

ขาดคุณสมบัติรับราชการเรียกเงินเดือนคืนได้หรือไม่? ขาดคุณสมบัติรับราชการเรียกเงินเดือนคืนได้หรือไม่? จำเลยรับราชการเป็นพนักงานของโจทก์และโจทก์จ่ายเงินเดือนให้แก่จำเลยถือได้ว่าเป็นการให้เงินเดือนตอบแทนการทำงานเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ภายหลังพบว่าจำเลยเป็นผู้ไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นผู้สอบแข่งขันได้ เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติในการเข้ารับราชการเป็นเหตุให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นพนักงานของโจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับระหว่างรับราชการกับโจทก์ให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นผู้ไม่ปรากฏชื่อเป็นผู้สอบแข่งขันได้เพื่อบรรจุได้ตามประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้เพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้เป็นพนักงานส่วนตำบลขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหญ่ จำเลยจึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการกับโจทก์ตั้งแต่แรก การที่โจทก์จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่จำเลยก็สืบเนื่องจากหลงผิดในคุณสมบัติของจำเลย เมื่อโจทก์ทราบความจริงก็ได้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งทางแพ่งและอาญา ถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาใช้สิทธิยกเลิกนิติกรรมสัญญากับจำเลยแล้ว คู่กรณีจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยทำงานกับโจทก์โดยไม่สุจริตและโจทก์จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่จำเลยจึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จำเลยจึงต้องคืนเงินเต็มจำนวนแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 หาใช่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยแต่อย่างใดไม่ เห็นว่า การที่โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบลในตำแหน่งนักวิชาการศึกษา ระดับ 3 เป็นการแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 ประกอบมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกฎ ก.พ. ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2538) ข้อ 2 ประกอบมติคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ 8/2550 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2550 ไม่ได้มีความผูกพันกันตามกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมสัญญา จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการเลิกสัญญาและกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ตามที่โจทก์ฎีกาได้ คดีนี้ จำเลยเข้ารับราชการเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2550 และปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ตลอดมา การที่โจทก์จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลย ถือได้ว่าเป็นการให้เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานของจำเลยในฐานะที่เป็นพนักงานของโจทก์ ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้รับผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นพนักงานของโจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดนครนายกจะตรวจสอบพบว่าจำเลยเป็นผู้ไม่ปรากฏชื่อว่าเป็นผู้สอบแข่งขันได้ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ในการรับบุคคลเข้ารับราชการกับโจทก์ ต่อมาจำเลยได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ ซึ่งหากจำเลยยังไม่ลาออก การขาดคุณสมบัติดังกล่าวก็เป็นเพียงเหตุให้โจทก์เลิกจ้างหรือให้จำเลยพ้นจากราชการได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่น ที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นพนักงานของโจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับจึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น Section 406. Any person who, through an act of performance made by another person or in any other manner, obtains something to the prejudice of such other person without legal ground, must return it to the latter. The acknowledgment of the existence or non-existence of a debt is deemed to be an act of performance. The same provision shall apply if something has been obtained on account of a cause which has not been realized or of a ceased to exist. |