

ใบมอบฉันทะที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องติดอากร ใบมอบฉันทะที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องติดอากร โจทก์ทั้งสองแก้ฎีกาว่า ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนายยื่นคำร้องขอขยายเวลาฎีกา และยื่นฎีกาโดยมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ในใบมอบฉันทะ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายฎีกา และรับฎีกาจำเลยไว้จึงมิชอบ เห็นว่า ทนายจำเลยเป็นพนักงานอัยการเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ การที่ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนายยื่นคำร้องขอขยายเวลาฎีกา และยื่นฎีกาจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายฎีกาและรับฎีกาของจำเลยไว้จึงชอบแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13938/2555 ทนายจำเลยเป็นพนักงานอัยการเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ การที่ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนายยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 121 ป.รัษฎากร - มาตรา 121 ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล เจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ บุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐบาล องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย วัดวาอาราม และองค์การศาสนาใด ๆ ในราชอาณาจักรซึ่งเป็นนิติบุคคล อากรเป็นอันไม่ต้องเสีย แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้ใช้แก่องค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบการพาณิชย์ หรือการพาณิชย์ซึ่งองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,070,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท โจทก์ทั้งสองดำเนินคดีอย่างคนอนาถาจึงไม่กำหนดค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยชำระเงิน 1,730,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน เด็กหญิงกาญจนาหรือเดือน ผู้ตายเป็นบุตรคนแรก จ่าสิบตำรวจธานี เป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ในสังกัดของจำเลย ในวันและเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จ่าสิบตำรวจธานีขับรถดับเพลิงบรรจุน้ำ 10,000 ลิตร แล่นไปตามถนนสุนทรโกษา จากแยกคลองเตยมุ่งหน้าชุมชนคลองเตย อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อถึงห้าแยก ณ ระนอง ได้สัญญาณไฟแดง จึงหยุดรอในช่องเดินรถที่ 2 จากซ้าย ขณะนั้นเด็กหญิงอัญชนาหรือจิ๊บ ขับรถจักรยานยนต์โดยมีผู้ตายนั่งซ้อนท้ายแล่นไปหยุดรอสัญญาณไฟแดงอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 จากซ้าย เมื่อได้สัญญาณไฟเขียวจ่าสิบตำรวจธานีและเด็กหญิงอัญชนาต่างขับรถข้ามแยกเลี้ยวเยื้องไปทางซ้ายเพื่อมุ่งหน้าไปยังถนนอาจณรงค์ แต่เมื่อถึงกลางแยกรถทั้งสองเกิดเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ฟ้องเด็กหญิงอัญชนาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยกล่าวหาว่า ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นคำขอต่อจำเลยให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยอ้างว่า จ่าสิบตำรวจธานีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยพิจารณาคำขอแล้วมีความเห็นว่า เด็กหญิงอัญชนาประมาทแต่ฝ่ายเดียว จำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง มีปัญหาที่วินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า วันเกิดเหตุคือ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2545 ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เป็นระยะเวลาเกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะทราบว่ารถดับเพลิงเป็นของจำเลยและจ่าสิบตำรวจธานีเป็นผู้ขับรถก็ตาม แต่ในช่วงนั้นเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่า เด็กหญิงอัญชนาผู้ขับรถจักรยานยนต์เป็นฝ่ายผิด โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเด็กหญิงอัญชนาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจนกระทั่งศาลพิพากษายกฟ้องคดีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2545 มิใช่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2545 ฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องในข้อใดอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่โจทก์ทั้งสองแก้ฎีกาว่า ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนายยื่นคำร้องขอขยายเวลาฎีกาและยื่นฎีกาโดยมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ในใบมอบฉันทะ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายฎีกาและรับฎีกาจำเลยไว้จึงมิชอบ เห็นว่า ทนายจำเลยเป็นพนักงานอัยการเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ การที่ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนายยื่นคำร้องขอขยายเวลาฎีกาและยื่นฎีกาจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยขยายฎีกาและรับฎีกาของจำเลยไว้จึงชอบแล้ว พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,010,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ |