.jpg)
เริ่มต้นคดีด้วยการใช้กฎหมายอิสลามแต่มีผู้คัดค้านนับถือศาสนาพุทธ
คดีนี้มูลคดีเกิดในเขตจังหวัดสตูลและผู้ร้องเป็นอิสลามศาสนิก เริ่มต้นคดีอย่างไม่มีข้อพิพาท ขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมามีการคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 มีผลทำให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นคู่ความ เมื่อผู้คัดค้านนับถือศาสนาพุทธ จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดสตูล ต้องใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บังคับแก่คดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2551
แม้คดีจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดสตูลและผู้ร้องเป็นอิสลามศาสนิก เริ่มต้นคดีอย่างไม่มีข้อพิพาท โดยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายทวี ผู้ตาย ซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกก็ตาม แต่เมื่อมีการคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีผลทำให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (4) โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นคู่ความ เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีฐานะเสมือนจำเลยนับถือศาสนาพุทธ จึงมิใช่อิสลามศาสนิก จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ.2489 ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดสตูล ต้องใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 บังคับแก่คดี
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่เคยรับคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไม่รับคำร้องคัดค้าน เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีส่วนได้เสียในประเด็นแห่งคดี และให้งดสืบพยานของผู้คัดค้านที่ 1 เนื่องจากคู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น โดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องและคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า นายทวีผู้ตายและผู้ร้องเป็นอิสลามศาสนิกและมีภูมิลำเนาในเขตจังหวัดสตูล ผู้คัดค้านที่ 1 เคยเป็นอิสลามศาสนิกและเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธก่อนที่นายทวีเจ้ามรดกทำพินัยกรรมแต่งตั้งให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของนายทวีผู้ตาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า คดีนี้ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีจะเกิดขึ้นในเขตจังหวัดสตูลและผู้ร้องซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกเริ่มต้นคดีอย่างไม่มีข้อพิพาท โดยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายทวีผู้ตายซึ่งเป็นอิสลามศาสนิกก็ตาม แต่เมื่อมีการคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ก็มีผลให้คดีกลายเป็นคดีมีข้อพิพาท ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 (4) โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านมีฐานะเป็นคู่ความ เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีฐานะเสมือนจำเลยมิใช่อิสลามศาสนิก จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489 ถือไม่ได้ว่าเป็นคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกของอิสลามศาสนิกในเขตจังหวัดสตูล ต้องใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 บังคับแก่คดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489
พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระยามานวราชเสวี ให้ไว้ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 เป็นปีที่ 1 ในรัชชกาลปัจจุบัน
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้ กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งเกี่ยวด้วยเรื่องครอบครัวและ มรดกอิสลามศาสนิกของศาลชั้นต้นในจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ซึ่งอิสลามศาสนิกเป็นทั้งโจทก์จำเลยหรือเป็นผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกบังคับแทนบทบัญญัติแห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการนั้น เว้นแต่บทบัญญัติว่าด้วยอายุความมรดก ทั้งนี้ไม่ว่ามูลคดีเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้พระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นตามความใน มาตรา 3 ให้ดะโต๊ะยุติธรรมหนึ่งนายนั่งพิจารณาพร้อมด้วยผู้พิพากษา
ให้ดะโต๊ะยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลาม และลงลายมือชื่อในคำพิพากษาที่พิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นด้วย
คำวินิจฉัยของดะโต๊ะยุติธรรมในข้อกฎหมายอิสลามให้เป็นอัน เด็ดขาดในคดีนั้น
มาตรา 5 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษามาใช้บังคับแก่การคัดค้านดะโต๊ะยุติธรรมโดย อนุโลม
เมื่อมีเหตุที่ดะโต๊ะยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ให้คู่ความตกลงกันเลือก อิสลามศาสนิกหนึ่งนายปฏิบัติหน้าที่แทนดะโต๊ะยุติธรรมเฉพาะคดี ถ้าตกลงกัน ไม่ได้ให้ต่างเสนอชื่ออิสลามศาสนิกที่สมควรต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฝ่ายละ เท่า ๆ กันแต่ไม่ให้เกินฝ่ายละสามนาย เมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเลือกผู้ใด จากรายชื่อที่คู่ความเสนอนั้น ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่แทนดะโต๊ะยุติธรรมเฉพาะ คดีนั้นได้
มาตรา 6 บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบถึงคดีที่ค้าง พิจารณาอยู่ในศาลในวันที่พระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่คดีนั้นเป็นคดีที่ค้างพิจารณา อยู่ในศาลชั้นต้น และคู่ความหรือผู้เสนอคำขอในคดีที่ไม่มีข้อพิพาทแล้วแต่กรณี ได้ร้องขอต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัตินี้บังคับ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลสั่งให้มีการเสนอคำฟ้องหรือ คำขอใหม่และให้ดำเนินการพิจารณาต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการพลเรือตรี ถ. ธำรงนาวาสวัสดิ์นายกรัฐมนตรี
ป.วิ.พ.
มาตรา 188 ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้
(1) ให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาล
(2) ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม
(3) ทางแก้แห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้ใช้ได้แต่โดยวิธียื่นอุทธรณ์หรือฎีกาเท่านั้น และให้อุทธรณ์ฎีกาได้แต่เฉพาะในสองกรณีต่อไปนี้
(ก) ถ้าศาลได้ยกคำร้องขอของคู่ความฝ่ายที่เริ่มคดีเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือ
(ข) ในเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาหรือพิพากษาหรือคำสั่ง
(4) ถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องคดีอันไม่มีข้อพิพาทได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความ และให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคดีอันมีข้อพิพาท แต่ในคดีที่ยื่นคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้คำอนุญาตที่ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ปฏิเสธเสียหรือให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถอนคืนคำอนุญาตอันได้ให้ไว้แก่ผู้ไร้ความสามารถนั้น ให้ถือว่าเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท แม้ถึงว่าผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้ไร้ความสามารถนั้นจะได้มาศาล และแสดงข้อคัดค้านในการให้คำอนุญาต หรือถอนคืนคำอนุญาตเช่นว่านั้น