

ผลของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 ต่อคดีอาญา
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์
• คำพิพากษาศาลฎีกา 2361/2567 เรื่องพระราชบัญญัติล้างมลทิน
• ผลของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ. 2550 ต่อคดีอาญา
• ข้อยกเว้นการรับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทิน
• มาตรา 190 ป.วิ.อ. กับการแก้ไขคำพิพากษาที่ผิดพลาด
• บทลงโทษตามมาตรา 288 และมาตรา 80 กฎหมายอาญา • การเพิ่มโทษจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน สรุปคำพิพากษานี้กล่าวถึงกรณีที่จำเลยต้องโทษในคดีอาญาหลายข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งมีการเพิ่มโทษตามกฎหมาย โดยคดีถึงที่สุดก่อนที่พระราชบัญญัติล้างมลทิน พ.ศ. 2550 จะมีผลบังคับใช้ ทำให้จำเลยไม่ได้รับสิทธิล้างมลทินและไม่สามารถขอแก้ไขโทษได้ รายละเอียดคดีและคำพิพากษา: ศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำเลยรวม 14 ปี 17 เดือน 10 วัน และหลังจากลดโทษเหลือ 7 ปี 8 เดือน 20 วัน คดีถึงที่สุดเมื่อปี 2548 คำร้องจำเลย: ในปี 2565 จำเลยยื่นคำร้องขอลดโทษอ้างพระราชบัญญัติล้างมลทิน พ.ศ. 2550 ที่มีผลล้างมลทินให้กับผู้กระทำผิดก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 คำสั่งศาล: ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ปฏิเสธคำร้องของจำเลย เนื่องจากพระราชบัญญัติล้างมลทินไม่ครอบคลุมกรณีนี้ และศาลไม่มีอำนาจแก้ไขคำพิพากษา คำวินิจฉัยของศาลฎีกา: ศาลฎีกายืนยันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยเห็นว่าพระราชบัญญัติล้างมลทินไม่ครอบคลุมการเพิ่มโทษ และการพิจารณาแก้ไขคำพิพากษาไม่อยู่ในเงื่อนไขของการแก้ไขคำผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยจนคดีถึงที่สุดและจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีซึ่งมีการเพิ่มโทษครบแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มาตรา 4 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษดังกล่าว และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371, 376, 392 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 11 ปี 7 เดือน เพิ่มโทษจำเลยกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 14 ปี 17 เดือน 10 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 8 เดือน 20 วัน คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 จำเลยยื่นคำร้องว่า ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจนำความผิดของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2161/2545 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ มาอาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษแก่จำเลยได้ ขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่โดยไม่เพิ่มโทษ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยและคดีถึงที่สุดไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว กรณีจึงไม่มีเหตุให้งดการเพิ่มโทษและกำหนดโทษใหม่ให้จำเลย ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 8 เดือน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2161/2545 ของศาลชั้นต้น ภายในเวลาห้าปีนับตั้งแต่วันพ้นโทษกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุที่จะงดเพิ่มโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่หรือไม่ ได้ความว่าในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 หลังจากจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีนี้ซึ่งมีการเพิ่มโทษครบถ้วนแล้ว และขณะจำเลยกำลังรับโทษจำคุกในคดีหลังซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีนี้ จำเลยยื่นคำร้องว่าโจทก์ไม่อาจนำความผิดของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2161/2545 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ใช้บังคับมาอาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษแก่จำเลยได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยจนคดีถึงที่สุดและจำเลยได้รับโทษจำคุกในคดีนี้ซึ่งมีการเพิ่มโทษครบถ้วนแล้วก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษดังกล่าว และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วศาลจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และมาตรา 3 ซึ่งเป็นเรื่องกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด อันจะทำให้ศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน |