

ระบอบการเมืองการปกครอง ระบอบการเมืองการปกครอง ลักษณะการเมืองการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย หลักการของระบอบประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และแบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ข้อดีและข้อเสียของ ระบอบประชาธิปไตย รากฐานสำคัญของประชาธิปไตย ระบอบเผด็จการ ระบอบเผด็จการมี 3 แบบ คือ เผด็จการทหาร เผด็จการฟาสซิสต์ และเผด็จการคอมมิวนิสต์ ลักษณะการเมืองการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย คือ ระบอบการปกครองตนเองของประชาชน โดยผ่านการเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรไปบริหารและดูแลเรื่องกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่และโดยการตรวจสอบควบคุมดูแลของประชาชนโดยตรงหรือการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน เช่น การยื่นเสนอหรือแก้ไขกฎหมาย การยื่นถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบ การแสดงความคิดในการทำประชาพิจารณ์ การออกเสียงในการทำประชามติ ระบอบประชาธิปไตย ระบอบนี้มีลักษณะเด่นอยู่ที่การแข่งขันอย่างเสรีระหว่างกลุ่มหรือพรรคการเมืองต่างๆ เพียงเพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนมากในประเทศให้เป็นรัฐบาล ทำหน้าที่บริหารกิจการต่างๆ ของประเทศตามนโยบายที่กลุ่มหรือพรรคนั้นได้วางไว้ล่วงหน้า ลักษณะเด่นดังกล่าวนี้จะดำรงอยู่ได้ตลอดไปถ้ากลุ่มหรือพรรคการเมืองนั้น ๆ ยึดหลักการประชาธิปไตยเป็นหลักในการต่อสู้แข่งขันทางการเมืองการปกครอง หลักการของระบอบประชาธิปไตย 1. อำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรือบางทีก็เรียกกันว่า อำนาจของรัฐ (state power) เป็นอำนาจที่มาจากปวงชน และผู้ที่จะได้อำนาจปกครองจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ 2. ประชาชนมีสิทธิที่จะมอบอำนาจปกครองให้แก่ประชาชนด้วยกันเอง โดยการออกเสียงเลือกตั้งตัวแทนเพื่อไปใช้สิทธิใช้เสียงแทนตน เช่น การเลือก สส. หรือ สว. โดยมีการกำหนดวันเลือกตั้งและมีวาระการดำรงตำแหน่ง เช่น ทุก 4 ปี หรือ 6 ปีเป็นต้น 3. รัฐบาลจะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อาทิ สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต เสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงความคิดเห็น การชุมนุม โดยรัฐบาลจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเหล่านี้ 4. ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสมอกันในการที่จะได้รับบริการทุกชนิดที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน เช่น สิทธิในการ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 5. รัฐบาลถือกฎหมายและความเป็นธรรมเป็นบรรทัดฐานในการปกครอง และในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มชน รวมทั้งจะต้องไม่ออกกฎหมายที่มีผลเป็นการลงโทษบุคคลย้อนหลัง ระบอบประชาธิปไตยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และแบบที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข 1. แบบแรกมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้แก่ อังกฤษ เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย ข้อดีและข้อเสียของ ระบอบประชาธิปไตย 1. ข้อดีของระบอบประชาธิปไตย ที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้ 1.1 เปิดโอกาสให้ประชาชน ส่วนข้างมากดำเนินการปกครองประเทศ โดยประชาชนส่วนข้างน้อยมีสิทธิที่จะดำรงอยู่และทำการคัดค้านการปกครองของฝ่ายข้างมากได้ ข้อดีข้อนี้มีส่วนทำให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม เนื่องจากการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยฝ่ายเสียงข้างมากนั้นย่อมจะมีความถูกต้องมากและผิดพลาดน้อย ขณะเดียวกันฝ่ายเสียงข้างน้อยจะคอยเป็นกระจกเงา และท้วงติงผลเสียที่จะต้องป้องกันมิให้เกิดขึ้นตลอดเวลา 1.2 เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเสมอหน้ากัน ตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจน มีสิทธิที่จะรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองและสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดี ซึ่งทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกคนดีและมีความสามารถเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว 1.3 ถือกฎหมายเป็นมาตรฐานในการดำเนินการปกครอง โดยใช้กฎหมายบังคับแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือประชาชน ยังผลให้ทุกคนเสมอกันโดยกฎหมาย 1.4 ช่วยระงับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเองโดยสันติวิธี โดยมีศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งช่วยทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยมีกฎหมายเป็นกรอบของความประพฤติของทุกคน 2. ข้อเสียของระบอบประชาธิปไตย ที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้ 2.1 มีความล่าช้าในการตัดสินใจทำการต่าง ๆ เนื่องจากต้องมีการปรึกษาหารือและผ่านขั้นตอนมาก เช่นการตรา กฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลาบางครั้งหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน เนื่องจากต้องมีการอภิปรายกันในสภา และแก้ไขปรับปรุงกันมากกว่าจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ผู้นำของประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขโดยรีบด่วน จึงมักจะคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศของตน 2.2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปกครองมาก ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ หรือเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้นำประเทศที่กำลังพัฒนามักคิดว่าประเทศของตนยากจนเกินไปที่จะใช้ระบอบประชาธิปไตยได้ 2.3 อาจนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายได้ ถ้าประชาชนส่วนมากในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ไม่รู้จักใช้สิทธิเสรีภาพให้อยู่ภายในกรอบของกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้ประเทศชาติเจริญช้าลงอีก ด้วยเหตุนี้ผู้นำของประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศ จึงคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับประเทศของตน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อธิบายในเชิงวิชาการ (เชิงมีเหตุผลยืนยันสอดคล้องน่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้) ได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น ต้องอยู่บนรากฐานหลักการที่สำคัญ 5 ประการ คือ 1. หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนแสดงออกซึ่งการเป็นเจ้าของโดยใช้ อำนาจที่มีตามกระบวนการเลือกตั้งอย่างอิสระและทั่วถึงในการให้ได้มาซึ่งตัวผู้ปกครองและผู้แทนของตน รวมทั้งประชาชนมีอำนาจในการคัดค้านและถอดถอนผู้ปกครองและผู้แทนที่ประชาชนเห็นว่า ไม่ได้บริหารประเทศในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เช่น มีพฤติกรรมฉ้อโกง หาผลประโยชน์ทับซ้อนจนร่ำรวยผิดปกติ 2. หลักเสรีภาพ ประชาชนทุกคนมีความสามารถในการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บุคคลต้องการ ตราบเท่าที่การกระทำของเขานั้น ไม่ไปละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือละเมิดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติ 3. หลักความเสมอภาค การเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและคุณค่าต่างๆของสังคมที่มีอยู่จำกัดอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกกีดกันด้วยสาเหตุแห่งความแตกต่างทางชั้นวรรณะทางสังคม ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือด้วยสาเหตุอื่น 4. หลักการปกครองโดยกฎหมายหรือหลักนิติธรรม การให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพในทรัพย์สิน การแสดงออก การดำรงชีพ ฯลฯ อย่างเสมอหน้ากัน โดยผู้ปกครองไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ลิดรอนเพิกถอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และผู้ปกครองไม่สามารถใช้อภิสิทธิอยู่เหนือกฎหมาย หรือเหนือกว่าประชาชนคนอื่นๆได้ 5. หลักการเสียงข้างมาก (Majority rule) ควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของเสียงข้างน้อย (Minority Rights) การตัดสินใจใดๆที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชนเข้าสู่ระบบการเมือง การตัดสินใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ ย่อมต้องถือเอาเสียงข้างมากที่มีต่อเรื่องนั้นๆ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินทางเลือก โดยถือว่าเสียงข้างมากเป็นตัวแทนที่สะท้อนความต้องการ/ข้อเรียกร้องของประชาชนหมู่มาก หลักการเสียงข้างมากนี้ ต้องใช้ควบคู่ไปกับการเคารพและคุ้มครองสิทธิเสียงข้างน้อยด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า ฝ่ายเสียงข้างมากจะไม่ใช้วิธีการพวกมากลากไปเพื่อผลประโยชน์ของพวกตนอย่างสุดโต่ง แต่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด เพื่อสร้างสังคม ที่ประชาชนเสียงข้างน้อย รวมทั้งชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ได้อย่างสันติสุข โดยไม่มีการเอาเปรียบกัน และไม่มีการสร้างความขัดแย้งในสังคมมากเกินไป
มีลักษณะเด่นอยู่ที่การรวมอำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่บุคคลเพียงคนเดียวหรือคณะเดียวหรือพรรคเดียว โดยบุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้อำนาจนั้นควบคุมบังคับประชาชนได้โดยเด็ดขาด หากประชาชนคนใดคัดค้านผู้นำหรือคณะผู้นำก็จะถูกลงโทษให้ทำงานหนักหรือถูกจำคุก ระบอบเผด็จการมี 3 แบบ คือ เผด็จการทหาร เผด็จการฟาสซิสต์ และเผด็จการคอมมิวนิสต์ ดังต่อไปนี้ 1. ระบอบเผด็จการทหาร หมายถึง ระบอบเผด็จการที่คณะผู้นำฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองโดยตรงหรือโดยอ้อม (ผ่านทางพลเรือนที่พวกตนสนับสนุน) และมักจะใช้กฎอัยการศึกหรือรัฐธรรมนูญที่คณะของตนสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการปกครอง