตรา 1590, 1608(1), 1649, 1687, และมาตรา 1711 เป็นต้น มาตรา 1646 บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ มาตรา 1586 ผู้ปกครองตามมาตรา 1585 นั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดา หรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง มาตรา 1590 ผู้ปกครองมีได้คราวหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ในกรณีมีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ตั้งผู้ปกครองหลายคน หรือเมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควร ให้ศาลมีอำนาจตั้งผู้ปกครองได้ตามจำนวนที่ศาลเห็นว่าจำเป็นในกรณีที่ตั้งผู้ปกครองหลายคนศาลจะกำหนดให้ผู้ปกครองเหล่านั้นกระทำการร่วมกันหรือกำหนดอำนาจเฉพาะสำหนับคนหนึ่ง ๆ ก็ได้ มาตรา 1608(1) เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง (1) โดยพินัยกรรม มาตรา 1649 ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดังว่านั้น มาตรา 1687 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์หรือผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือแก่ผู้ซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ต้องการมอบการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินนั้นแก่บุคคลอื่น นอกจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้น มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล ข้อสังเกตต่อไปมีว่า ทรัพย์สินหรือสิทธิ แม้จะเรียกชื่อแตกต่างกัน ก็ไม่ใช่สาระสำคัญในการวินิจฉัยว่าเป็นมรดกหรือไม่ สาระสำญอยู่ที่ว่าทรัพย์สินหรือสิทธินั้นเจ้ามรดกมีอยู่ก่อนหรือในขณะที่เจ้ามรดกตายหรือ เนื่องจากการตายของเมรดก ถ้าก่อนเจ้ามรดกตายก็เป็นกองมรดก ถ้าเนื่องจากการตายของเจ้ามรดกก็ไม่เป็นกองมรดก ตัวอย่าง กรณีที่มีข้อสัญญาว่าให้เจ้ามรดกได้รับสิทธิในขณะที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ ย่อมเป็นมรดก เช่น เงินสะสม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1935/2535) สิทธิเรียกร้อง ค่าชดเชยหากลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว ค่าชดเชยย่อมเป็นมรดก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่1269/2524) เงินทุนสงเคราะห์ เมือปรากฏว่า เงินทุนสงเคราะห์ (ท.ส.ค.) และการรถไฟจ่ายสมทบอีก มีจำนวนร้อยละ 30 ถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องออกจากงาน นอกจากถูกไล่ออกให้จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งดอกเบี้ยและกองทุนจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นจำนวนเท่ากันนั้น เห็นได้ว่า เงินทุนสงเคราะห์ เป็นเงินที่ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับอยู่ก่อนแล้ว หากผู้นั้นตายก็ย่อมตกเป็นมรดก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2506) เงินตามโครงการผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานที่บริษัทให้ผู้ตาย 2.25 เท่า ของเงินเดือนสุดท้ายต่ออายุงาน 1 ปี นั้น ถือได้ว่าเป็นเงินของผู้ตาย หากผู้ตายยังไม่ได้ลาออกจากบริษัทไป บริษัทก็จะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้ตาย ดังนั้น เงินจำนวนนี้จึงเป็นมรดกของผู้ตาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2535) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2524 ระเบียบของจำเลยที่กำหนดให้พนักงานพ้นจากหน้าที่เมื่ออายุ 60 ปี แต่ก็อาจต่ออายุการทำงานให้ได้ มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติของลูกจ้าง เมื่อจำเลยให้พนักงานออกจากงานตามระเบียบนั้น จึงอยู่ในความหมายของการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยเป็นทรัพย์สิน มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหากลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้วตาย จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท และทายาททุกคนเป็นเจ้าของรวมในกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ทายาทแต่ละคนจึงอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมครอบไปถึงกองมรดกทั้งหมดได้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ภ. ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้าง ภ. เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ภ. ตาย ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำเลยให้การว่า ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่าลูกจ้างต้องออกจากงานเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เมื่อ ภ. มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ มีวัตถุประสงค์คุ้มครองแรงงานลูกจ้างเท่านั้นจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อลูกจ้างตายสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองแรงงานก็เป็นอันสิ้นสุดไม่เป็นสิทธิที่จะรับมรดกกันได้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบของจำเลยให้พนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เป็นอันพ้นจากหน้าที่การงาน แต่จำเลยก็อาจจะพิจารณาต่ออายุการทำงานให้แก่พนักงานได้ ระเบียบนี้จึงมิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิใช่เป็นการตกลงกันว่าจะจ้างกันจนกว่าลูกจ้างจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นการทั่วไป เมื่อพนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยจะต้องให้ออกจากงาน จึงอยู่ในความหมายของการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยเป็นทรัพย์สิน หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแล้วตาย ค่าชดเชยย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท มิใช่สิทธิเฉพาะตัว แม้ลูกจ้างผู้ตายจะมีทายาทหลายคนและโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกหรือในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบรรดาทายาททั้งหลาย แต่ทายาททุกคนเป็นเจ้าของรวมในกองมรดกที่ยังมิได้แบ่งของผู้ตาย ฉะนั้น ทายาทแต่ละคนจึงอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมครอบไปถึงกองมรดกทั้งหมดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งของ ภ. ผู้ตาย จึงย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชำระค่าชดเชยทั้งหมดได้ พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2506 เมื่อปรากฏว่าเงินทุนสงเคราะห์ (ท.ส.ค.) ของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟ เป็นเงินที่เก็บจากผู้ปฏิบัติงานร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือน และการรถไฟจ่ายสมทบอีกมีจำนวนร้อยละ 10 ถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องออกจากงานรวมทั้งดอกเบี้ยและกองทุนจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นจำนวนเท่ากันนั้น เห็นได้ว่าเงินทุนสงเคราะห์นี้เป็นเงินที่ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับอยู่ก่อนแล้ว หากผู้นั้นตายลงก็ย่อมตกเป็นมรดก แม้จะระบุในสมุดประวัติ (ท.ส.ค.) ให้จำเลยเป็นผู้รับเงินทุนสงเคราะห์ก็ดี แต่หากต่อมาภายหลังเจ้าของเงินทุนสงเคราะห์ทำพินัยกรรมระบุยกให้โจทก์เป็นผู้รับ ก็เป็นการตัดจำเลยไปตามพินัยกรรมนั้น โจทก์ฟ้องว่า นายเปล่งรับราชการกรมรถไฟ เป็นสมาชิกฌาปนกิจสังกัดสาขาวบข (วิศวการช่างโยธา) ชุมพร โจทก์ เป็นบุตรบุญธรรมของนายเปล่ง จำเลยเป็นภริยานายเปล่ง แต่ไม่มีบุตร เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2504 นายเปล่งทำพินัยกรรมว่า เงินฌาปนกิจที่จะได้รับจากทางการรถไฟให้ได้แก่โจทก์จำเลยเท่า ๆ กัน ส่วนเงินทุนสะสม (ท.ส.ค.) รวมทั้งดอกเบี้ยและเงินเพิ่มอีก 1 เท่ากับเงินช่วยทำศพอีก 3 เดือน ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์แต่ผู้เดียว วันที่ 7 กุมภาพันธ์2504 นายเปล่งตาย โจทก์ขอรับเงินส่วนที่โจทก์มีสิทธิตามพินัยกรรมจากทางการรถไฟ จำเลยคัดค้านว่า ผู้ตายให้จำเลยมีสิทธิได้รับเงินฌาปนกิจทั้งหมดเป็นเหตุให้คณะกรรมการอำนวยการฌาปนกิจขัดข้องไม่จ่ายเงินให้โจทก์ จึงขอให้พิพากษาว่า โจทก์จำเลยต่างมีสิทธิได้รับเงินฌาปนกิจของผู้ตายตามพินัยกรรมเท่า ๆ กันโดยโจทก์ได้ 13,500 บาท กับให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนสะสมเงินอย่างอื่นตามพินัยกรรมอีก 5,000 บาท จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิรับเงินฌาปนกิจเงินทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟพร้อมด้วยดอกเบี้ยและเงินเพิ่มอีก 1 เท่า กับเงินช่วยทำศพตามระเบียบตามที่นายเปล่งระบุไว้แต่ผู้เดียว ระเบียบการและข้อบังคับมิให้ถือว่าเงินเหล่านี้เป็นมรดก พินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะทำขณะนายเปล่งป่วยหนักไม่มีความสามารถและขาดเจตนาที่จะทำ ศาลชั้นต้นเห็นว่าเงินช่วยฌาปนกิจไม่เป็นมรดก เงินทุนสงเคราะห์ระบุให้จ่ายแก่นางเจียน ย่อมตัดโจทก์ซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรมและนายเปล่งผู้ตายไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมจึงไม่มีผลตามกฎหมายพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มีพยานโจทก์รู้เห็นและลงชื่อในพินัยกรรม พินัยกรรมจึงใช้ได้ตามกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ฟังขึ้น เงินฌาปนกิจเป็นเงิน ๆ ที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือในการทำศพผู้ตายหาใช่เงินที่ผู้ตายมีสิทธิที่จะรับไม่ เงินนี้จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย และเงินช่วยทำศพ 3 เดือน ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินอันเป็นมรดกของนายเปล่ง ส่วนเงินทุนสงเคราะห์เป็นเงินที่ผู้ตายมีสิทธิจะได้รับตามข้อบังคับอยู่ก่อนตายแล้ว และเป็นเงินของผู้ตายจึงเป็นมรดกของผู้ตาย ผู้ตายจะเอาทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ จึงพิพากษาแก้ว่า โจทก์มีสิทธิรับเงินทุนสงเคราะห์ของนายเปล่ง รวมทั้งดอกเบี้ยและเงินกองทุนจ่ายเพิ่ม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมใช้ได้ตามกฎหมาย ส่วนเงินทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟ (ท.ส.ค.) นั้น เป็นเงินที่เก็บจากผู้ปฏิบัติงานเป็นรายเดือน ร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือน และการรถไฟจ่ายสมทบอีกมีจำนวนร้อยละ 10 จึงเป็นเงินที่เก็บไปจากเงินเดือนของผู้ปฏิบัติงานส่วนหนึ่ง การรถไฟสมทบให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอีกส่วนหนึ่ง และเงินนี้ตามข้อ 11 แห่งข้อบังคับระบุว่าถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องออกจากงานนอกจากถูกไล่ออกให้จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งดอกเบี้ยและกองทุนจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นจำนวนเท่ากัน แต่ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานถึงแก่กรรม จึงให้จ่ายแก่ผู้ที่ผู้ปฏิบัติงานได้ระบุไว้ หรือถ้าไม่ระบุไว้ก็ให้จ่ายแก่ผู้จัดการมรดกทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมแล้วแต่กรณีเงินทุนสงเคราะห์นี้จึงเป็นเงินที่ผู้ตายมีสิทธิจะได้รับตามข้อบังคับอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือ เป็นเงินของนายเปล่งที่หักจากเงินเดือนสมทบทุนร้อยละ 5 ของเงินเดือนจึงเป็นทรัพย์สินอันถือได้ว่าเป็นทรัพย์ของกองมรดกนายเปล่งผู้ตาย ผู้ตายย่อมทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ แม้ชั้นแรกผู้ตายจะระบุไว้ในสมุดประวัติ (ท.ส.ค.) ให้จำเลยเป็นผู้รับก็ดี แต่ภายหลังก็ได้มีพินัยกรรมที่ผู้ตายทำไว้ระบุยกให้โจทก์เป็นผู้ได้รับ จึงเป็นการตัดจำเลยไปตามพินัยกรรมนั้นโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ตามพินัยกรรม ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน กรณีที่เจ้ามรดกจะได้รับสิทธินั้น เนื่องจากการตายของเจ้ามรดก ย่อมไม่ใช่กองมรดก เงินชดเชย เงินกองทุนเลี้ยงชีพ เงินเพื่อนช่วยเพื่อน เงินประกันชีวิต เป็นเงินจำนวนหนึ่งที่จะพึงได้รับหลังจากที่ผู้ตายตายแล้ว ย่อมไม่เป็นมรดก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542) คำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ มีความสำคัญที่น่าศึกษา กล่าวคือ ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับมาตรา 897, 1470, 1501, 1599, 1600, 1625, ไว้ด้วย โดยเฉพาะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเงินประกันชีวิต ตามมาตรา 897 ว่าเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอก เนื่องจากความตายของผู้ตาย อันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้น เมือผู้รับประกันชีวิตถึงแก่ความตาย จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2542 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้นหมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน ณ. ถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 เงินชดเชยเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.และได้รับมาหลังจาก ณ. ถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่าง ณ. กับโจทก์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้ต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้รับเงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น เนื่องจากความตายของ ณ. มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของ ณ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตาย กับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาท เท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินกองทุนเลี้ยงชีพ สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของ ณ.มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่ ณ. มีอยู่แล้ว ในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มาจาก ณ. จะต้องเคยชำระเงินในอัตราร่วมกับพนักงานของจำเลยคนอื่น ๆ เพื่อรวบรวมส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็มิใช่เป็นมรดกของ ณ. โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและจำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย อันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยโดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิต จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 316,420.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ และร่วมกับโจทก์เพื่อแบ่งสินสมรสและมรดก กับหักชำระหนี้ให้ถูกต้องต่อไป จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์กับนายณรงค์ชัย เป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2534ไม่มีบุตรด้วยกัน จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของนายณรงค์ชัย จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการธนาคารโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 นายณรงค์ชัยเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2536 นายณรงค์ชัย ถึงแก่กรรมทำให้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยจำนวน 85,380 บาท เงินกองทุนเลี้ยงชีพจำนวน25,490.43 บาท เงินเพื่อนช่วยเพื่อนจำนวน 85,000 บาท และเงินประกันชีวิตจำนวน100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 295,870.43 บาท จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 นำเงินชดเชยและเงินกองทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวไปชำระหนี้ที่นายณรงค์ชัยเป็นหนี้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนและเงินประกันชีวิตมาแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า เงินชดเชย เงินกองทุนเลี้ยงชีพ เงินเพื่อนช่วยเพื่อนและเงินประกันชีวิตดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์และเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งบ้างหรือไม่ จะได้วินิจฉัยเป็นลำดับเริ่มตั้งแต่เงินชดเชยจำนวน 85,380 บาท ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงินที่เกิดขึ้นตามสิทธิและผลประโยชน์ตามกฎหมายแรงงานจึงเป็นสินสมรสและเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่ง เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้นหมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่นายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมย่อมทำให้การสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์สิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 ฉะนั้น เงินชดเชยซึ่งเป็นเงินที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัย และได้รับมาหลังจากนายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมไปแล้วจึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างนายณรงค์ชัยกับโจทก์ ส่วนเงินชดเชยนี้จะเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600ที่กำหนดให้ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เป็นมรดกของผู้ตายนั้น ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านี้จะต้องเป็นของผู้ตายอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายถึงแก่กรรม แต่สิทธิที่จะได้เงินค่าชดเชยเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัย มิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่นายณรงค์ชัยมีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรมแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของนายณรงค์ชัยเช่นเดียวกันบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินชดเชยและเงื่อนไขการจ่ายเงินจึงต้องเป็นไปตามระเบียบที่จำเลยที่ 2 กำหนด เมื่อระเบียบของจำเลยที่ 2 กำหนดให้ต้องนำเงินชดเชยมาหักหนี้สินที่นายณรงค์ชัยมีต่อจำเลยที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะหักหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อปรากฏว่าหลังจากหักหนี้สินแล้วไม่มีเงินเหลืออยู่อีกเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในเงินชดเชยนี้ สำหรับเงินกองทุนเลี้ยงชีพจำนวน25,490.43 บาท นั้น โจทก์ยอมรับว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายณรงค์ชัย