

การกระทำโดยสำคัญผิด การกระทำโดยสำคัญผิด คำว่า "สำคัญผิด" หมายถึง เข้าใจผิด ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่ คำว่า "สำคัญผิด" หมายถึง เข้าใจผิด เช่น เข้าใจว่า นาย ก. เป็น นาย ข. เป็นต้น การสำคัญผิดในบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 นี้ ต่างไปจากเรื่องการกระทำโดยพลาด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 คือ การสำคัญผิดจะมีผู้เกี่ยวข้องในเรื่อง 2 คน คือ ผู้กระทำ และ ผู้ถูกกระทำ โดยผู้กระทำเข้าใจว่า ผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลที่ตนต้องการกระทำต่อ แต่การกระทำโดยพลาดจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องในเรื่อง 3 คน คือ ผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ และ ผู้ถูกกระทำโดยพลาด เช่น มือปืนต้องการฆ่านายแดง เห็นนายแดงเดินมาก็ยิงไปที่นายแดง กระสุนพลาดไปนายดำตาย เช่นนี้เป็นการกระทำโดยพลาด แต่ถ้ามือปืนซึ่งต้องการฆ่านายแดง เห็นนายดำเดินมา เข้าใจว่าเป็นนายแดง ก็ยิงไปถูกนายดำตาย เช่นนี้เป็นเรื่องการสำคัญผิดในบุคคล การสำคัญผิดในตัวบุคคลเป็นการเริ่มต้นโดยผู้กระทำมีเจตนาในการกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่กลับไปกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่ง เช่นนี้กฎหมายถือว่า ผู้กระทำ จะอ้างว่า ตนไม่ได้ตั้งใจกระทำต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายในการกระทำไม่ได้ เป็นบทกฎหมายปิดปากมิให้โต้แย้งเลยว่า ตนไม่มีเจตนาในการกระทำต่อผู้ได้รับผลร้าย เช่น 1. ใช้มีดฟันผู้ตายโดยสำคัญผิด คิดว่าเป็นผู้ที่วิวาทกับตนในระหว่างดื่มสุรามาก่อน เป็นเหตุสำคัญผิด จำเลยแก้ตัวว่าไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายไม่ได้ 2. ยิงคนตายในที่มืด โดยเข้าใจว่าเป็นนายเดชา แต่แท้ที่จริงผู้ตายเป็นบุตรของนายเดชา เป็นเหตุสำคัญผิด การสำคัญผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 นี้เป็นเรื่องสำคัญผิดในตัวบุคคล ซึ่งแม้จะกระทำต่อบุคคลใด ก็เป็นความผิดทั้งนั้น แต่การสำคัญผิดในการกระทำโดยประมาทไม่มี เพราะว่าการประมาทเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา การสำคัญผิดในลุคคลนี้ ต้องดูเจตนาแต่แรกว่า ผู้กระทำมีเจตนาเช่นใด เจตนานั้นก็จะไปตกแก่ผู้ถูกกระทำ เช่น จำเลยตั้งใจยิงนายแดง แต่เห็นนายดำเป็นนายแดง ก็ยิงนายดำ ทั้ง ๆ ที่จำเลยไม่รู้จักนายดำเลยก็ตาม เจตนาแต่แรกเป็นเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรอง ดังนั้นเจตนาที่เกิดแก่นายดำก็เป็นเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองเช่นกัน แต่ถ้าการสำคัญผิดนี้มีเจตนาฆ่าโดยเหตุจำเป็น เช่น จำเลยใช้ปืนบังคับให้นายแดงยิงนายดำ แต่จำเลยไม่รู้จักนายดำ เห็นนายเขียวเดินมา ก็เข้าใจว่าเป็นนายดำ จึงสั่งให้นายแดงยิงนายเขียวตาย เช่นนี้ นายแดงมีความผิดฆ่าคนตายโดยเหตุจำเป็น ซึ่งกฎหมายบัญญัติไม่เอาโทษ แต่จำเลยมีความผิดฆ่าคนตายโดยเป็นผู้ใช้ให้นายแดงกระทำผิด แม้จำเลยจะไม่มีเจตนาที่จะกระทำต่อนายเขียวก็ตาม จำเลยก็จะอ้างเหตุสำคัญผิดเพื่อให้หลุดพ้นจากการรับผิดตามกฎหมายไม่ได้ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเป็นผู้ใช้โดยสำคัญผิด เบิกความเท็จเพราะเข้าใจผิด ไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ในคดีก่อนจำเลยเบิกความว่าโจทก์เป็นผู้ลักทรัพย์ไป แต่ต่อมามีข้อเท็จจริงว่าจำเลยหลงลืมไว้ที่อื่นและได้ไปแจ้งความไว้เป็นเป็นหลักฐานว่าได้รับทรัพย์คืนแล้ว