โดยทั่วไปคณะผู้นำทหารมักจะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการชั่วคราว ระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือหลังจากล้มเลิกระบอบประชาธิปไตย โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดภัยคุกคามบางอย่างต่อความมั่นคงของรัฐ ส่วนมากแล้วเมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ สงบลง คณะผู้นำทางทหารก็มักจะอ้างสาเหตุต่าง ๆ นานาเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศต่อไปอีก ไม่ยอมที่จะคืนอำนาจกลับมาให้ประชาชนโดยง่าย แต่ทว่าเมื่อเวลายิ่งผ่านเนิ่นนานออกไปกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนรวมทั้งแรงกดดันจากนานาชาติ ก็จะทำให้คณะผู้นำทางทหารกุมอำนาจการปกครองไว้ไม่ได้ ในที่สุดก็จำเป็นต้องคืนอำนาจให้ประชน แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ในบางประเทศก็เกิดความวุ่นวาย มีการต่อสู้ระหว่างกำลังของประชาชนกับกำลังของรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งจากประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการปกครองที่ผ่านมา มักจะจบลงโดยชัยชนะเป็นของฝ่ายประชาชน เช่นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่โรมาเนีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ตัวอย่างของการปกครองแบบเผด็จการทหาร เช่น การปกครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นระยะที่พลเอกโตโจและคณะนายทหารใช้อำนาจเผด็จการในการปกครอง หรือการปกครองของไทยระหว่างที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ ในระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2511 อำนาจการปกครองประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะปฏิวัติ ซึ่งนำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร 2. ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่ผู้นำคนหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจและกองทัพให้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ ผู้นำในระบอบการปกครองเผด็จการฟาสซิสต์มักจะมีลัทธิการเมืองที่เรียกกันว่า ลัทธิฟาสซิสต์ เป็นลัทธิชี้นำในการปกครองและมุ่งที่จะใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเป็นการถาวร โดยเชื่อว่าระบอบการปกครองแบบนี้เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยให้ประเทศของตนมีความเจริญก้าวหน้าโดยเร็ว ตัวอย่างของการปกครองระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ เช่น การปกครองของอิตาลีสมัยมุสโสลินีเป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2473 – 2486 การปกครองของเยอรมนีสมัยฮิตเลอร์เป็นผู้นำ ระหว่าง พ.ศ. 2476 – 2488 หรือการปกครองของสเปนสมัยจอมพลฟรังโกเป็นผู้นำระหว่าง พ.ศ. 2480 – 2518 เป็นต้น 3. ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หมายถึง ระบอบเผด็จการที่พรรคคอมมิวนิสต์เพียงพรรคเดียวได้รับการยอมรับ หรือสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลต่าง ๆ และกองทัพให้เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ คณะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่า ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์เป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศของตน และจะช่วยทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นอิสระจากการถูกกดขี่โดยชนชั้นนายทุน รวมทั้งทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าและเข้มแข็งทัดเทียมกับต่างประเทศได้เร็วกว่าระบอบการปกครองแบบอื่น ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มีความแตกต่างจากระบอบเผด็จการทหารอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ ระบอบเผด็จการทหารจะควบคุมเฉพาะกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนเท่านั้น แต่ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์จะใช้อำนาจเผด็จการควบคุมกิจกรรมละการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ด้วยเหตุนี้นักรัฐศาสตร์จึงเรียกระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อีกอย่างหนึ่งว่า ระบอบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ
1. ผู้นำคนเดียวหรือคณะผู้นำของกองทัพ หรือของพรรคการเมืองเพียงกลุ่มเดียวมีอำนาจสูงสุด และสามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ในประเทศ 2. การรักษาความมั่นคงของผู้นำหรือคณะผู้นำ มีความสำคัญกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนไม่สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้นำอย่างเปิดเผยได้ 3. ผู้นำหรือคณะผู้นำสามารถที่จะอยู่ในอำนาจได้ตลอดชีวิต หรือนานเท่าที่กลุ่มผู้ร่วมงานหรือกองทัพยังให้การสนับสนุน ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนผู้นำได้โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ 4. รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญและรัฐสภา ไม่มีความสำคัญต่อกระบวนการทางการปกครองเหมือนในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นแต่เพียงรากฐานรองรับอำนาจของผู้นำหรือคณะผู้นำเท่านั้น ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่จัดขึ้นก็เพื่อให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งผู้สมัครที่ผู้นำหรือคณะผู้นำส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน รัฐสภาก็จะประชุมกันปีละ 5 – 10 วัน เพื่อรับทราบและยืนยันให้ผู้นำหรือคณะผู้นำทำการปกครองต่อไป ตามที่ผู้นำหรือคณะผู้นำเห็นสมควร