แต่โต้แย้งว่าทรัพย์มรดกดังกล่าวต้องหักชดใช้สินสมรสระหว่างโจทก์กับนายณรงค์ชัยครึ่งหนึ่งก่อนโจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเป็นเงิน 12,745.21 บาทนั้น เห็นว่า ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่กำหนดให้แบ่งมรดกของผู้ตายที่เป็นผู้สมรสแล้วมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแยกเป็นมรดกของผู้ตายกับทรัพย์สินของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วนำมรดกของผู้ตายมาแบ่งปันให้แก่ทายาทเท่านั้น หาใช่เป็นการกำหนดให้ต้องมีการนำมรดกของผู้ตายมาชดใช้สินสมรสของคู่สมรสของผู้ตายไม่ และโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่าเงินกองทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวโจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปชำระหนี้เงินที่ผู้ตายกู้ยืมจำเลยที่ 2 ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.12 แผ่นที่ 4 (จ.24) ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิใด ๆในเงินกองทุนเลี้ยงชีพสำหรับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนจำนวน 85,000 บาท โจทก์อ้างว่าเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยเพราะเป็นเงินที่นายณรงค์ชัยยินยอมให้จำเลยที่ 2 หักเงินเดือนของผู้ตายในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 รายเพื่อนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมนั้น เห็นว่า สิทธิในการได้รับเงินเพื่อนช่วยเพื่อนเกิดขึ้นเนื่องจากความตายของนายณรงค์ชัยมิใช่เป็นเงินหรือสิทธิเรียกร้องที่นายณรงค์ชัยมีอยู่แล้วในระหว่างมีชีวิตหรือขณะถึงแก่กรรม แม้วิธีการที่จะได้รับเงินจำนวนนี้มานายณรงค์ชัยจะต้องเคยชำระเงินในอัตรา 10 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ราย ร่วมกับพนักงานของจำเลยที่ 2 คนอื่น ๆเพื่อรวบรวมนำส่งให้แก่ทายาทของพนักงานผู้ถึงแก่กรรมรายก่อน ๆ ก็ตาม ก็มิใช่เป็นมรดกของนายณรงค์ชัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาขอแบ่ง ส่วนเงินประกันชีวิตจำนวน 100,000 บาท นั้น โจทก์อ้างว่านายณรงค์ชัยชำระเบี้ยประกันภัยโดยการให้จำเลยที่ 2 หักเงินจากเงินทุนเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้นายณรงค์ชัยทุกปีเป็นจำนวน 418 บาทต่อปี ตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปี 2536 ที่นายณรงค์ชัยถึงแก่กรรมรวม 8 ปี เป็นเงิน 3,344 บาท เบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท ดังกล่าวจึงเป็นมรดกของนายณรงค์ชัยที่โจทก์มีสิทธิขอแบ่ง เห็นว่า เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและจำเลยที่ 2 เพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ คือ จำเลยที่ 1สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ขณะถึงแก่กรรมที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้ และที่โจทก์ฎีกาว่าเงินเบี้ยประกันชีวิตที่ผู้ตายให้หักจากเงินทุนเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 2 จ่ายแทนให้ผู้ตายทุกปีเป็นเงิน 418 บาท ต่อปี ตั้งแต่ปี2529 ถึงปี 2536 รวม 8 ปี เป็นเงิน 3,344 บาท จึงเรียกเบี้ยประกันชีวิตจำนวน3,344 บาท โดยอ้างว่าเป็นมรดกของผู้ตายที่โจทก์มีสิทธิขอแบ่งนั้น แม้สัญญาประกันชีวิตที่ผู้ตายระบุให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่คู่สมรสเป็นผู้รับประโยชน์อันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 897 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วนั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาเบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท ดังกล่าว โดยกล่าวอ้างมาในคำฟ้องเพื่อเรียกเงินประกันชีวิตจำนวน 100,000 บาท ว่าโจทก์มีสิทธิกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นมรดกของผู้ตายที่จะตกแก่ทายาท แต่จำเลยที่ 2 มอบเงินประกันชีวิตแก่จำเลยที่ 1เพียงผู้เดียวเป็นการไม่ชอบ ในส่วนเบี้ยประกันภัยจำนวน 3,344 บาท จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในเงินชดเชย เงินกองทุนเลี้ยงชีพเงินเพื่อนช่วยเพื่อนและเงินประกันชีวิตของนายณรงค์ชัยนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน มาตรา 4 กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้นๆ มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท มาตรา 1620 ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดั่งต่อไปนี้ ป.พ.พ. มาตรา 897 ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง เฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้ |