จำเลยขอโทษโจทก์ย่อมเป็นการที่จำเลยยอมรับว่าเข้าใจโจทก์ผิดไป แม้จำเลยมิได้ถอนคำร้องทุกข์ก็เพราะเป็นความผิดต่อแผ่นดินไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ได้ จึงถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ เจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่โดยสำคัญผิดไปกระทำกับอีกคนหนึ่ง ผู้เสียหายไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย สาเหตุที่จำเลยฟันทำร้ายผู้เสียหายเชื่อว่าเนื่องจากเป็นการเข้าใจผิดของจำเลยว่าผู้เสียหายเป็นนายเครือ ซึ่งมีเหตุวิวาทกันในระหว่างร่วมวงดื่มสุราก่อนนั้น แต่อจำเลยจะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ ต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาที่จะกระทำต่อนายเครือเช่นใด ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 487/2536 จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายโดยสำคัญผิดว่า ผู้เสียหายเป็นค. ซึ่งมีเหตุวิวาทกันมาก่อน จำเลยจึงถือเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นผิดหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อ ค. เช่นใดก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้น จำเลยมึนเมาสุราและโมโหจากเหตุการณ์ที่ถูก ค. ทำร้ายจึงหาไม้ดักทำร้าย ค. แต่พบมีดโต้เสียก่อน จึงหยิบฉวยเอาตามอารมณ์โกรธในขณะนั้นโดยมิได้ตระเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อพบผู้เสียหาย และ ค. ก็เงื้อมีดขึ้นฟันผู้เสียหายลงไปตรง ๆ มิได้เจาะจงตำแหน่งที่จะฟัน เป็นการฟันเพียงครั้งเดียว พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยมีเจตนาทำร้ายเท่านั้น หามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนไม่ ที่ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บง่ามมือซ้ายฉีกเกือบขาด อาจเป็นเพราะร่างกายส่วนนั้นไม่มีส่วนแข็งหรือกระดูกป้องกันคมมีดได้ จำเลยต้องรับผิดเพียงฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,288, 289 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) วางโทษจำคุก 4 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาประกอบกับจำเลยได้ใช้ค่าเสียหายบางส่วนอันเป็นการบรรเทาผลร้าย และจำเลยได้มอบตัวต่อเจ้าพนักงาน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 80, 52(1) ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาประกอบกับจำเลยได้ใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายบางส่วนเป็นการบรรเทาผลร้ายและจำเลยได้มอบตัวต่อเจ้าพนักงานมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78เมื่อเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามมาตรา 53คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 25 ปี จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงโดยรับว่าจำเลยใช้มีดอีโต้เป็นอาวุธฟันผู้เสียหายหนึ่งครั้งเพียงแต่เท้าความว่า จำเลยเคยให้การในชั้นสอบสวนว่าตั้งใจจะทำร้ายนายเครือ อ่อนจิ๋ว ซึ่งมีสาเหตุกันมาก่อนจึงพอจะอนุมานได้ว่า เหตุที่จำเลยฟันผู้เสียหายเป็นการทำร้ายโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นนายเครือ อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันต้องรับฟังเป็นยุติว่า มีดอีโต้ที่จำเลยใช้เป็นอาวุธฟันผู้เสียหายมีขนาดตามคำฟ้องกล่าวคือ ใบมีดกว้าง 2.5 นิ้ว ยาวตลอดด้าม 18 นิ้ว ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่โคนนิ้วหัวแม่มือซ้ายเกือบขาดเหลือหนังติดประมาณ 3 เซนติเมตร กระดูกโดนนิ้วหัวแม่มือซ้ายหัก ผู้เสียหายถูกทำร้ายขณะที่ลงจากบันไดเรือนของนายทวนอ่อนจิ๋ว ถึงพื้นดินแล้ว พร้อมกับนายเครือ โดยจำเลยกราดเข้ามาฟันตรงบริเวณศีรษะของผู้เสียหายในขณะนั้น แต่ผู้เสียหายยกมือซ้ายขึ้นรับจนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว ส่วนเหตุการณ์ก่อนที่มีการทำร้ายเกิดขึ้นได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายและจำเลยร่วมวงดื่มสุรากับนายทวน นายเครือและนายบำเพ็ญ ในระหว่างนั้นมีเหตุวิวาทชกต่อยกันระหว่างนายเครือกับจำเลย ทำให้จำเลยถูกนายเครือขึ้นเข่าจนทรุดลงกับพื้น ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า ผู้เสียหายไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยเหตุที่จำเลยฟันทำร้ายผู้เสียหายเชื่อว่าเนื่องจากเป็นการเข้าใจผิดของจำเลยว่าผู้เสียหายเป็นนายเครือ ซึ่งมีเหตุวิวาทกันในระหว่างร่วมวงดื่มสุราก่อนนั้น แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยจะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ ต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาที่จะกระทำต่อนายเครือเช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 ส่วนการกระทำของจำเลยนั้นพิจารณาแล้ว มีเหตุผลให้เชื่อว่า หลังจากวิวาทชกต่อยกับนายเครือ จำเลยย่อมจะคุมแค้นนายเครือผู้เป็นต้นเหตุทำร้ายขึ้นเข่าถูกบริเวณข้างลำตัวของจำเลยจนทรุดลงกับพื้น นอกจากนี้ในระหว่างร่วมวงสุรากัน นายเครือยังกีดกันมิให้จำเลยดื่มสุราและสูบบุหรี่อีกด้วย การกระทำของนายเครือคงจะสร้างความไม่พอใจให้แก่จำเลยมาก ดังจะเห็นได้จากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยว่า ขณะนั้นจำเลยมึนเมาสุราและโมโหนายเครือจึงคิดจะดักทำร้ายนายเครือ ได้หาไม้เพื่อตีทำร้าย แต่ไปพบมีดอีโต้ที่หลังบ้านเสียก่อน ดังนี้ จะเห็นว่า อาวุธที่จำเลยใช้ทำร้ายก็เป็นการหยิบฉวยเอาตามอารมณ์โกรธของจำเลยในขณะนั้น และเป็นมีดที่อยู่ในบ้านเรือนของนายทวน หาใช้อาวุธที่ตระเตรียมการมาล่วงหน้าไม่การดักทำร้ายก็ตรงเข้าไปฟันผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็นนายเครือในขณะที่ผู้เสียหายและนายเครือลงมาจากเรือนพร้อมกัน การเงื้อมีดขึ้นฟันผู้เสียหายมีลักษณะฟันลงไปตรง ๆ ที่ตัวผู้เสียหาย มิได้เลือกตำแหน่งร่างกายที่เจตนาเจาะจงทำร้ายว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายโดยเฉพาะ ทั้งการฟันทำร้ายก็ฟันเพียงครั้งเดียว ไม่ได้ซ้ำเติมอีก พฤติการณ์เหล่านี้เชื่อว่า จำเลยมีเจตนาเพียงที่จะทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น ที่ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บง่ามมือซ้ายฉีกเกือบขาด อาจเป็นเพราะร่างกายในส่วนนั้นไม่มีส่วนแข็งหรือกระดูกที่ป้องกันคมมีดได้ดี เมื่อคำนึงว่าสาเหตุที่เป็นมูลจูงใจให้จำเลยทำร้ายผู้เสียหายซึ่งจำเลยเข้าใจว่าเป็นนายเครือเป็นสาเหตุเล็กน้อยที่ปกติเกิดขึ้นเสมอในวงสุรา จึงเห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำเลยต้องรับผิดเพียงข้อหาทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสดังที่ศาลชั้นต้นปรับบทและลงโทษมาเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น" พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
|