ลูกหนี้ค้างจ่ายสรรพากรโอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ การอายัดเงินลูกหนี้ค้างจ่ายสรรพากรที่ลูกหนี้โอนสิทธิเรียกร้องให้โจทก์แล้ว การอายัดเงินซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่โอนสิทธิไปให้ผู้อื่นแล้วกระทำได้หรือไม่? ห.จ.ก.ทองปากน้ำ ค้างชำระค่าภาษีอากร ได้ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินค่าจ้างให้โจทก์ ต่อมาสรรพากรมีคำสั่งอายัดเงินไปยังผู้ว่าจ้างให้ส่งเงินไปยังสรรพากร ศาลฎีกาเห็นว่าสรรพากรไม่มีสิทธิในการอายัดเงิน โจทก์ใช้สิทธิตามบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงินแล้วได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4858/2553 โจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างตามสัญญารับจ้างก่อสร้างซึ่งเป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ โดยระบุว่ามีการโอนสิทธิการรับเงินตามจำนวนที่ผู้โอนสิทธิจะได้รับตามสัญญาเป็นเงิน 28,000,000 บาท ซึ่งเป็นสัญญาแบบปรับราคาได้ ซึ่งหมายความว่าสัญญาดังกล่าวอาจมีการพิจารณาเงินเพิ่มหรือลดราคาค่างานจากราคาที่ผู้รับจ้างทำสัญญาตกลงกับผู้ว่าจ้างได้ เงินที่ได้เพิ่มหรือลดลงจากราคาค่างานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างของสัญญาจ้างที่กำหนดให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ แม้โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. จะไม่ได้กำหนดสิทธิเรียกร้องในเงินส่วนนี้ไว้อย่างชัดเจนในบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิฯ ก็ต้องถือว่าสิทธิในการรับเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างและผู้ประกอบอาชีพงานอื่นกับทางราชการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งถือเป็นเงินเพิ่มที่โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ประสงค์จะโอนให้แก่กันด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอายัดเงินซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ได้ โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ 1582/2542 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2542 และคำสั่งอายัดที่ (ส.ภ.1) 612/2542 (ที่ถูก 613/2542) วันที่ 5 เมษายน 2542 และคำสั่งอายัดที่ (ส.ภ.1) 898/2542 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2542 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,952,781 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอายัดของจำเลยที่ 1 ที่ (ส.ภ.1) 613/2542 วันที่ 5 เมษายน 2542 เฉพาะที่ระบุว่า “ตามสัญญาจ้างเลขที่ 23/2539 ลงวันที่ 30 กันยายน 2539 ก่อสร้างวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัยอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ในเงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) เป็นจำนวนเงิน 2,293,098.52 บาท” คำสั่งอายัดที่ (ส.ภ.1) 898/2542 วันที่ 1 มิถุนายน 2542 เฉพาะที่ระบุว่า “1. เงินค่าชดเชยค่างานก่อสร้าง (ค่าเค) ตามสัญญาจ้างเลขที่ 23/2539 ลงวันที่ 30 กันยายน 2539 จำนวนเงิน 2,293,098.52 บาท ทั้งจำนวน 2. เงินค่าปรับที่ห้างจะได้รับจากการขอคืนเงินค่าปรับในการรับจ้างก่อสร้างวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัยจังหวัดสุโขทัย ตามสัญญาจ้างเลขที่ 23/2539 ลงวันที่ 30 กันยายน 2539 จำนวนเงิน 672,000 บาท ทั้งจำนวน” คำสั่งอายัดที่ 1582/2542 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2542 ให้จำเลยที่ 1 ส่งคืนเงินตามจำนวนที่ระบุในคำสั่งทั้งหมดข้างต้นเฉพาะที่ถูกเพิกถอนแก่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 2,952,781 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษา (วันที่ 27 ธันวาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง ค่าธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ (ที่ถูกให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา พิพากษายืน และให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น จำนวน 445 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้ง จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 587 มาตรา 205 ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลงเพราะ พฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่ มาตรา 303 สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่ สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้ มาตรา 306 การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดย เฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการ โอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วย ในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำ เป็นหนังสือ มาตรา 368 สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทาง สุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อ ผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
|