ข้อดีของระบอบเผด็จการ ได้แก่ 1. รัฐบาลสามารถตัดสินใจทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้รวดเร็วกว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย เช่น สามารถออกกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากเสียงข้างมากในรัฐสภา ทั้งนี้ก็เพราะผู้นำหรือคณะรัฐมนตรีมักจะได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาไว้ล่วงหน้าให้ออกกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับบางอย่างได้เอง 2. แก้ปัญหาบางอย่างได้อย่างมีประสิทธิผลกว่าระบอบประชาธิปไตย เช่น สั่งการปราบการจลาจล การก่ออาชญากรรม และการก่อการร้ายต่าง ๆ ได้อย่างเฉียบขาดมากกว่า โดยไม่จำต้องเกรงว่าจะเกินอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ เนื่องจากศาลในระบอบเผด็จการไม่ได้มีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีเหมือนในระบอบประชาธิปไตย
1. เป็นการปกครองโดยบุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ซึ่งย่อมจะมีการผิดพลาดและใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องได้โดยไม่มีใครรู้หรือกล้าคัดค้าน 2. มีการใช้อำนาจเผด็จการกดขี่และลิดรอนสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งประทุษร้ายต่อชีวิตของคนหรือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ปกครอง 3. ทำให้คนดีมีความสามารถที่ไม่ใช่พวกพ้อง หรือผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ปกครองไม่มีโอกาสดำรงตำแหน่งสำคัญในทางการเมือง 4. ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกกดขี่และขาดสิทธิเสรีภาพ ย่อมจะไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่และอาจพยายามต่อต้านอยู่เงียบ ๆ หรือมิฉะนั้นบางคนก็อาจจะหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นพวกปัญญาชน ทำให้ประเทศชาติขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ 5. อาจนำประเทศชาติไปสู่ความพินาศได้ เหมือนดังฮิตเลอร์ได้นำประเทศเยอรมนี หรือพลเอกโตโจได้นำประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งผลปรากฏว่าทั้งสองประเทศประสบความพินาศอย่างย่อยยับ หรือตัวอย่างเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัค ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองประเทศคูเวต และไม่ยอมถอนตัวออกไปตามมติขององค์การสหประชาชาติ จนกองกำลังนานาชาติต้องเปิดฉากทำสงครามกับอิรักเพื่อปลดปล่อยคูเวต และผลสุดท้ายอิรักก็เป็นฝ่ายปราชัยอย่างย่อยยับ ทำให้ประชาชนชาวอิรักต้องประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิต การพัฒนาประเทศหยุดชะงัก ทั้งนี้เป็นเพราะการตัดสินใจผิดพลาดของผู้นำเพียงคนเดียว เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการต่างก็มีข้อดีและข้อเสียดังกล่าว จึงทำให้ชนชั้นนำและประชาชนจำนวนหนึ่งในประเทศต่างๆ เลือกใช้ระบอบการปกครองที่พวกตนคิดว่าเหมาะสมกับประเทศของตนในขณะนั้น และสามารถช่วยแก้ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศของตนตามแนวทางที่พวกตนเชื่อได้ ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา บางประเทศได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของตนจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เช่น เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน เป็นต้น ส่วนบางประเทศก็เปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยมาเป็นระบอบเผด็จการทหาร เช่น พม่า นิการากัว เอธิโอเปีย เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน บางประเทศก็เปลี่ยนจากระบอบเผด็จการฟาสซิสต์หรือเผด็จการทหารเป็นระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ เช่น เกาหลีเหนือ เป็นต้น การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สังคมทุกสังคมจะเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นได้ ย่อมต้องมีระเบียบวินัยและผู้นำของสังคมเป็นหลักในการปกครอง ผู้นำของสังคมระดับประเทศโดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่การใช้พระราชอำนาจด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ทรงมิได้ใช้พระราชอำนาจเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง แต่มีองค์การหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบต่าง ๆ กันไป พระราชอำนาจทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นฐานะประมุขของรัฐ หรือในฐานะอื่น ได้ถูกกำหนดไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ |